“บ้านแหลมมะขาม” จังหวัดตราด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์หุ่นไม้กระดาน งานจักสานคลุ้ม ความเชื่อ 3 ศาสนา เพลิดเพลินกับธรรมชาติ

ตราด

 “ท่องเที่ยวชุมชน” เป็นนโยบายรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากกระจายรายได้สู่ชุมชน การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวจากหลายๆ หน่วยงานภาครัฐผสมผสานให้ชุมชนแข็งแกร่ง สร้างศักยภาพของหมู่บ้าน ให้กับผู้มาเยือนได้สัมผัสหลากหลายรสชาติ

เช่นเดียวกับ “หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแหลมมะขาม” ตำบลแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีหน่วยงานวิทยาลัยชุมชนตราด เข้ามาศึกษาภูมิปัญญาของหมู่บ้านเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด นำอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์ของหมู่บ้านเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตปั้นให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระทั่งได้รับ รางวัลเลิศรัฐดีเด่น ปี 2560 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่มีความเป็นเลิศด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เกิดความยั่งยืน และล่าสุดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด พัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ บ้านแหลมมะขาม จึงเป็นที่รู้จักและมีนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะมาเยือนกันทุกเดือน คุณกำธร อ่อนอินทร์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด และ ท.ญ.วิภา สุเนตร เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดตราด ถือโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศของชุมชนบ้านแหลมมะขาม ตามโครงการ 1 แหล่งท่องเที่ยว 1 หอการค้า เพื่อร่วมมือกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป

กำธร อ่อนอินร์รองประธานหอการค้าจ.ตราดบันทึกสมุดเยี่ยม

เฟ้นหาเอกลัษณ์…สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

คุณสุเทพ บุญเพียร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านแหลมมะขาม เล่าว่า เดิมทีเดียววิทยาลัยชุมชนตราด ได้เข้ามาช่วยเฟ้นหาเอกลักษณ์ของหมู่บ้านพัฒนา เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น การจักสานด้วยคลุ้ม การสานพัดด้วยไม้ไผ่ การทำอาหาร-ขนมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปกติธรรมดาของชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะงานจักสานคลุ้มมีการพัฒนารูปแบบ แพ็กเกจจิ้งประยุกต์ให้น่าสนใจ เป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยว จากนั้นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราดได้เข้ามาช่วยอีกแรง เพราะสืบค้นเห็นว่า หมู่บ้านแหลมมะขาม มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ที่น่าสนใจ คือในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพทางเรือที่สู้รบกับญวนได้เคยผ่านหมู่บ้านแหลมมะขาม และรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ประทับที่วัดแหลมมะขาม และเป็นแหล่งชุมชน 3 ศาสนา 3 วัฒนธรรม ต่อมาสำนักงานพัฒนาชุมชนเห็นความเข้มแข็งของหมู่บ้าน จึงพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่นี่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศและวัฒนธรรม สามารถมาเรียนรู้และเที่ยวชมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ ได้

คณะหอการค้าตราด.

“เราพัฒนาทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ชาวบ้านเข้าใจและให้ความร่วมมือ เริ่มต้นจากวิทยาลัยชุมชนตราดมาช่วยหาอัตลักษณ์ งานจักสานคลุ้ม แหล่งวัฒนธรรม ใช้เวลาร่วม 5-6 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้ แรกๆ ชาวบ้านให้ความร่วมมือน้อย เพราะไม่เข้าใจ และไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ที่จะทำหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพิ่งมา 2-3 ปีนี้เองที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมต่อยอดจากหลายๆ หน่วยงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด ส่งหมู่บ้านเข้าประกวดและติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สื่อได้กระจายข่าวออกไป มีคนสนใจมาเที่ยว เห็นว่าเป็นการสร้างรายได้เสริม คณะกรรมการบริหารแบ่งเป็นฝ่ายๆ ช่วยงานกัน คือนักสื่อความหมายท้องถิ่น อาหาร รถซาเล้ง เรือโดยสาร และโฮมสเตย์ มีข้อตกลงร่วมกันที่จะช่วยกระจายรายได้ให้ทั่วถึง เพราะทุกคนมีอาชีพหลักทำสวน ท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม ล่าสุดได้ลูกๆ หลานๆ เป็นคนรุ่นใหม่มาตั้งร้านอาหาร ‘ในสวนฉันคาเฟ่’ บริการทั้งนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป ทำให้บรรยากาศของการท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น” ผู้ใหญ่สุเทพ กล่าว

จิต นานิคบุตร

ไฮไลต์… พิพิธภัณฑ์หุ่นไม้กระดาน หนึ่งเดียว

อาหารในกระพอก จักสานคลุ้ม

ผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร เจ้าบ้านที่ดี เล่าที่มา ปัญหา อุปสรรคและความร่วมมือของชุมชน และการบริหารจัดการที่กว่าจะลงตัวได้ในวันนี้ ให้คณะหอการค้าจังหวัดตราดผู้มาเยือน และนำเสนอภาคปฏิบัติโปรแกรมแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ แบบ Oneday Trip เริ่มจาก การเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้าน “สากกะเบือรุน” จาก กลุ่มแม่บ้านแผนกอาหาร คุณป้าเสงี่ยม รุ่งโรจน์ วัย 62 ปี ด้วยวิธีการทำง่ายๆ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำเอง รับประทานฝีมือตัวเอง รสชาติอร่อย จนต้องเตือนตัวเองให้กระเพาะเหลือที่ว่างไว้สำหรับมื้อกลางวันด้วย เมนูอาหารพื้นบ้านเด็ดๆ คือ อู๊ดหมกปิ๊ (กะปิคั่วใส่เนื้อหมู : ตั้งชื่อใหม่ให้น่าสนใจ) กับผัก แกงคั่วหอยสับปะรด ปลาต้มส้มระกำ ปลาพล่าน้ำพริกถั่ว เครื่องปรุง ปลาสดๆ จากทะเล ผักปลูกในหมู่บ้าน

ไฮไลต์ คือ “กระพอก” คือกล่องไม้สี่เหลี่ยมมีฝาครอบ ใช้ใส่อาหารป้องกันสัตว์ แมลง ขายกสูงจากพื้นคล้ายขันโตก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ใช้กันทั่วไป ไม่ต่ำกว่า 150 ปีมาแล้ว ถูกประยุกต์มาใช้งานได้อย่างกลมกลืนให้พวกเรานั่งล้อมวงรับประทานกันแบบอิ่มพุงกาง

ซาเล้ง

จากนั้น นั่งรถซาเล้งที่ชาวบ้านใช้ขนปุ๋ย บรรทุกยางพารา ผลไม้ในสวน ไปตามเส้นทางที่ร่มรื่นด้วยป่าไม้ไผ่รวกเป็นทิวแถว จุดแรกแวะที่บ้านพักโฮมสเตย์ ของ คุณนรารักษ์ บุญเพียร ได้ฝึกหัดสานพัดตอกไม้ไผ่รูปทรงโบราณ กับรูปใบตำลึง ซื้อกลับเป็นที่ระลึกหรือใช้งาน อันละ 50 บาท จากนั้นชม “พิพิธภัณฑ์หุ่นไม้กระดาน” หนึ่งเดียวของ คุณลุงสงกรานต์ ไรนุชพงศ์ อายุ 80 ปี ดัดแปลงโรงสีโบราณเป็นห้องพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมเครื่องมือช่างไม้โบราณที่มีอายุหลายร้อยปีของบรรพบุรุษและออกแบบทำหุ่นไม้กระดานให้เคลื่อนไหวได้ เพื่อจัดแสดงท่าทางการใช้เครื่องมือช่างไม้โบราณได้เสมือนจริง ในพิพิธภัณฑ์นี้มีภาพวาดด้วยเขม่าเทียนไขเหมือนภาพขาวดำยังสมบูรณ์ แม้ว่าอายุภาพจะเกือบ 200 ปีแล้ว

“งานจักสานคลุ้ม” เป็นภูมิปัญญาที่นำคลุ้มมาใช้ประโยชน์งานจักสาน คุณจิต นานิคบุตร กลุ่มงานจักสานคลุ้ม เล่าถึงคุณสมบัติพิเศษของคลุ้มว่า มอดไม่กิน ราไม่ขึ้น ได้ออกแบบประยุกต์กับยุคสมัยปัจจุบัน มีทั้งงานตกแต่งบ้าน เช่น ตะกร้า โคมไฟ เครื่องประดับ เช่น ต่างหู หรือของที่ระลึกอย่างพวงกุญแจ และรับทำตามออเดอร์ได้ เพียงแต่ลูกค้าอธิบายหรือเอาตัวอย่างมา ปลายทางต่อไปคือ ล่องเรือดูป่าชายเลน ที่อุดมสมบูรณ์วันที่น้ำลงสามารถไปงมหอยปากเป็ดมาทำผัดฉ่าเป็นอาหารที่สุดยอด สุดท้าย กระบวนการทัวร์มาบรรจบที่แหล่งประวิศาสตร์และดินแดน 3 ศาสนา ที่วัดแหลมมะขาม

ท.ญ.วิภา สุเนตร(ซ้าย)และผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร Copy

คุณวรรณนา แสงสี เลขานุการกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแหลมมะขามและนักสื่อความหมายท้องถิ่น อธิบายความหมายหมู่บ้าน 2 ประวัติศาสตร์ และ 3 วัฒนธรรม 3 ศาสนา จากคำเล่าขานกันต่อๆ มาว่า รัชกาลที่ 3 เคยเสด็จฯ มา มีหลักฐานพบปืนใหญ่ 13 กระบอก ที่วัดแหลมมะขาม และรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ มาสนทนาธรรมกับ  “ท่านก๋งแดง” เจ้าอาวาส ชาวบ้านหมู่บ้านจึงถือว่าเป็นสิริมงคล ปัจจุบันได้ให้วาดภาพเล่าเรื่องราวไว้บนผนังโบสถ์ ซึ่งภายในวัดแหลมมะขามเป็นทั้งวัดของศาสนาพุทธ โต๊ะวาลีของศาสนาอิสลามและศาลเจ้าที่ชาวจีนเคารพอยู่รวมบริเวณเดียวกันอย่างกลมกลืน ทั้งที่ในหมู่บ้านไม่มีชุมชนชาวมุสลิมผู้คนมาบูชากราบไหว้ขอพรที่นับถือศาสนาอิสลามจะมาจากต่างจังหวัด

นรารักษ์ บุญเพียร(ขวาสุด)

“ในสวนฉันคาเฟ่”…คาเฟ่บ้านนอก บอกรักษ์โลก

ทริปสั้นๆ สิ้นสุดเป็นเวลาบ่ายคล้อยเกือบจะเย็นๆ ร้านอาหารของชุมชน “ในสวนฉันคาเฟ่” ที่ “มะเหมี่ยว”หรือ คุณเสาวคนธ์ บัวผลิ เป็นผู้ริเริ่ม โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่ที่โรงแรมที่เกาะช้าง ใช้พื้นที่บ้านของตัวเองเปิดร้านขายน้ำปั่น เครื่องดื่มรักษ์โลก ให้สอดคล้องกับธีมของหมู่บ้านที่ต้องการลดขยะ และชักชวนญาติๆ มาขายส้มตำ ไก่ย่าง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวโอ่ง ขายขนมครก รวมทั้งชาวบ้านมีพืชผัก ผลไม้ ในบ้านเล็กๆ น้อยๆ นำมาวางขายด้วย ร้านสร้างและตกแต่งเสมือนสวนในบ้าน กลมกลืนกับธรรมชาติ  มีต้นไม้ ไม้กระถางแขวนไว้ให้สบายตา มีรถจักรยานให้เช่าชั่วโมงละ 10 บาท ถีบลัดเลาะไปตามหมู่บ้านหรือจะนั่งที่ร้านนานๆ มีฟรี wi-fi ให้ด้วย ร้านของคุณเสาวคนธ์พยายามปลูกฝังให้ลดขยะ ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ เครื่องดื่มที่มีแก้วมาใส่เองจะลดราคา แก้วละ 5 บาท ไอศกรีม จะใส่ภาชนะที่ทำด้วยกาบหมาก ตอนนี้ญาติๆ ที่มาขายของมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ช่วยๆ กัน ออกค่าน้ำ ค่าไฟ เท่ากับช่วยให้ชุมชนของเรามีรายได้ บรรยากาศคึกคัก มีชีวิตชีวาน่าอยู่เพิ่มขึ้น

บรรยากาศรานในสวนฉันคาเฟ่

หากสนใจท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแหลมมะขาม ติดต่อล่วงหน้าเพื่อความสะดวก โดยเฉพาะห้ามพลาดกิจกรรมงมหอยปากเป็ดมาทำผัดฉ่ารสเด็ด ที่ต้องดูตารางน้ำลง บริการที่พักหมู่คณะโฮมสเตย์ ตั้งแต่ 10-40 คน โปรแกรม 2 วัน 1 คืน ราคาตั้งแต่ คนละ 1,100 -1,700 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนคน ติดต่อ ผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร โทร. 098-860-2914

…………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2563