วช. โชว์นวัตกรรมงานวิจัย กลุ่มเกษตรสร้างมูลค่า

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” เป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทย ในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในปีนี้ วช. ได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ระหว่าง วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ พัฒนาก้าวไกล นวัตกรรมไทยยั่งยืน” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนของประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี  (พ.ศ. 2560-2579)

การจัดงานวันนักประดิษฐ์ในปีนี้ มีนักวิจัย นักประดิษฐ์ เยาวชนรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจจำนวนมาก เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ภายในงาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งประดิษฐ์จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ สิ่งประดิษฐ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการจัดการมลพิษ เป็นต้น

เครื่องล้างรังนกนางแอ่นด้วยระบบสั่นของน้ำ

Advertisement

นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นผลงานของทีมนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูล ประกอบด้วย นายธนโชติ สุวรรณกิจ นางสาววรรณี เขียวหวาน นายภูธเนศ อักษรกูล และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายปิยะพงค์ ชัยยะวิริยะ โทร. 081-969-9399 และ นางสาวกรรณิกา ทองดี โทร. 083-692-4665

Advertisement

เครื่องล้างรังนกนางแอ่น ทำงานด้วยระบบสั่นของน้ำ ตัวอุปกรณ์ผลิตจากโครงเหล็กจับยึดด้วยลำโพง เส้นผ่านศูนย์กลาง ขนาด 15 นิ้ว ใช้ลำโพงของ ซัฟวูฟเฟอร์ 2,000 W 8 โอห์ม และใช้วงจรกำเนิดความถี่ Arduino กำเนิดสัญญาณให้ลำโพงสั่น ซึ่งมีกะละมังสแตนเลสอยู่ด้านบน และใส่น้ำเพื่อใช้ในการทำความสะอาดรังนกนางแอ่น เมื่อเปิดเครื่องระบบน้ำจะกระเพื่อม ช่วยในการทำความสะอาดรังนก เช่น ฝุ่น ตะกอน ขน ฯลฯ โดยจะมีช่องด้านในเมื่อน้ำกระเพื่อมจะทำให้สิ่งสกปรกไหลลงเป็นการแยกสิ่งสกปรกให้ออกจากรังนก

ผลงานชิ้นนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่น สามารถล้างรังนกนางแอ่นได้สะดวก รวดเร็ว ได้ปริมาณมากขึ้นกว่าเครื่องทำความสะอาดรังนกด้วยลำโพง โดยสามารถล้างรังนกนางแอ่นได้ ประมาณ 50 รัง ต่อครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที อำนวยความสะดวกในการล้างรังนกนางแอ่น พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เช่น ลดการใช้สายตา รวมทั้งประหยัดแรงงาน ลดการใช้แรงงานคน

นวัตกรรมเพื่อการส่งออกทุเรียน

เป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ และคณะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบ่งเป็น 2 ผลงาน ได้แก่

  1. 1. การชะลอการสุกและลดการแตกของทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีการเคลือบผลเพื่อการส่งออก
  2. 2. สมาร์ทเทคโนโลยีการส่งออกทุเรียนสุกแก่ไปทั่วโลก

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาวิธีชะลอการสุกและลดการแตกของทุเรียนแก่จัดด้วยเทคโนโลยีการเคลือบผลทุเรียน และผลไม้ด้วยเส้นใยที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้าง เพื่อให้สามารถยึดเกาะผิวผล ชะลอการสุกและแตกของผลทุเรียน ดูดซับสารเอทีลีน (ethylene) และดูดซับกลิ่นพวก S-Thiol derivative ที่ทำปฏิกิริยากับสารพลาสติกทั่วไป และ PVC ที่มี Phthalate Derivative, di-2-ethylhexyl phthalate (DEHP), diisooctyl phthalate (DIOP) และ di-butyl phthalate (DBP) เป็นต้น ช่วยชะลอการสุกของผลทุเรียนได้ประมาณ 25 วัน ลดกลิ่นเหม็นของทุเรียนลงได้กว่าร้อยละ 90 เมื่อทุเรียนสุกที่ปลายทาง ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ ไปพร้อมกับกระบวนการ Postharvest Handling ดั้งเดิมของผู้ประกอบการส่งออก สามารถส่งออกทุเรียนทางเรือ ทางรถยนต์ และทางเครื่องบินได้ตามปกติ

 

ส่วนนวัตกรรมสมาร์ทเทคโนโลยีการส่งออกทุเรียนสุกแก่ไปทั่วทุกมุมโลกนั้น เป็นการใช้สมาร์ทเทคโนโลยีมาช่วยการจัดระบบตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตทุเรียนให้ได้มาตรฐาน GAP โดยมีเป้าหมายเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ระยะแก่จัด ส่วนการจัดการกลางน้ำ ใช้ active packaging การลดกระบวนการสุก การสร้างกลิ่น S-Thiol derivative ของเนื้อทุเรียน ในกระบวนการสุกด้วย Deep technology ที่ปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้ สามารถขนส่งสินค้าทั้งทางรถยนต์และทางเรือได้ 45 วัน หรือเครื่องบิน นวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้ซื้อในต่างประเทศมีโอกาสกินทุเรียนหมอนทองผลสุกที่มีรสชาติกรอบนอกนุ่มใน (เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศไทย) ได้ภายใน 15 วันหลังจากผลสุกแล้ว

มาสเตอร์แบช พลาสติกไล่มดและแมลง

ปัญหามดและแมลงกวนใจ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเรือนที่พักอาศัย หรือแม้แต่พืชผลทางการเกษตแต่ รองศาสตราจารย์ ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนานวัตกรรมสำหรับป้องกันและกำจัดมดหรือแมลง ที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์พลาสติกมาสเตอร์แบช โดยนำคุณสมบัติพิเศษของนาโนเทคโนโลยี ผนวกกับคุณสมบัติในการไล่มดและแมลงของสารสังเคราะห์จำพวกไพรีทรอยด์ ที่มีการเลียนแบบสารสกัดธรรมชาติจากดอกเบญจมาศ ในกลุ่มของไพรีทริน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการไล่มดและแมลงผ่านการวิจัย และพัฒนาโดยศูนย์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยีและไบโอพลาสติก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำให้ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัล Special Prize จาก King Abdulaziz University ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

 

ภาชนะโฟมย่อยสลายได้ จาก “กล้วย”

ผลงานของ นางสาวนิรัชพร จงหาญสิทโธ และคณะ แห่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ได้คิดค้นภาชนะโฟมย่อยสลายได้จากกล้วย โดยนำแป้งสาลี เส้นใยสับปะรด และน้ำยางพารา มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาชนะโฟมย่อยสลายได้ พบว่า การผสมแป้งจากกล้วย แป้งสาลี เส้นใยสับปะรดและน้ำ ในอัตราส่วน 2 : 2 : 1 : 5 ให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการผลิตภาชนะโฟมย่อยสลายได้ โดยทางคณะผู้จัดทำได้ผสมน้ำยางพาราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาชนะโฟมย่อยสลายได้ให้มากยิ่งขึ้น

การผลิตซองใส่ยา จากองค์ประกอบ ของ “ต้นกล้วย”

ผลงานของ นางสาวมีนา อุเหล่า และคณะ แห่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ได้พัฒนาซองใส่ยาที่ผลิตจากเซลลูโลส ซึ่งได้จากการสกัดเซลลูโลสจากก้านกล้วยและเคลือบด้วยสารสกัดเมลานินจากเปลือกกล้วย สามารถใช้ทดแทนซองใส่ยาที่ทำจากพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และสามารถป้องกันความชื้นได้อีกด้วย นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกที่เป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้เกิดอาชีพใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

รับเบอร์บอร์ด วัสดุทดแทนแผ่นไม้ จากเปลือกลูกยางพารา

เป็นผลงานของ นางสาวสุดารัตน์ สกุลศรี และคณะ แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ที่คิดค้น “Rubber Board” วัสดุทดแทนไม้ ผลิตจากเปลือกลูกยางพาราผสมผสานใบยาง สารสกัดจากใบพลู น้ำยางและกาวจากยางพารา ซึ่งปราศจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อน ความชื้นและเชื้อรา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการตกแต่งภายใน ไม่ว่าจะเป็น พื้น แผ่นฝ้า เพดาน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อีกมากมาย แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกลูกยางพาราและน้ำยางพาราที่มีราคาต่ำ

ผลิตภัณฑ์เม็ดบีดส์กะเพรา

ผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรวัลภ์ อุปถัมภานนท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นวัตกรรมเม็ดบีดส์กะเพรา เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารโมเลกุล ที่ผลิตโดยเทคนิครีเวิร์สสเฟียริฟิเคชั่นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร หรือใช้เพื่อการตกแต่งจานอาหาร ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยช่วยเพิ่มรสชาติ และความแปลกใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดวัตถุดิบ ตกแต่งอาหารที่กำลังขยายตัวสูง และเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับใบกะเพรา มีสรรพคุณสำคัญคือ ช่วยในการย่อยอาหาร ขับลม จุกเสียด และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะมีทั้งวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และธาตุเหล็ก

ผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมคอมโพสิทจากฟางข้าว

ผลงาน นางสาวพิชญา เชยกระรินทร์ และคณะ แห่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ที่เล็งเห็นว่า ช่วงหลังฤดูการเกี่ยวข้าว ชาวนามักเลือกวิธีการกำจัดฟางข้าวจำนวนมากที่เหลือจากการเพาะปลูกด้วยวิธีการเผา ส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ทั้งสุขภาพมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งสร้างผลกระทบด้านคมนาคม และเศรษฐกิจ เนื่องจากฟางข้าวเป็นพืชที่มีเส้นใยที่แข็งแรง คุณสมบัติเมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบา และมีเส้นใยที่แข็งแรงมาก

ทีมนักวิจัยจึงได้ศึกษาคุณสมบัติของแผ่นยิปซัมและฟางข้าว ที่ทำให้แผ่นยิปซัมคอมโพสิทจากฟางข้าวมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีที่สุด