สมุนไพรรับหน้าร้อน ป้องกันลมแดด

ตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่คนบ่นว่าอากาศร้อน โลกร้อน บางคนถึงกับเพลีย หรือบางคนทนไม่ไหวถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี ทราบไหมว่าอาการดังกล่าว จัดเป็นโรคอย่างหนึ่งที่มากับความร้อน คือ โรคเพลียความร้อน (Heat exhaustion)

เป็นโรคที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรือจากการออกกําลังกายหนักจนทําให้อุณหภูมิ (core temperature) ในร่างกายสูงมากกว่า 37 องศาเซลเซียส แต่น้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิของร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า โรคลมแดด (Heat Stroke) หรือโรคอุณหพาต หรือโรคลมเหตุร้อน ซึ่งจะมีอาการคล้ายคลึงกันกับโรคเพลียความร้อน แต่โรคลมแดดจะมีความรุนแรงมากกว่า และอาจทำให้เสียชีวิตได้

หัวหอม

อาการที่พบคือ ร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หน้าซีด หน้ามืด เป็นลม ตัวร้อนจัด เมื่อยล้า เกิดตะคริว วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ และหากรุนแรงอาจพบภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เพ้อ ชัก ช็อก ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้อลายสลาย อวัยวะต่างๆ เกิดการล้มเหลว เช่น ไตล้มเหลว เซลล์ตับตาย กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย เป็นต้น

โรคนี้มักเกิดในคนที่ออกกําลังหักโหมเกินไป สวนใหญ่เกิดในหน้าร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร นักกรีฑา ทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัด ซึ่งการเกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกที่อุณหภูมิร้อนสูงร่วมด้วย กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อ หรือเกิดในคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ (Bed Ridden) ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้อุณหภูมิร่างกายสูง แต่ไม่มีเหงื่อ

ลูกซัด

โรคลมแดด สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงอากาศร้อน เปิดแอร์ หรือเปิดพัดลมคลายร้อน ดื่มน้ำมากๆ (6-8 แก้ว ต่อวัน) ไม่ออกกำลังหักโหม ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนดี และเรามีสูตรสมุนไพรที่ช่วยป้องกันโรคลมแดดได้ หรือหากเกิดขึ้นแล้วสูตรสมุนไพรเหล่านี้สามารถบรรเทาอาการลมแดด ช่วยทำให้ร่างกายเย็นขึ้น มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

– บดหรือหั่นหัวหอมเป็นแผ่นๆ วางไว้ที่หน้าผากหรือต้นคอ เพื่อช่วยดูดซับความร้อน หรือรับประทานหัวหอม อาจรับประทานอยู่ในอาหารก็ได้ ช่วยป้องกันร่างกายจากความร้อนได้

น้ำมะตูม ช่วยได้

– ใบของต้นลูกซัดประมาณ 50 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็ก จุ่มในน้ำเย็นประมาณ 150 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นดื่มครั้งละ 1 แก้ว ทุกๆ 2 ชั่วโมง จนกว่าอาการลมแดดจะดีขึ้น

– นำเนื้อมะขาม 10-15 ฝัก มาบดต้มกับน้ำ 500 มิลลิลิตร แล้วกรองเหลือแต่ส่วนใส อาจปรับรสชาติด้วยน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1-2 ครั้ง ช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สมดุล และบรรเทาอาการลมแดดได้

เม็ดแมงลัก

– คั้นน้ำสดใบโหระพารับประทาน 1 ช้อนชา ดื่มวันละ 1 ครั้ง

– บดใบและรากผักชี 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำเย็น 1 แก้ว ดื่มวันละ 1 ครั้ง

– หั่นวุ้นว่านหางจระเข้ที่ล้างสะอาด ประมาณ 1-2 ต้น ผสมกับน้ำเย็น หรือน้ำผลไม้ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1-2 ครั้ง

– ดื่มน้ำมะตูม 1 แก้ว ก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง

– เม็ดแมงลัก 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 250 มิลลิลิตร อาจผสมน้ำหวาน หรือเติมน้ำตาลปรุงรส