ที่มา | คิดใหญ่แบบรายย่อย |
---|---|
ผู้เขียน | อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย |
เผยแพร่ |
สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย เมื่อเดือนธันวาคม ผมได้รับเชิญจาก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ให้ไปบรรยาย เรื่อง นวัตกรรมกับการแปรรูปสินค้าเกษตรการยืดอายุและการเก็บรักษา ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ในเขตภาคตะวันตก ผมได้พูดถึงเรื่อง “Eatnomics” หรือที่มีคนไทยแปลเอาไว้ว่า “เทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่” ทุกท่านครับ เรื่อง “Eatnomics” ที่ บริษัท Reimagine Food คิดออกมาเป็นการคาดการณ์การกินอยู่ของคนในโลกของเราในอนาคตจนถึง ปี 2026 หรือ พ.ศ. 2569 สะท้อนให้เห็นถึงอาหารในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งรูปร่างหน้าตา คุณค่า สารอาหาร วิธีการผลิต จนถึงการบรรจุและการขนส่ง ในอนาคตอาหารและการแปรรูปอาหารต้องตอบโจทย์ด้าน ความใหม่สด สะดวกสบาย ผ่านการแปรรูปน้อย มีความปลอดภัย มีอายุการเก็บรักษานาน

เราจึงจะได้เห็นเนื้อวัวที่สร้างขึ้นในห้องแล็บ เนื้อวัวเทียมที่ผลิตจากพืช อาหารพิเศษเฉพาะรายบุคคล เหล่านี้คืออาหารในอนาคตอันใกล้ แต่สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาสะดุดใจของผมคือ เรื่องของอาหารที่จะผ่านการแปรรูปน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะนำท่านไปชมกันในฉบับนี้ นั่นก็คือ กล้วยตาก หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นแปลก ก็แค่กล้วยตาก แต่ผมอยากจะบอกว่า กล้วยตากภูมิปัญญาคนไทยตอนนี้กลายเป็นอาหารในอนาคตที่บริษัทยักษ์ใหญ่สนใจและขยับเข้าไปในธุรกิจนี้แล้ว เพราะกล้วยตากคือ อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อย เป็นอาหารแห่งอนาคตดังที่ผมบอกมาแต่ต้น ตามผมไปดูกันครับ

วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากแม่โสม
พาท่านมาที่ บ้านเลขที่ 99/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากแม่โสม กลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มแม่บ้านที่ว่างจากการทำนา รวมตัวจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์กล้วยตาก โดยมี คุณโสม วิกิจการโกศล เป็นประธาน และผู้ก่อตั้ง ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนมาอย่างยาวนาน จนถึงวันนี้ กล้วยตากแม่โสม มีหัวเรี่ยวหัวแรงที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่าง คุณสมถวิล วิกิจการโกศล และ คุณเงิน เสือนุ่ม เข้ามาสานต่อธุรกิจให้เดินหน้าไปในวันที่โลกของธุรกิจเต็มไปด้วยการแข่งขันทุกรูปแบบ
ทั้งปลูกเอง และรับซื้อกล้วยน้ำว้า
คุณเงิน พาไปชมสวนกล้วยน้ำว้าที่ปลูกเอาไว้ ในพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ที่ปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องและกล้วยน้ำว้าพันธุ์นวลจันทร์ “ผมทั้งปลูกกล้วยเอง แต่ก็ไม่พอ ยังต้องรับซื้อกล้วยน้ำว้าที่แก่จัดจากหลายๆ พื้นที่ กล้วยน้ำว้าที่ผมซื้อจะเป็นพันธุ์มะลิอ่องเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาก็เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์พื้นบ้าน

ส่วน กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 ผมจะไม่ค่อยซื้อ เพราะพันธุ์นี้มีผลขนาดใหญ่ เวลาทำกล้วยตากแล้วจะมีปัญหาขนาดไม่พอดีกับภาชนะบรรจุ ใน 1 เดือน ผมจะต้องใช้กล้วยน้ำว้า ประมาณ 8-10 ตัน โดยจะรับซื้อกล้วยอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 2-2.5 ตัน กล้วยส่วนใหญ่ผมรับซื้อจากเกษตรกรที่เป็นขาประจำ แต่ในบางช่วงอย่างฤดูแล้งหากล้วยได้ยาก ผมก็เปิดรับซื้อกล้วยจากทุกแหล่ง บางทีก็มีกล้วยจากจังหวัดไกลๆ อย่าง อุบลราชธานี มาส่งให้ผม” หลังจากได้กล้วยมาแล้ว คุณเงินจะนำมาบ่มให้กล้วยสุกพร้อมๆ กัน ก่อนจะนำไปปอกเปลือก
ยังเน้นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

คุณเงิน เล่าว่า กล้วยตากแม่โสม ในวันนี้เป็นที่รู้จักของลูกค้าทั่วไป เพราะใช้การตลาดทุกรูปแบบในการกระจายสินค้าให้ออกไปสู่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การออกร้าน การจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง การจำหน่ายในห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ การวางจำหน่ายตามร้านขายของฝาก ตลอดจนถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้กลุ่มลูกค้าของกล้วยตากแม่โสมกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณเงินยังคงรักษาไว้ก็คือ การกระจายรายได้สู่ชุมชน “ผมรับซื้อผลผลิตกล้วยน้ำว้าจากชาวบ้านแถวนี้เป็นหลัก นอกจากนั้น ผมยังจ้างงานชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุให้มีอาชีพ โดยมาปอกกล้วย ช่วยกันปอกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องและพันธุ์พื้นเมืองที่บ่มจนสุกแล้ว ใส่ลงในกะละมัง ปอกเปลือกทำความสะอาดก่อนจะนำไปตากแดด นอกจากนั้น ยังมีการตัดแต่งกล้วยที่ตากแล้วก่อนการบรรจุอีกด้วย ก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุอีกทางหนึ่ง ดีกว่าจะอยู่บ้านเฉยๆ ก็มาทำงานกับเรามีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ไปช่วยครอบครัว”
การผลิต “ไม่มีกล้วยลูกไหน เปล่าประโยชน์”
ในกระบวนการผลิตกล้วยตากแม่โสม จะตากกล้วยด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (Green house Solar dryer) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “พาราโบล่าโดม” กล้วยที่ปอกเปลือกแล้วจะนำมาตากภายในโดมพาราโบล่าอีกประมาณ 5 วัน คุณเงิน บอกว่า “เรามีโรงอบพาราโบล่า 2 โรง สามารถตากกล้วยได้ ครั้งละ 2-3 ตัน หลังจากตากในโรงพาราโบล่า 5 วัน จะนำกล้วยมาตัดแต่งก่อนจะนำเข้าตู้อบอีกครั้ง ก่อนจะได้กล้วยตากแม่โสมที่อร่อยและสะอาดได้มาตรฐานจากกล้วยน้ำว้าดิบ 1 ตัน บ่มให้สุกและผ่านกระบวนการตากเสร็จแล้ว จะได้กล้วยตาก 300 กิโลกรัม

โดยกล้วยตากจะมี 2 แบบ คือ แบบกล้วยกลม และแบบกล้วยแบน และมี 2 รสชาติ คือ รสดั้งเดิมกับรสน้ำผึ้ง แล้วนำไปบรรจุส่งจำหน่าย คุณเงิน บอกว่า “การผลิตของเรามีเป้าหมายว่า กล้วยทุกลูกที่เราซื้อมา จะต้องใช้ประโยชน์ได้ ไม่มีการทิ้งทั้งสิ้น เราจึงมีผลิตภัณฑ์หลายเกรด หลายแบบบรรจุภัณฑ์ หลายราคาจำหน่าย ส่วนเศษกล้วยที่ถูกตัดแต่ง กล้วยที่ใช้ไม่ได้จริงๆ จะขายเป็นอาหารสัตว์ ไม่มีกล้วยลูกไหนเปล่าประโยชน์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทุกคนทำได้ ขอเพียงแค่รู้จริงในวิธีการผลิต และพยายามมองหาช่องทางจัดการของเสียให้กลับมาเป็นรายได้” คุณเงินอธิบาย
การผลิตปลอดภัย ได้มาตรฐาน
คุณเงิน เล่าว่า มาตรฐานการผลิตเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจในยุคนี้ เพราะเราหวังที่จะทำตลาดให้กว้างไกลออกไปจากเดิม การผลิตที่ได้มาตรฐานจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางกล้วยตากแม่โสมได้พยายามร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และใช้เครื่องมือเครื่องจักรเท่าที่จะทำได้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต “ผมได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.) มอบเครื่องแบนกล้วยตาก ที่มีกำลังการผลิต 150 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ซึ่งช่วยลดการใช้แรงงานได้บางส่วน นอกจากนั้น การผลิตกล้วยตากแม่โสมยังได้รับรองมาตรฐาน อย. และมาตรฐาน GMP หรือมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การควบคุมการผลิตอีกด้วย นอกจากกล้วยตากแล้ว คุณเงิน ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้ชื่อ แม่โสม เช่น กล้วยอบเนย มะม่วง 4 รส มะม่วงกวน กล้วยกวน กล้วยเบรคแตก กล้วยแผ่น
แบรนด์แม่โสม ทำตลาดอย่างไร
หากผู้อ่านเคยไปตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของฝากจะพบว่า ปัจจุบันนี้ มีกล้วยตากมากมายหลากหลายยี่ห้อวางขายกันกลาดเกลื่อน แล้วกล้วยตากแบรนด์แม่โสมทำอย่างไร ให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างทุกวันนี้ คุณเงิน เล่าว่า “หลายคนถามว่า ตลาดกล้วยตากในประเทศน่าจะตัน เพราะมีมากมายหลายยี่ห้อ ทำไม ไม่ขยับไปตลาดต่างประเทศ คำตอบของผมคือ ด้วยกระบวนการผลิตกล้วยตากที่ใช้ธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีการเติมแต่งดัดแปลง ไม่มีการใส่สารเคมี ทำให้กล้วยตากมีอายุการเก็บสั้นเพียง 6 เดือน ไม่สะดวกสำหรับการนำไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ

ดังนั้น แม้หลายคนคิดว่า ตลาดกล้วยตากในประเทศจะตัน แต่ผมยังพอมองเห็นช่องทาง โดยการทำตลาดหลากหลายช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกสื่อ การออกร้านนำเสนอสินค้า การจำหน่ายช่องทางออนไลน์ การเปิดให้เข้ามาเยี่ยมชมดูงาน เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำ นอกจากนั้น ก็พยายามหาตลาดใหม่ๆ ไปด้วย อย่างตอนนี้มีตลาดในห้างค้าส่งค้าปลีกทั่วภาคใต้ติดต่อมาให้ไปวางผลิตภัณฑ์แม่โสม” สิ่งที่คุณเงินพยายามทำด้านการตลาดนั้น เป็นกลยุทธ์ทุกอย่างหลอมรวมเข้าด้วยกัน หรือเรียกว่า IMC (Integrated Marketing Communication) เป็นการใช้สื่อดั้งเดิมผสมผสานกับสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ เพื่อสร้างกลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ในทุกๆ สื่อและช่องทาง
นี่คือ ข้อคิดและวิธีการทำธุรกิจเกษตรให้ประสบความสำเร็จในแบบของ คุณเงิน เสือนุ่ม ใครสนใจพูดคุยติดต่อไปได้ที่โทร. ร้านกล้วยตากแม่โสม โทร. 081-674-2817, 081-740-4156 “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ต้องขอลากันไปก่อน ขอให้โชคดี ธุรกิจเกษตรของท่านมีความสำเร็จ แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ