พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชูผลงานวิจัยข้าวไร่

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นำผลงานวิจัย 6 โครงการ ร่วมนำเสนอในงานสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลก SB Chantaboon 2020 Moonshots to Dreamfood ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี 

ผศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการข้าวไร่ กล่าวว่า ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวไร่มากว่า 15 ปี ทั้งทำการสำรวจพันธุ์ รวบรวมพันธุ์ อนุรักษ์พันธุ์ คัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ โดยในปัจจุบันเราได้นำข้าวไร่ที่เราสำรวจได้มาเป็นพันธุ์ข้าวไร่ชุมพร ที่มีลักษณะที่ดี 11 พันธุ์ และได้นำไปจดทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งข้าวไร่ทั้ง 11 พันธุ์ นั้นทุกพันธุ์มีคุณค่าทางอาหารสูง และยังได้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ซึ่งพันธุ์ข้าวไร่ของเรายังเป็นที่นิยมของเกษตรกรและยังให้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน สาเหตุที่ทำวิจัยข้าวไร่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพราะมีพื้นที่นาน้อยและพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะไปปลูกยางพาราและปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่ภาคใต้มีข้าวบริโภคไม่เพียงพอ ต้องนำข้าวจากภาคอื่นมาบริโภค

ฉะนั้น ข้าวไร่นี้จึงเป็นพันธุกรรมพืชที่มีความสำคัญเนื่องจากสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่ดอน อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติและสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ และต่อยอดในการนำข้าวที่มีลักษณะเด่นมาทำเป็นแป้งสำเร็จรูปของข้าวไร่พันธุ์สามเดือน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ทั้งปี จะทำให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวไร่สำเร็จรูปไปพัฒนาต่อยอดไปทำเป็นขนมไทย เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ทดแทนแป้งข้าวสาลีได้ ซึ่งข้าวไร่พันธุ์สามเดือนนั้นเมื่อนำไปประกอบอาหารจะพบว่า มีธาตุเหล็กสูง และมีสารอาหารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย ฉะนั้น ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดพันธุ์ข้าวไร่แต่ละพันธุ์มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รักษาการแทนรองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการนำเอาภูมิปัญญา ความรู้ และผลผลิตจากชุมชน มาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

ผศ.ดร.วัชระ ศิลป์เสวตร์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือการนำเอาองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน โดยเฉพาะงานวิจัยที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมีกลุ่มของเกษตรกร ชุมชนที่รับการถ่ายทอดจากอาจารย์นำเอาไปใช้ ทำให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดไปทำให้มีความหลากหลาย

นอกจากงานวิจัยข้าวไร่ ยังมีโครงการวิจัยการพัฒนาภาชนะชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดย ผศ.ดร.นฤบดี ศรสังข์ หัวหน้า กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดชุมพร มีอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าทางเกษตรและการอุตสาหกรรมมากมาย อย่างเช่น ทุเรียน กล้วยเล็บมือนาง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หมากและเส้นใย สับปะรด ทีมวิจัยเลยคิดว่าการนำเส้นใยที่เหลือทิ้ง มาผสมร่วมกับพลาสติกชีวภาพขึ้นรูป กลายเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขึ้นกระบวนการมาตรฐานต่างๆ และยังเป็นการผลิตภาชนะชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ช่วยลดปริมาณขยะด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และลดมลภาวะจากขยะเหลือทิ้ง นำไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน

สำหรับเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อไปคือจะกระจายองค์ความรู้นี้สู่ชุมชน เพราะเรามีวิสาหกิจชุมชนในอำเภอประทิว จังหวัดชุมพร รองรับ และยังได้รับความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอด