วิสาหกิจชุมชนแซตอมออร์แกนิคฟาร์มสุรินทร์ เน้นปลูกข้าวอินทรีย์ และแปรรูป สร้างรายได้

มะลิสุรินทร์ เป็นคำที่ผู้คนเอ่ยถึงอยู่เป็นประจำ อาจจะเป็นคำสั้นๆ แต่มีความหมาย มีคุณค่าต่อการค้นหาเป็นอย่างยิ่ง และมีหลายครั้งที่มะลิสุรินทร์สามารถคว้ารางวัลระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับโลกมาแล้ว

พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมากที่สุด คือ บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ในท้องที่อำเภอท่าตูม รัตนบุรี เชื่อมไปยังอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแต่ละปีทางการจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวจัดงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชม อีกอย่างก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ดได้ตระหนักและได้เกิดความภาคภูมิใจต่อมรดกทางพันธุกรรมที่สร้างชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เรื่องราวของข้าวหอมมะลิสุรินทร์มีการเล่าขานสืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จนมีผู้สืบทอดมรดกดังกล่าวมากมาย

คุณสุราณี พงศ์ชัยสิริกุล สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแซตอมออร์แกนิคฟาร์มสุรินทร์ หมู่ที่ 1 หมู่บ้านเมืองลีง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ โทร. 061-165-1848 และ 089-474-0199 เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ด้วยการนำแนวเกษตรอินทรีย์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งกลุ่ม โดยเนรมิตเนื้อที่กว่า 30 ไร่ เพื่อให้เป็นระบบเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์แบบ มีการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ การใช้ปุ๋ยหมัก เพื่อการเพาะปลูกและการบำรุงดิน มีการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เช่น การไถฝังกลบเพื่อให้เกิดจุลินทรีย์มีชีวิตในดิน เมื่อไถกลบแล้วเกิดการบำรุงดินตามธรรมชาติ บริเวณพื้นที่เกษตรมีคูน้ำขนาดใหญ่เพื่อการหล่อเลี้ยงพืชพรรณได้ตลอดฤดูกาลบนคันดิน ปลูกกล้วยบนคันนา มีการปลูกพริก ตะไคร้ ปลูกผัก เพื่อใช้ในการบริโภค เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกไปในตัว ที่เหลือก็นำไปแบ่งปันและจำหน่ายตามโอกาส ซึ่งเมื่อมองดูจากบรรยากาศหรือภาพรวมของสถานที่แห่งนี้แล้ว ก็เหมือนกับได้ย้อนกลับไปอยู่กับอดีต เมื่อ 40-50 ปีก่อน

คุณสุราณี กล่าวว่า หอมมะลิที่นี่มีที่มาที่ไปไม่เหมือนที่อื่น คือเป็นข้าวออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ ที่เราปลูกจะมีข้าวพันธุ์ข้าวมะลินิลสุรินทร์ ตระกูลหอมมะลิ แต่เป็นพันธุ์ดำ ข้าวมะลิโกเมน ตระกูลหอมมะลิ แต่สีแดง สีเหมือนทับทิมโกเมน แล้วก็ข้าวผกาอำปึล หรือที่เรียกว่า ข้าวมะขาม จะหนึบๆ

เนื่องจากข้าวนี้ขึ้นอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เลยใช้ชื่อเป็นภาษาเขมร โดย 3 พันธุ์นี้ ขายที่สุรินทร์เท่านั้น นอกถิ่นไม่มีขาย จุดเด่นของข้าวชนิดนี้แต่ละตัวจะให้คุณค่าอาหารไม่เหมือนกัน โดยความโดดเด่นของมะลินิลสุรินทร์เป็นข้าวที่ชนะเลิศการโหวตในเทศกาลข้าวไทย ปี 2560 ว่าเป็นข้าวที่มีรสชาติยอดเยี่ยมและมีกลิ่นหอม หลังจากที่เขาเอาร้านข้าวทุกที่ในประเทศไทยมาหุง แล้วให้คนที่มาชิม ชอบตัวไหน ก็โหวตให้ตัวนั้น โดยไม่ได้บอกว่าเป็นข้าวอะไร ซึ่งก็ปรากฏว่าข้าวตัวนี้ได้ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นข้าวที่หอมมาก บางคนกินไปแล้วนึกว่าเป็นข้าวก่ำ ข้าวเหนียวดำ แต่มันคือ ข้าวเจ้า เธอเปิดฉากถึงกลุ่มด้วยความภาคภูมิใจเป็นการนำร่อง

สมาชิกมี 7 คน ส่วนใหญ่ทำออร์แกนิคทุกคน มีรายได้ทั้งจากการผลิต การเป็นแม่ครัว พ่อครัว การเป็นมัคคุเทศก์ ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยผลผลิตที่ได้มาคือ ข้าว จะต้องแพ็กทันที เพื่อป้องกันมอด เป็นไปตามมาตรฐาน และการผลิตออร์แกนิคไทยแลนด์ นอกจากมีผลผลิตข้าวออร์แกนิคแล้ว ทางกลุ่มยังมีการแปรรูปไวน์จากข้าวหอมมะลิด้วย คือ จุติ และ กล่อมทุ่ง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มอีกทางหนึ่ง