ไอเดียบรรเจิด นวัตกรรม “เตาเผาไม้” ให้กลายเป็นถ่านดำๆ ที่ไม่ธรรมดา ของโรงเรียนบึงมะลูวิทยา ศรีสะเกษ

ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์รู้จักการใช้เชื้อเพลิง จากกิ่งไม้ จากท่อนไม้ และใบไม้ที่ถูกเผาจนกลายเป็นถ่านก้อนดำๆ แต่ยังไม่รู้จักที่จะนำถ่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กว้างขวางมากมายเหมือนอย่างเช่นปัจจุบันนี้
เช่นเดียวกับกรรมวิธีในการเผาถ่านไม้ ก็ต้องมีวิวัฒนาการคิดค้นการสร้างเตาเผาถ่านไม้ หลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ได้ถ่านที่มีคุณภาพ

น้องจีด้า ทิพธารา บัวปลี กับก้อนถ่านดำๆ ที่ไม่ธรรมดา

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนโรงเรียนบึงมะลูวิทยา เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ระดับชั้น ม.1-ม.6 ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยการนำพาของ ครูไกรสอน ดัดถุยาวัฒน์ และได้เข้าไปทำความรู้จักกับ ผอ.สุพล สุวรรณจู ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงมะลูวิทยา เป็นจังหวะพอดีที่โรงเรียนแห่งนี้มีกิจกรรมกำลังจะสร้างเตาเผาถ่านเป็นฐานเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนพอดิบพอดี
ส่วนการสร้างเตาเผาถ่านไม้ที่ว่านี้ เป็นการคิดค้นทดลองร่วมกันระหว่าง “ครูเกษตร” ครูจีรพงษ์ ยงเพชร และ ลุงอุดม ประมูล นักการภารโรงช่างครุภัณฑ์ 4 ของโรงเรียนในการสร้างเตาเผาถ่านด้วยวิธีง่ายๆ แต่ได้ถ่านเกิดคาด 100%

เริ่มการสร้างเตา เสาปูนวางเป็นฐานรองพื้น กับวงบ่อซีเมนต์ที่เหลือใช้จากงาน

นี่แหละครับที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ กว่าจะได้สิ่งประดิษฐ์อย่างใดอย่างหนึ่งต้องผ่านกระบวนการคิดค้นและทดลอง จากเตาเล็กๆ มาเป็นโมเดลเตาเผาถ่านขนาดใหญ่ๆ
เมื่อฟังคำอธิบายถึงรูปแบบการสร้างเตาเผาถ่านก็ให้นึกภาพเหมือนกับบ้านน็อกดาวน์ อย่างที่ ครูเกษตร จีรพงษ์ ยงเพชร เล่าว่า ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ส่วนผู้อ่านท่านใดจะทำตามแบบเตาเผาถ่านในพื้นที่บ้านของตัวเองก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์

ท่อเหล็กเชื่อมต่อสำหรับดูดอากาศปล่องควันเพื่อการเผาไหม้

ครูจีรพงษ์ หรือ “ครูต้น” ที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันให้ข้อมูลว่า เตาของที่นี่ใช้วัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้างในโรงเรียน อาทิ เสาปูน เสารั้วโรงเรียนที่รื้อถอนหักโค่น ก็เอามาเรียงเป็นฐานรองก้นหลุม ห่างกันพอประมาณให้มีช่องว่าง ช่องไฟ แล้วนำวงบ่อปูนซีเมนต์ หรือวงบ่อส้วมที่ไม่ได้ใช้มาวางซ้อนกัน 2 วง ขนาดกว้าง 1×1 เมตร (ก็จะได้ความสูงเป็นแนวตั้งเหมือนถัง 200 ลิตร)
ด้านนักการภารโรงผู้เชี่ยวชาญงานช่างอย่าง ลุงอุดม ประมูล ก็นำเหล็กหุนขนาดเท่านิ้วก้อยที่เหลือใช้มาเชื่อมสานเป็นตะแกรงให้พอดีกับวงบ่อวางเป็นตะแกรงรองก้นเตาอีกที สิ่งประดิษฐ์ชิ้นต่อมาคือท่อเหล็ก 2 ท่อ ขนาดใหญ่ประมาณท่อไอเสียรถยนต์ตัดเฉียงๆ ตรงปลาย แล้วฝังแนบชิดกับวงซีเมนต์ให้ปลายถึงก้นหลุม หันด้านที่ตัดเฉียงเข้าด้านในเพื่อการดูดอากาศ แล้วเชื่อมต่อท่อเหล็กให้ยาวๆ ต่อเฉียง 45 องศาแล้วเจาะรูตรงกลางท่อเพื่อดักน้ำส้มควันไม้ที่จะไหลหยดออกมา ส่วนอีกท่อปล่อยตรงเป็นปล่องระบายควันเพื่อการเผาไหม้

นำเหล็กแผ่นเรียบมาเป็นผนังล้อมวงบ่อซีเมนต์ โดยเว้นช่องว่างสำหรับใส่ดินเพื่อควบคุมความร้อน

ยังๆ ยังไม่หมดเท่านี้ แผ่นเรียบที่เหลือใช้จากงานก่อสร้างก็เอามาตั้งเป็นผนัง ล้อมวงบ่อซีเมนต์ชั้นนอก เว้นระยะห่างระหว่างวงบ่อปูนซีเมนต์ประมาณ 20 เซนติเมตร ก็จะมีช่องว่างตรงกลางระหว่างวงซีเมนต์ กับแผ่นเรียบ ให้นำดินร่วนมาใส่อัดลงไปให้เต็มตรงช่องว่างเพื่อเป็นแนวกั้นดูดซับความร้อน ซึ่งจะมีผลต่อการเผาและการอบถ่านไม้ให้ได้คุณภาพสูง

รูปแบบแนวคิดในการสร้างเตาเผาถ่านเป็นการดัดแปลงผสมผสานกันระหว่างเตาเผาถ่านดินกลบธรรมดาๆ โดยไม่ต้องใช้ดินปั้นเป็นเตาทั่วๆ ไป ส่วนด้านบนที่เปิดโล่งก็หาเหล็กแผ่นเรียบตัดมุมเหลี่ยมให้เป็นวงกลมขนาดใหญ่พอใช้ทำเป็นฝาเปิดปิดเตา

เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ช่วยกันนำดินมาใส่ตรงช่องว่างและอัดแน่นระหว่างแผ่นเรียบกับวงซีเมนต์

เมื่อวัสดุต่างๆ ประกอบกันครบถ้วน อาทิ เสาปูน วงบ่อซีเมนต์ เหล็กแผ่นเรียบ ท่อเหล็ก เหล็กตะแกรง จนเป็นเตาเผาถ่านไม้ ในรูปแบบแนวคิดของครูโรงเรียนบึงมะลูวิทยา ก็มาถึงขั้นตอนการนำไม้มาเข้าเตาเผาถ่าน

ครูต้น บอกว่า ไม้ที่จะนำมาเผาถ่านก็เป็นเศษกิ่งไม้ที่หักโค่น หรือต้นไม้ที่รอทำการตัดแต่งกิ่งซึ่งมีมากมายในโรงเรียน ตัดได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นไม้กระถินณรงค์ หรือไม้อื่นๆ แทนที่จะเอาไปเผาทิ้งเป็นมลพิษ หรือจะขนย้ายไปทิ้งนอกโรงเรียนให้ยุ่งยาก

ปิดฝาเตาด้านบนเมื่อใส่ไม้จนเต็มและนำดินมากลบ หลังจากจุดไฟเตาเพื่อการเผาไหม้

เมื่อแนวคิดตกผลึกจึงเกิดเป็นนวัตกรรมเตาเผาถ่าน ได้ประโยชน์จากถ่านดำ เพื่อนำไปหุงต้ม ปิ้ง ย่าง ภายในโรงอาหารของโรงเรียนหรือบ้านพักครู ขณะที่น้ำส้มควันไม้ที่กลั่นมาได้ก็นำไปใช้ในแปลงเกษตรให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ถึงเวลาตัดไม้ เสียงเลื่อยโซ่ยนต์ดังครางเหมือนเครื่องตัดหญ้า ไม่นานก็ได้ท่อนไม้ขนาดพอเหมาะ พอดีที่จะยกเข้าไปวางเรียงในเตาวงซีเมนต์ จะวางเรียงเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ไม่ผิดกติกา แต่อย่าให้มีช่องว่างระหว่างไม้มากนักเพราะจะมีผลต่อกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่ต่อเนื่องสมบูรณ์

ครูเกษตร จีรพงษ์ ยงเพชร กับน้ำส้มควันไม้ที่รองได้จากท่อเหล็กที่เจาะไว้

เมื่อเรียงไม้จนเต็มเตา ก็มาถึงขั้นตอนในการเผา ซึ่งครูต้นได้ขุดหลุมที่ก้นเตาใต้ตะแกรงเหล็กสำหรับจุดฟืนในการเผาไม้ เมื่อไฟติดอากาศก็จะดูดความร้อนจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนระบายออกไปตามช่องอากาศ หรือปล่องควัน ทฤษฎีเดียวกับภูเขาไฟระเบิดเมื่อเกิดความร้อน เปลวไฟก็จะหาทางออกตามปล่องด้านบน

ช่วงแรกของการจุดไฟเตาควรเปิดฝาเตาด้านบนแง้มๆ เพื่อให้มีช่องระบายอากาศไฟก็จะติดเร็วขึ้น เมื่อไฟติดดีแล้วก็เลื่อนฝาแผ่นเรียบปิดเตาด้านบนให้สนิท จากนั้นใช้ดินกลบตรงขอบฝาเตาอีกชั้นเพื่อการันตีว่าจะไม่มีช่องอากาศให้ไฟปะทุเล็ดรอดไปทุกทิศทุกทาง เมื่อฝาเตาด้านบนปิดสนิทเสมือนเป็นการบังคับให้อากาศความร้อนดันออกทางเดียวคือปล่องควันท่อเหล็ก

ในขณะเดียวกัน เมื่อไฟติดดีแล้วตรงปล่องจุดไฟใต้เตาที่กว้างๆ ก็ปิดช่องให้เหลือเพียงอากาศเข้าเล็กน้อยประมาณ 2 นิ้ว ช่วงระหว่างนี้ให้สังเกตควันจากการเผาแรกๆ จะมีลักษณะควันสีเขียวคละคลุ้งเต็มไปหมด จนเข้าสู่วันที่สองควันก็จะเริ่มลดน้อย กระทั่งเข้าสู่วันที่สามควันก็จะเริ่มจางเหลือตกค้างเพียงเล็กน้อย ก็ให้ถือว่ากระบวนการเผาไหม้ การอบไม้จนเป็นถ่าน ก็จะสมบูรณ์ 100%

เมื่อกระบวนการเผาถ่านสมบูรณ์เสร็จสิ้นจึงเปิดฝาเตา

ครูต้น ให้ข้อมูลอีกว่า ระยะเวลาการเผาไหม้ของไม้แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จะไม้เล็กหรือไม้ใหญ่ต้องใช้ประสบการณ์สังเกตจากควันเพียงอย่างเดียว รวมถึงการเผาไม้สดกับไม้แห้ง ก็แตกต่างกัน จะไหม้เร็วหรือไหม้ช้า เมื่อเผาไปนานๆ ประสบการณ์ก็จะสอนคุณเอง…

“ถ่านที่ดีส่วนมากจะได้จากการเผาไม้สด คุณภาพจะแกร่งกล้ากว่าไม้แห้ง” ครูต้น ว่าอย่างนั้น
ขนาดของเตาเผาถ่านที่ครูต้นสร้างไม่เล็กไม่ใหญ่ ใช้เวลาเผาเพียง 3 วัน จนได้ถ่านที่สมบูรณ์ จึงทำการปิดเตา หรือปิดปล่องช่องไฟทั้งหมด เพื่อเป็นการดับเตาถ่านที่ติดอยู่ให้ดับสนิท หลังจากปิดเตา ทิ้งเวลาอีกประมาณ 2 วัน เตาก็จะเย็นลง จึงทำการเปิดเตาเอาถ่านออกมาได้

ภาพที่เห็นคือถ่านไม้ดำๆ ที่เป็นแท่งๆ เรียงอยู่ในเตาเมื่อกระบวนการเผาเสร็จสิ้น

เมื่อเปิดเตาแล้วภาพที่เห็นก็จะปรากฏแท่งดำๆ จากท่อนไม้ที่ใส่วางเรียงจนกลายเป็นถ่านสีดำๆ ตามรูปทรงของไม้ที่ใส่ลงไป นี่คือกระบวนการเผาไหม้ของเตาเผาถ่านไม้ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ก็ยังได้น้ำส้มควันไม้ที่หยดรินลงมา 3-5 ลิตร ต่อการเผา 1 ครั้ง

ส่วนถ่านดำๆ เมื่อนำมาทุบจัดเรียงใส่กระสอบ บรรจุได้มากถึง 2 กระสอบป่าน นับว่าได้ผลผลิตเกินคาดเลยทีเดียว

ลุงอุดม ประมูล (ซ้ายมือ) นักการภารโรงผู้ชำนาญด้านงานช่าง กับถ่านที่เก็บออกมา

ด้าน ผอ.สุพล เปิดเผยว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนที่คณะครูมีความคิดสร้างสรรค์สร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ ปลูกฝังเด็กๆ เยาวชนเพื่อได้นำสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดในการดำรงชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ หลังจบการศึกษาต่อไปในอนาคต

นี่คือสิ่งเล็กๆ จากเศษวัสดุเหลือใช้แล้วนำมาผสมผสานจนกลายเป็นเตาเผาถ่านไม้ สร้างแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้ของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบึงมะลูวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นต้นแบบโรงเรียนตัวอย่างในการสร้างสรรค์สู่การเรียนรู้ต่อไป…

ผอ.สุพล สุวรรณจู (กลาง) ครูไกรสอน ดัดถุยาวัฒน์ (ซ้าย) และผู้สื่อข่าว จิตรกร บัวปลี (ขวา) มอบนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านให้กับโรงเรียน

สำหรับท่านที่ประสงค์จะเข้าไปดูงาน เพื่อการศึกษาสาระการเรียนรู้ ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ คุณนิตยา ประมูล เลขาหน้าห้องผู้อำนวยการโรงเรียนบึงมะลูวิทยา โทร. (045) 924-656 (ในวันและเวลาราชการ)