เพชรสังฆาต สมุนไพร บำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย แก้กระหาย

“เพชรสังฆาต” เป็นสมุนไพรที่ใช้บำรุงกระดูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพระคัมภีร์สรรพลักษณะ สรรพคุณแลมหาพิกัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงสรรพคุณของ “เพชรสังฆาต” ไว้ว่า “เพชรสังฆาต แก้จุกเสียด แก้บิด แก้ปวดในข้อในกระดูก ชอบแก้ลมทั้งปวงแล”

ปัจจุบัน ได้มีงานวิจัยพบว่า “เพชรสังฆาต” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus guadrangularis L.) มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งยืนยันสรรพคุณรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน อุดมด้วยแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญมีองค์ประกอบของแคลเซียมสูงมาก รวมทั้งสารอนาโบลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) มีฤทธิ์เร่งปฏิกิริยาการสมานกระดูกที่แตกหักโดยกระตุ้นการสร้างเซลล์ออสเตโอบลาสต์ (Osteoblast) ซึ่งทำหน้าที่สร้างกระดูกและยังช่วยให้มีการสร้างสารมิวโคโพลีแซกคาไรด์ (Mucopolysaccharides) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสมานกระดูก ยิ่งกว่านั้นสารคอลลาเจน (Collagen) ในเพชรสังฆาตยังเป็นสารอินทรีย์โปรตีนที่มาจับตัวกับผลึกแคลเซียมฟอสเฟตจนกลายเป็นกระดูกแข็งที่สามารถรับน้ำหนักและมีความยืดหยุ่นในตัวเอง

ผลการทดลองใช้เถาเพชรสังฆาตในสตรีวัยทองซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุน พบว่า ช่วยเพิ่มมวลกระดูกและรักษากระดูกแตก กระดูกหักได้ในขนาดรับประทาน ครั้งละ 2 แคปซูล (น้ำหนักแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง

  1. ห้ามเคี้ยวสด เพราะจะระคายปาก คันคอ เนื่องจากมีผลึกแคลเซียมออกซาเลตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
  2. ยังไม่มีข้อมูลการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ เพื่อความปลอดภัย
  3. ไม่กัดกระเพาะ (มีข้อมูลว่ารักษากระเพาะได้อีกด้วย โดยออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรด และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ด้วยกลไกเดียวกันกับยา omeprazole) แต่อาจเกิดอาการไซร้ท้อง ไม่สบายท้องได้ หากรับประทานตอนท้องว่าง จึงแนะนำให้รับประทานหลังอาหาร
  4. อาจทำให้ช่วยระบายได้เล็กน้อย หากระบายมากไป ให้ลดขนาดการรับประทานลง และฤทธิ์ระบายของเพชรสังฆาต เป็นฤทธิ์อ่อนๆ ไม่ได้ทำให้ติดยาระบาย หยุดรับประทานแล้วไม่ได้ทำให้ท้องผูก
  5. บางรายรับประทานแล้วแพ้ มีอาการคันยุบยิบๆ ทั้งตัว แต่ไม่มีผื่น ซึ่งพบคนแพ้น้อยมาก หากแพ้ ควรหยุดรับประทาน

 

เพชรสังฆาต

สรรพคุณ บำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย แก้กระหาย ทำให้ชุ่มคอ

เพชรสังฆาตรับประทานสดจะคันคอ ให้ตัดเป็นท่อนเล็กๆ ห่อกล้วยแล้วกลืน หรือนำมาผสมกับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะขาม มะนาว เป็นต้น จะช่วยลดอาการคันได้ ครั้งนี้จึงทำเป็นยาเกล็ดก่อนนำมาทำน้ำเพชรสังฆาต

ยาเกล็ดเพชรสังฆาต

ส่วนประกอบ

  1. เพชรสังฆาต 1 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
  3. น้ำสะอาด 250 มิลลิกรัม

วิธีทำยาเกล็ด

  1. นำเพชรสังฆาตหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปั่นกับน้ำสะอาด กรองเอาแต่น้ำ
  2. ตั้งกระทะทองเหลือง หรือสแตนเลส ใส่น้ำตาลลงไปและน้ำเพชรสังฆาต เคี่ยวด้วยไฟอ่อน

3 .เคี่ยวต่อเรื่อยๆ จนสังเกตเห็นว่าน้ำระเหยออกจนหมด จะมีลักษณะคล้ายฟองฟูๆ ปิดเตาไฟคนเร็วๆ จนกว่าจะได้เป็นเกล็ดน้ำตาล

น้ำเพชรสังฆาต

  1. ยาเกล็ดเพชรสังฆาต 1-2 ช้อนโต๊ะ
  2. น้ำมะนาว 2-3 ช้อนโต๊ะ
  3. เกลือเล็กน้อย
  4. น้ำต้มสุก 1 แก้ว (150 ซีซี)

วิธีทำน้ำเพชรสังฆาต

นำยาเกล็ดผสมในน้ำต้มสุก และเติมมะนาว เกลือ ชิมรสตามใจชอบ แช่เย็นก่อนรับประทาน จะสดชื่นยิ่งขึ้น

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560