กระเทียม พืชผักคุณค่ามหาศาล เป็นอาหาร และยาดี

เดี๋ยวนี้ในบ้านเรามีพืชผักที่มีคุณค่ามากมายเป็นทั้งอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นสิ่งให้สารบำรุงร่างกายและจิตใจ จนมีคำแนะนำรักษ์สุขภาพทางการแพทย์ว่า “ให้กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” พืชผักหลายชนิดมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย ผักบางชนิดมีการนำเข้ามาแพร่พันธุ์จากต่างประเทศ พอปลูกในไทยนานเข้าจนคุ้นเคยดูเหมือนจะเป็นพืชท้องถิ่นไทยไปเลย

“กระเทียม” นับได้ว่าเป็นพืชผักที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จัก มีสารประกอบอินทรีย์กำมะถันสูง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ให้พลังงาน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่ไม่แน่ใจว่าต้นกำเนิดแรกอยู่ในประเทศใด อาจจะเป็นพืชดั้งเดิมของไทยเราก็ได้

เพราะเราเห็น เรารู้จักกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด รู้จักกิน รู้จักนำมาเป็นยารักษาบรรเทาโรค จนปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยเราเช่นปัจจุบันนี้ พอที่จะรู้ว่าชาวจีนนำกระเทียมใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงกำหนัด เรื่องเพศสัมพันธ์ และใช้ถ่ายพยาธิ ชาวอียิปต์สมัยโบราณรู้จักการนำกระเทียมไปใช้ประโยชน์เมื่อมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้รากสาดใหญ่ เอากระเทียมแขวนคอเด็กเพื่อขับไล่พยาธิต่างๆ

กระเทียม มีชื่อสามัญว่า GARLIC ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง AMARYLLIDACEAE วงศ์ย่อย ALLIOIDEAE มีพืชที่อยู่ในตระกูลเรียงพี่เรียงน้องกัน คือ กระเทียมหัว กระเทียมใบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และ หอมแบ่ง กระเทียมหัว (Garlic) มีชื่อเรียกทางภาคกลางและทั่วไปว่า กระเทียม ภาคเหนือเรียก หอมเตียม หอมเทียม ภาคใต้ เรียก เทียม หัวเทียม อีสาน เรียก กระเทียมขาว หอมขาว

กระเทียมที่มีปลูกในบ้านเรา มี 2 ชนิด ได้แก่ “กระเทียมจีน” จะมีหัวใหญ่ มีอายุเก็บเกี่ยวยาว กว่า 5 เดือน กระเทียมจีนเป็นพันธุ์หนัก หัวใหญ่ แต่นิยมเก็บเกี่ยวก่อนแก่ เก็บสดๆ หัวใหญ่ น้ำหนักดี ใบยังเขียวอยู่ จะเก็บไว้ได้ไม่นานจะเน่าเสีย เหมาะสำหรับเอามากินสด และทำกระเทียมดอง

และ “กระเทียมไทย” เดี๋ยวนี้ค่อนข้างจะหาคนปลูกเป็นการค้ายากหน่อย ไม่เป็นที่นิยมปลูก เพราะหัวเล็ก ขายไม่ค่อยได้ราคา คนไม่ค่อยนิยม มีแต่กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดด้านอาหาร หรือเพื่อสุขภาพ รักษาโรค และที่ปลูกไว้กินทั่วไป กลับชอบปลูกกระเทียมไทยกัน เนื่องจากปลูกหน้าหนาว หลังเกี่ยวข้าวแล้ว อายุเก็บเกี่ยวเมื่อแก่จัด 3-4 เดือน บางทีก็ใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน เก็บได้แล้ว เพราะหน้าหนาวมันแล้ง กระเทียมลงหัว แก่ไว

เรื่องพันธุ์กระเทียม มีข้อสงสัยกันว่า ทำไมจึงมีกระเทียมหลายอย่าง บ้างก็ว่าแบบหัวเล็กกลีบเล็กดีกว่า ประเภทหัวใหญ่กลีบใหญ่ อย่างชนิดกลีบเบ้อเร่อเทิ้มก็มี ก็อย่างที่บอกไว้ เราแยกเป็นกระเทียมไทย กับกระเทียมจีน ก็มีพันธุ์ต่างๆ แตกต่างกัน

กระเทียมไทย ส่วนใหญ่ที่นิยมปลูกเป็นพันธุ์กลาง อายุเก็บเกี่ยว 90-120 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ พันธุ์บางช้าง พันธุ์พม่า พันธุ์เบา หรือพันธุ์ขาวเมือง อายุเก็บเกี่ยว 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ จำพวกพันธุ์หนัก อายุเก็บเกี่ยว เกิน 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือพันธุ์ไต้หวัน

วิธีปลูกกระเทียม

เนื่องจากพันธุ์กระเทียมมีราคาแพง การปลูกโดยวิธีหว่านจะใช้พันธุ์มาก จึงควรใช้วิธีปลูกเรียงกลีบบนแปลง ระยะวางกลีบ 10 เซนติเมตร แล้วใช้ฟางข้าวคลุม รดน้ำให้ชุ่ม เคยมีบางแห่งจะปลูกโดยการแกะกลีบกระเทียม แล้วแช่น้ำ 1 คืน เอาออกมาผึ่งแดดให้พอหมาด แล้วนำไปคลุกมูลค้างคาว เพื่อไม่ให้ลื่น และเป็นปุ๋ยบำรุงเจริญเติบโตเร็ว

ปักกลีบกระเทียมลงดิน ระยะปลูก 10×20 เซนติเมตร ลึก 2 ส่วน 3 ของกลีบ ประมาณ 1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางข้าว แปลงกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร เว้นร่อง 50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ แบ่งได้ 80 แปลงย่อยๆ ละ 900 ต้น หรือ 72,000 ต้น ต่อไร่ ใช้กลีบพันธุ์ขนาดกลาง น้ำหนัก 2 กรัม ต่อกลีบ น้ำหนักรวม 144 กิโลกรัม ต่อไร่

จึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกแบบใช้กลีบ ต้นทุนค่าพันธุ์ต่ำลงมาก ถ้าปลูกไว้กินเล็กๆ น้อยๆ ขอให้ใช้กลีบพันธุ์ขนาดใหญ่ ปลูกแปลงเล็กๆ หรือในกะละมังก้นรั่ว ได้กิน ทั้งต้น ใบ ดอก หัว คอยตัดกินทีละน้อย 5-6 เดือนถึงหมด ได้หัวที่แก่จัดทำพันธุ์ต่อได้ และถ้าปลูกเว้นเวลากัน ก็มีกินตลอดปี ข้อจำกัดคือ ถ้าไม่เจอหนาว จะไม่ลงหัว จึงนิยมปลูกกันช่วงเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวมีนาคม หรือ เมษายน

สรรพคุณทางยาของกระเทียม

สารสำคัญของกระเทียม ที่ทำให้กระเทียมมีสรรพคุณและคุณภาพความเป็นกระเทียม ดังที่รู้จักกัน กระเทียมจะมีกลิ่นหอมฉุน มีน้ำมันหอมระเหย คือสารอินทรีย์กำมะถัน อัลลิอิน เมื่อถูกเอนไซม์ อัลลิเนส เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำมันกระเทียม (Garlic Oil)

กระเทียมจะมีกลิ่นหอมก็ต่อเมื่อ อัลลิอิน และอัลลิเนส ซึ่งปกติจะแยกกันอยู่คนละส่วน เมื่อถูกทุบ หั่น หรือทำให้ช้ำ สารทั้ง 2 ชนิด จะรวมกันทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี กลายเป็นสารอัลลิซีนในรูปน้ำมันที่มีประโยชน์ สารอัลลิอิน น้ำย่อยอัลลิเนส และสารอัลลิซิน ในกระเทียมสดๆ จะไม่มีกลิ่น กลิ่นตามมาทีหลังเมื่อเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับเหงื่อ แก้น้ำลายเหนียว ขับเสมหะ บำบัดโรคหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการไอ การสูดดมน้ำคั้นจากกระเทียมรักษาวัณโรค เพิ่มอาการหลั่งของน้ำดี ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ใช้บำบัดโรคความดันโลหิตสูง บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นท้อง แน่นอก แก้อาการอักเสบในลำไส้ ขับลมในลำไส้ ป้องกันกรดไหลย้อน ขับเลือดระดู แก้อัมพาตอัมพฤกษ์

โขลกพอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา บดผสมน้ำส้มสายชูกวาดแก้คออักเสบเสียงแหบแห้ง แก้ไข้ แก้โรคเส้นประสาท น้ำคั้นใช้ทาบรรเทาอาการปวดข้อ ต้มกับน้ำมันงาใช้หยอดหูแก้ปวดหู ใช้พอกแผลหนอง ช่วยบำรุงระบบสืบพันธุ์ และทางเดินปัสสาวะ มีสารที่ควบคุมฮอร์โมนเพศชายและหญิง

คุณค่าของกระเทียมที่ได้จากสารอินทรีย์กำมะถันอัลลิซิน อัลลิอิน เป็นยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อแก้อักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลับ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ ป้องกันโรคหวัด วัณโรค หรือนิวโมเนีย โรคคอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ มาลาเรีย คออักเสบ อหิวาตกโรค ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับลมภายในกระเพาะ แก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า ปวดฟันจากฟันผุ ปวดหู หูอื้อ หูตึง ฯลฯ

มีสูตรเด็ดใช้รักษาโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวใต้ปัตตานี ใช้กระเทียม 1 กิโลกรัม ใส่เครื่องปั่น บีบมะนาวใส่ประมาณ 50 ลูก หมักไว้ 25 วัน นำมากินครั้งละ 1 ช้อน ก่อนอาหาร 3 เวลา ร่างกายจะปรับสมดุล และแข็งแรง

ประโยชน์ทางโภชนาการ กระเทียมมีวิตามินเอ บี ซี และสารจำพวกฮอร์โมน ใช้ต้น ใบ ดอก หัว ปรุงเป็นอาหาร หัวแก่เป็นเครื่องปรุง ดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ หมู ปลา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำพริกต่างๆ

ต้ม ผัด แกง ทอด หอมอร่อยในพริบตา รสแซ่บซ่า กินแหนมสดขาดกระเทียมกับพริกขี้หนูหมดอร่อย และในการทำแหนม เขาโขลกหรือทุบกระเทียมผสมข้าวสุกใส่ห่อแหนม จะทำให้แหนมสุกเปรี้ยวอร่อยถูกคอสุรายิ่งนัก ส่วนกระเทียมดองก็นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด อร่อยมาก

คุณค่าทางโภชนาการ กระเทียม 100 กรัม ให้พลังงาน 149 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสาระสำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม โปรตีน 6.36 กรัม กากใยอาหาร 2.1 กรัม น้ำตาล 1.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม วิตามินB1 หรือไทอะมีน 0.2 มิลลิกรัม วิตามินB2 หรือไรโปฟลาวิน 0.11 มิลลิกรัม วิตามินB3 หรือไนอะซิน 0.7 มิลลิกรัม วิตามินB5 หรือกรดแพนโทเทนิก 0.596 มิลลิกรัม วิตามินB6 หรือไพริด็อกซิน 1.235 มิลลิกรัม วิตามินB9 หรือกรดโฟลิก 3 ไมโครกรัม วิตามินC 31.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 181 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม เหล็ก 1.7 มิลลิกรัม แมงกานีส 1.672 มิลลิกรัม สังกะสี 1.16 มิลลิกรัม ซีลีเนียม 14.2 ไมโครกรัม

กระเทียม มีสรรพคุณและคุณประโยชน์มากกว่า 200 อย่าง การกินกระเทียมไม่ว่าจะรูปแบบไหน ถ้ากินพอประมาณ มีประโยชน์ที่ได้รับมากมาย บรรพบุรุษเราก็ใช้ประโยชน์จากกระเทียมมากันนับไม่รู้กี่รุ่นกี่ยุคกี่สมัย

ชาวโลกทั่วไปก็รู้จักใช้ประโยชน์ และบอกเล่าสืบต่อกันมานานนับร้อยๆ ปี จะถือได้ว่า กระเทียมเป็นพืชโบราณที่เปี่ยมล้นด้วยนานาสรรพคุณ มหาศาลด้วยคุณประโยชน์ ที่สุดแห่งพืชที่เอื้อประโยชน์แก่มนุษย์โลกมาอย่างยาวนาน แล้วเราจะปล่อยละทิ้งไปให้สิ้นสูญไร้ค่าอย่างนั้นหรือ?

เมื่อรู้ว่ากระเทียมมีประโยชน์มากมาย ช่วงนี้มีราคาแพงเอามากๆ แหล่งปลูกเดิมก็ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เป็นเพราะกระเทียมใช้เวลานานถึงได้ผลผลิต ใช้เวลานานพอๆ กับทำนา

เมื่อนับช่วงปลูกกระเทียม คือหน้าหนาวหลังเกี่ยวข้าวนาปีแล้วถึงลงมือปลูก ดินมีความชื้นอยู่บ้าง ข้างนาพอมีน้ำในสระในหนองอยู่บ้าง มีฟางข้าวอยู่ในแปลงนาแล้ว ขุดไถปรับหน้าดินนานิดหน่อย ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก แล้วปลูกกระเทียม 3-4 เดือน ได้ผลผลิต เก็บเกี่ยวแล้ว

ดินยังมีปุ๋ยเหลืออยู่บ้าง ฟางข้าวที่คลุมแปลงย่อยสลาย เหลือปุ๋ยในดินกับจากฟางข้าวไว้ พร้อมที่จะให้ทำนาต่อได้อีก เพราะการปลูกกระเทียมใช้เวลานาน และต้องปลูกในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นจึงจะให้หัว ทำให้ชาวบ้านเกิดความท้อแท้ กังวลว่าต้องหาน้ำเพิ่ม จึงไม่ค่อยนิยมปลูกกัน สู้ปลูกพืชอื่นที่ให้ผลให้เงินไว มีเวลาพักผ่อนใช้เงินจากการขายข้าวได้ วิถีกระเทียมจึงมีข้อจำกัดด้วยประการฉะนี้