มทร. พระนคร โชว์นวัตกรรมเครื่องทอผ้า ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้อาชีพทอผ้า

ประเทศไทย มีการทอผ้าเป็นอาชีพจำนวนมากในพื้นที่ภาคอีสาน รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ชาวบ้านนอกจากทอผ้าขายแล้ว ยังผลิตเครื่องทอผ้าพื้นเมืองจำหน่ายให้กับผู้ทอผ้าในท้องถิ่นอื่นๆ โดยเครื่องทอผ้าที่ผลิตขึ้นจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ เครื่องทอผ้ากี่ธรรมดา กับเครื่องทอผ้ากี่กระตุก

ในปัจจุบัน เครื่องทอผ้าสามารถพัฒนาได้มากสุด 30-80 ตะกอ เครื่องทอผ้าแต่ละแบบผู้ทอจะเลือกใช้ตามความถนัดของผู้ทอ ผ้าทอประเภทผ้าพื้นส่วนมากจะใช้วิธีการทอด้วยเครื่องทอกี่กระตุก ส่วนผ้าทอที่มีลักษณะของการสร้างลวดลายหรือถักลายบนพื้นผ้าจะใช้เครื่องทอผ้าแบบธรรมดา แต่ละครั้งสามารถทอได้ความยาวเพียง 3 เมตร ต่อวัน กับหน้าผ้ากว้างที่ 60 เซนติเมตร

ผ้าไหมไทยทอมือลายพื้นเมือง

เมื่อนั่งทำงานไปนานๆ ผู้ทอจะเกิดความเมื่อยล้าของร่างกาย เนื่องจากจะต้องนั่งตัวตรง และเกร็งลำตัวเพื่อให้เกิดแรงส่งไปที่แขนและมือ รวมทั้งจะต้องออกแรงที่ขาและเท้าสำหรับเยียบตะกอ ทำให้เกิดความเมื่อยล้า หากทอผ้าที่มีลวดลายพิเศษจะต้องใช้สายตาในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีเป้าหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนสังคม โดยเฉพาะอาชีพช่างทอผ้าพื้นบ้าน วช. จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร นำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามายกระดับคุณภาพการผลิตผ้าพื้นเมืองที่ครอบคลุมกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมเส้นยืนก่อนการทอ การออกแบบอุปกรณ์ม้วนเส้นไหม การทอผ้า เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้าน

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ อริยะเครือ

เครื่องทอผ้าแจ็กการ์ด (JACQUARD)

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ อริยะเครือ (โทร. 083-788-9569) อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 500,000 บาท นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาไทย จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ็กการ์ด (JACQUARD) มูลค่า 50,000 บาท สำหรับใช้ผลิตผ้าทอผ้ายกดอกลวดลายต่างๆ ที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ได้นำนวัตกรรมต้นแบบไปให้กลุ่มทอผ้าวัดน้ำเต้า อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกลุ่มทอผ้าบ้านเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ได้ทดลองใช้เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษแจ็กการ์ด ปรากฏว่า ช่างทอผ้าทุกรายล้วนพึงพอใจในนวัตกรรมชิ้นนี้มาก เพราะนวัตกรรมนี้ติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทอผ้ายกดอกได้เร็วขึ้น ช่วยลดการขาดของด้ายยืน เมื่อทอเสร็จจะติดตั้งเส้นด้ายยืนเพื่อทอผ้าผืนใหม่ก็ทำได้ง่ายขึ้น การม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้วได้อย่างสะดวก ที่สำคัญช่วยลดปัญหาปวดเมื่อยของร่างกายได้อย่างดี

เครื่องทอผ้าแจ็กการ์ด

นวัตกรรมเครื่องทอผ้าแจ็กการ์ด ช่วยให้การทอผ้ากลายเป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย เพราะ ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ออกแบบให้เครื่องทอผ้าลดขั้นตอนในการทำงานในบางส่วนลง รวมทั้งออกแบบเครื่องทอแบบยกดอกพิเศษแจ็คการ์ค มากกว่า 80 ตะกอ ขึ้นไป สามารถออกแบบลวดลายที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ทอสามารถทอผ้าได้สะดวกสบายขึ้น และทอผ้าได้ปริมาณมากขึ้น ทำงานได้รวดเร็วขึ้น สามารถนำมาสร้างและผลิตขึ้นเองได้ในระดับอุตสาหกรรมชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย ส่งผลให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ในงาน 42nd International Exhibition of inventions of Geneva สมาพันธรัฐสวิส และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี วช. ด้านการพัฒนาชุมชนและพื้นที่

วช. สนับสนุนเครื่องม้วนเส้นไหมยืนให้แก่ชุมชน

เทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืนด้วยนวัตกรรม

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ได้พัฒนาเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืนด้วยนวัตกรรมที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่สู่ชุมชนเชิงพาณิชย์ จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถ เปรียบเทียบ เทคนิคการม้วนแบบเดิม และพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์สำหรับม้วนเส้นยืน

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ได้ศึกษาขั้นตอน กระบวนการขึ้นเส้นไหมยืนแบบเดิม โดยศึกษาการม้วนเส้นไหมยืนในด้านการใช้พื้นที่สำหรับขึ้นเส้นไหมยืน และนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์เพื่อออกแบบและพัฒนาเครื่องม้วนเส้นไหมยืน โดยการผลิตต้นแบบเครื่องม้วนเส้นไหมยืน เพื่อทดลองและทดสอบ จำนวน 6 ชุด หลังจากนั้น นำต้นแบบเครื่องม้วนเส้นไหมยืนพร้อมเทคนิคการม้วน ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาและเผยแพร่วิธีการใช้

ในครั้งแรก นักวิจัยได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปให้กลุ่มทอผ้าไหมทอมือลายพื้นเมือง 6 วิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทดลองใช้งาน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนหว้าทองไหมไทย วิสาหกิจชุมชนบ้านนาทม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านหนองแกไหมไทย วิสาหกิจชุมชนบ้านสระแก้ว วิสาหกิจชุมชนบ้านกุดกวางสร้อย และวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่ศิลามงคล กลุ่มช่างทอผ้าได้ผลิตผืนผ้าโดยกำหนดให้ทอผ้าไหมลายขัด ทอผ้าไหมมัดหมี่ด้ายพุ่ง ทอผ้าไหมมัดหมี่และทอผ้าไหมหางกระรอก นำผืนผ้าไหมที่ได้ใช้เครื่องม้วนเส้นไหมยืน จำนวน 4 ผืน ทดสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) นำผ้าไหมไทยทอมือลายพื้นเมืองออกแบบและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ อริยะเครือ (ขวามือ) กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมไทย

จากผลการทดสอบการใช้เทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืนด้วยนวัตกรรมที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ มีค่าความตึงของเส้นไหม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.63 กรัม และเปรียบเทียบการทดสอบค่าความตึงของม้วนเส้นไหมยืนแบบเดิมจะลดลงด้วยค่า CV% 6.85 และการม้วนเส้นไหมยืนด้วยเครื่องที่ติดมอเตอร์ เหลือค่า CV% 1.62 มีผลค่าทดสอบความตึงของเส้นด้ายลดลงถึง 5.23% ส่งผลทำให้ค่าความตึงของเส้นไหมยืนมีความเสถียรมากขึ้น

นอกจากนี้ ผ้าทอที่ได้จากการขึ้นเส้นไหมยืน ทดสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ปรากฏดังนี้ ผ้าไหมวิสาหกิจชุมชนหว้าทองไหมไทย วิสาหกิจชุมชนบ้านนาทม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านหนองแกไหมไทย วิสาหกิจชุมชนบ้านสระแก้ว วิสาหกิจชุมชนบ้านกุดกวางสร้อย และวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่ศิลามงคล ผ่านเกณฑ์การทดสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ทั้ง 4 ด้าน คือ
1. ด้านความแข็งแรงของแนวเส้นด้ายยืน
2. ด้านความต้านทานต่อการขัดถูของเส้นด้ายยืน
3. ด้านจำนวนรวมของเส้นด้ายยืนต่อนิ้ว
4. ด้านความต้านทานต่อการขัดถูของเส้นด้ายยืน

ชาวบ้านยืนยันนวัตกรรมนี้ทำงานได้ง่าย สร้างรายได้เพิ่ม

ส่วนผลการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมไทยบ้านหนองแก ชนิดผ้ามัดหมี่และผ้าขิดและผลจากการศึกษาการขึ้นเส้นไหมยืน พบว่า ผืนผ้าที่ทอโดยใช้เครื่องม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ สามารถช่วยลดปัญหาการใช้พื้นที่ในการม้วนเส้นไหมยืน ซึ่งการม้วนแบบเดิมจะต้องใช้พื้นที่เท่ากับความยาวของเส้นยืน ซึ่งความยาวของเส้นไหมยืน โดยเฉลี่ยจะยาว 15-25 เมตร

ในขณะที่ใช้อุปกรณ์ม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้พื้นที่ 4-5 เมตร การใช้เวลาในการม้วนลดจากเดิมถึง 2 เท่า ลดการใช้แรงงานจากเดิม 5-7 คน เมื่อเปรียบเทียบกับการม้วนเส้นไหมด้วยเครื่องที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้แรงงานเพียง 2 คน เท่านั้น ทำให้ลูกหลานช่างทอผ้าที่ทำงานในเมือง สนใจกลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อช่วยพ่อแม่ทำอาชีพช่างทอต่อไป

ผู้บริหาร วช. และสภาอุตสาหกรรมไปเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมไทย

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร. พรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้ติดตามความสำเร็จของการนำนวัตกรรมเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืนไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพชุมชน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนหว้าทอง ตำบลโนนม่วง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมที่สามารถนำนวัตกรรมไปผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในกระบวนการผลิต

พบว่า ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มมีรายได้ในการผลิตผ้าพื้นเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจได้รับการตอบรับจากหน่วยงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายภายนอกชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้

“นวัตกรรมเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืน” ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ประหยัดเนื้อที่ ลดแรงงาน โดยได้เส้นด้ายที่มีความเหนียวและมีคุณภาพดี เนื้อผ้าสวยงาม ลดการเกิดรอยตำหนิ เส้นยืนตึงสม่ำเสมอ เมื่อนำไปทอเป็นผ้าไหมแล้ว จะได้ผ้าไหมคุณภาพดี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของตลาด

ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และผู้ประกอบการกลุ่มผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ให้ความสนใจและเตรียมสนับสนุนต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและการวางกลไกทางการตลาด เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าและรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน