ก่อนผ่าตัด อย่าลืมนึกถึง “ขิง”

จากคอลัมน์ พืชใกล้ตัว โดย ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ในอภัยภูเบศรสาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 136 ประจำเดือนตุลาคม 2557 ระบุถึงคุณประโยชน์ของ “ขิง”

ระบุว่า ขึ้นหัวข้อแบบนี้ ท่านผู้อ่านก็อย่าได้ตกใจไป กระผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกท่านมาก เนื่องจากการรักษาอาการเจ็บป่วยในปัจจุบัน นอกจากการช้าในการรักษาโรคแล้ว ก็คือการทำหัตถการ หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าการ “ผ่าตัด” เป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาโรคบางโรค เช่น เนื้องอกบริเวณต่างๆ ไส้ติ่งอักเสบ หรือเป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมความงาม เป็นต้น

หลังจากการผ่าตัดแล้ว ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ภาวะคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ชนิดของการผ่าตัด ระยะเวลาผ่าตัด วิธีการระงับความรู้สึก เพศ วัย น้ำหนักตัว ระยะเวลาที่งดน้ำอาหาร ประวัติคลื่นไส้อาเจียน หรือเมารถเมาเรือ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกทุกข์ทรมาน จนถึงอาจเกิดอันตรายได้ เช่น เกิดการแยกของแผลผ่าตัด การสำลักน้ำย่อยอาหารเข้าปอด การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แพทย์มีการใช้ยาในการป้องกันภาวะคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัด โดยอาจพบผลแทรกซ้อน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม หรือผลข้างเคียงทางระบบประสาท แต่อย่างไรก็ตาม ขิงซึ่งเป็นสมุนไพรไทยก็เป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันภาวะคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัด เนื่องจากขิงเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายและราคาถูก นอกจากนี้ ยังเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง คนไทยใช้ขิงกันเป็นประจำเพื่อประกอบอาหาร ไม่ว่าจะสดหรือแห้ง ในทางพื้นบ้าน ขิงยังเป็นส่วนประกอบตำรับยาต่างๆ

องค์ประกอบทางเคมีของขิง มีผลด้าน Serotonin ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงที่ระบบทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ ขิงมีสารสำคัญ คือ 6-gingerol ซึ่งออกฤทธิ์ป้องกันภาวะคลื่นไส้อาเจียนและทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ข้อมูลด้านงานวิจัยทางคลินิกโดย ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ ได้ทำการศึกษาแบบ meta-analysis (เป็นงานวิจัยที่นำข้อมูลจากงานวิจัยหลายๆ เรื่องมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล) เกี่ยวกับขิง ซึ่งใช้สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากการผ่าตัด พบว่ามีงานวิจัยทางคลินิกจำนวน 5 งานวิจัยทำในผู้ป่วย 363 คน ผลการศึกษาคือ ขิงสามารถป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังจากการผ่าตัดได้ 35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยาหลอด (placebo) และป้องกันการอาเจียนได้ 39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขิงในขนาด 1 กรัมหรือสูงกว่า สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดการคลื่นไส้และอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แต่ก็มีงานวิจัยทางคลินิกบางเรื่องที่บอกว่า ขิงไม่สามารถป้องกันการอาเจียนได้ ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปริมาณสารออกฤทธิ์ที่สำคัญของขิง คือ 6-gingerol ที่แตกต่างกันในการผลิตขิงแคปซูลแต่ละแห่ง

โดยสรุปแล้ว หากต้องการผลทางยาในการป้องกันภาวะคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัด ควรจะรับประทานขิงในขนาด 1 กรัม (แห้ง) ขึ้นไป จะสามารถลดการเกิดภาวะคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดได้ แต่หากท่านผู้อ่านไม่มีเวลาตากแห้ง ก็สามารถรับประทานเป็นแบบสดได้เช่นเดียวกัน แต่คงจะต้องรับประทานมากพอสมควร

น้ำขิง

ชื่อของขิง จะเรียกแตกต่างไปในบางพื้นที่ จันทบุรี เรียก ขิงแกลง ขิงแต เชียงใหม่ เรียก ขิงเผือก แม่ฮ่องสอน เรียน สะเอ ลักษณะของขิง เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองแกมเขียว ผล เป็นผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เป็น 3 พู เมล็ดหลายเมล็ด

ส่วนประกอบที่ใช้ในการรับประทานสามารถใช้ได้ทั้ง เหง้าแก่สด ต้น ใบ ดอก และผล ขิงมีฤทธิ์ที่ร้อน จึงช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งเหมาะกับหน้าหนาวเป็นอย่างมาก

ส่วนผสมและวิธีทำน้ำขิง ง่ายนิดเดียว

ขิงแก่หั่น 2 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง น้ำเปล่า 8 ถ้วยตวง นำขิงแก่ที่ซื้อมาปอกเปลือกออก แล้วล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้น แล้วทุบพอแหลก ตั้งน้ำบนเตา รอให้น้ำเดือด เอาขิงใส่ลงไปต้มแล้วรอน้ำเดือดอีกครั้ง ประมาณ 10-15 นาที กรองเอากากออกจะได้น้ำขิงสด เติมน้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลละลาย โดยไม่ต้องตั้งไฟอีก เพราะการต้มน้ำขิงนานเกินไป จะทำให้กลิ่นของน้ำขิงไม่หอม เสร็จแล้วจะได้น้ำขิงที่มีสีเหลืองอ่อนๆ เวลาดื่มเข้าไปจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย รสชาติหอมหวานและชุ่มคอ ทำง่าย วัตถุดิบสบายกระเป๋า

เผยแพร่ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563