กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง ทอผ้าขนแกะ-ผ้าฝ้าย เอกลักษณ์ชนเผ่า ขายความเป็นธรรมชาติ

ปัจจุบัน ผ้าทอมือขนแกะ ของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง หมู่ที่ 5 บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านในกลุ่มได้มากเป็นกอบเป็นกำ เทียบเท่ากิจกรรมทางการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก มีพ่อบ้านเป็นผู้ดำเนินกิจกรรม มีแม่บ้านและลูกบ้านเป็นผู้ช่วย และรายได้ในส่วนนี้ยังใช้เวลาไม่มาก หากเทียบกับกิจกรรมทางการหาเลี้ยงชีพอื่น

การล้างขนแกะด้วยน้ำเปล่า

คุณพิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง เล่าว่า เพราะสามีคือ คุณวิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง มีโอกาสได้รับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จฯ มาเยี่ยมชาวเขาในอดีต และสามีมีโอกาสได้ถวายงาน โดยเข้าไปเป็นอาสาด้านการรักษาพยาบาล แล้วนำมาเผยแพร่ในหมู่บ้าน ซึ่งโอกาสนี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้งานไปพร้อมๆ กับสามี และเรียนรู้เรื่องการทอผ้าและการรวมกลุ่มของแม่บ้านในชุมชน ในรูปแบบของศูนย์ศิลปาชีพ จากนั้นจึงนำมาเผยแพร่ให้กับแม่บ้านในหมู่บ้านเดียวกัน

ขนแกะที่รอการตากแห้ง

เริ่มแรกของการก่อตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง เมื่อคุณพิมพ์ เรียนรู้จากภายนอกนำมาเผยแพร่ให้กับแม่บ้านในหมู่บ้านแล้ว การรวมกลุ่มก็เกิดขึ้น โดยใช้ชื่อ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง มาตั้งแต่แรก เริ่มจากสมาชิกที่มีทั้งหมดเพียง 12 คน ถึงปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 54 คน

ในการลงหุ้นระยะแรก เริ่มจาก หุ้นละ 100 บาท

ขนแกะที่เพิ่งตัดมาใหม่ๆ ยังไม่ได้ทำความสะอาด

คุณพิมพ์ บอกว่า เงินจำนวนนี้ ไม่ได้มากนัก แต่ก็เป็นกองทุนเริ่มต้น เพราะการก่อตั้งกลุ่มระยะแรกยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อกลุ่มเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้น มีผลิตภัณฑ์ขายผ่านกลุ่ม สมาชิกมีรายได้ จึงหักรายได้เข้ากลุ่ม ร้อยละ 5 แบ่งเป็น ร้อยละ 2 ใช้เป็นเงินสะสมของกลุ่ม และ อีกร้อยละ 3 สำหรับใช้ในการขับเคลื่อนกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกร้าน การซื้อวัตถุดิบมาใช้ภายในกิจกรรมของกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบของการออมทรัพย์วันละ 1 บาท เพื่อให้สมาชิกมีเงินออมในยามขัดสน

ฝ้าย ไม่ได้เป็นวัตถุดิบหลักของการทอผ้า เพราะไม่ได้มีวัตถุดิบเอง ต้องซื้อจากแหล่งผลิตฝ้าย เช่น ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดเชียงราย

การดึงเส้นขนแกะออกจากกัน ก่อนนำไปหวี

ขนแกะ เป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องไปซื้อเพิ่มที่ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกส่วนหนึ่ง

สมาชิกกลุ่มมารวมกัน

คุณพิมพ์ ให้ข้อมูลว่า การเลี้ยงแกะ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของกลุ่ม เพราะเป็นกระบวนการผลิตให้ได้ขนแกะ โดยการเลี้ยงแกะก่อนหน้านี้ มีจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10 ตัว เพราะสมาชิกมีภารกิจมากขึ้น แต่การดูแลแกะก็จำเป็น จึงลดจำนวนลง และขนแกะที่ซื้อมาจากแหล่งอื่นก็เป็นขนแกะที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน

“แกะที่เรานำมาเลี้ยงในอดีต เป็นสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งขนมีความหยาบ เมื่อเราศึกษาและมีประสบการณ์จึงเปลี่ยนสายพันธุ์แกะที่ใช้ขนมาทำวัตถุดิบ เป็นแกะสายพันธุ์บอนด์ และสายพันธุ์ดอร์เซ็ท ซึ่งมีขนฟู หนา นุ่ม เหมาะสำหรับการนำมาทอ”

การตากขนแกะ ต้องทิ้งไว้ให้แห้งจริงๆ

ในฤดูร้อนและฤดูหนาว จะปล่อยแกะออกกินหญ้าตามธรรมชาติทุกเช้า เมื่อถึงตอนเย็นแกะจะเดินกลับเข้าคอกเอง

ในฤดูฝน โอกาสปล่อยออกนอกคอกมีน้อย เพราะแกะอาจป่วย จึงเลี้ยงในคอก แล้วนำหญ้ามาให้กินที่คอก

หญ้าที่แกะกิน เป็นหญ้ากินนีสีเขียว และหญ้ารูซี่ ซึ่งกลุ่มมีพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าไว้เอง เป็นการประหยัดต้นทุน ไม่ต้องซื้ออาหารให้แกะ

ผ้าฝ้าย ที่นำมาย้อมสี ก่อนจะทอมือผสมไปกับขนแกะ

การตัดขนแกะ จะทำปีละ 1 ครั้ง ในเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะเป็นฤดูร้อน เมื่อแกะถูกตัดขนจะรู้สึกสบายตัว

แกะจำนวน 1 ตัว อาจตัดได้ขนแกะ 2-3 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและขนาดของแกะ

การตัดขนแกะ ทำโดยการใช้กรรไกรเลาะเป็นผืน จากต้นขาหรือสะโพกขาหน้า ไปทีละข้างของตัวแกะ โดยการจับแกะนอน และเมื่อแล้วเสร็จ จึงจับแกะพลิกตัว เลาะขนออกอีกด้านหนึ่ง

คุณพิมพ์ บอกว่า การตัดขนแกะทำได้ไม่ยาก หากต้องการตัดขนแกะเหมือนที่เคยเห็นทั่วไป คือ การใช้ปัตตะเลี่ยนไถก็ทำได้ แต่การตัดขนแกะของกลุ่ม จำเป็นต้องตัดท่ามกลางทุ่งหญ้าหรือคอก ไม่มีไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะการตัดขนแกะด้วยกรรไกร

ขนแกะที่เสร็จกระบวนการ

ขั้นตอนการทำ

ขั้นตอนที่ 1 การตัดขนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงอากาศร้อน

ขั้นตอนที่ 2 ทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดเบื้องต้นโดยการซักน้ำเปล่า จากนั้นนำไปซักอีกครั้งโดยใช้ผงซักฟอกหรือแชมพู แล้วนำไปตากให้แห้ง 2-3 วัน

ขั้นตอนที่ 3 นำขนแกะที่แห้งแล้วไปต้ม อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อกำจัดไขมันที่ขนแกะออกให้หมด

ขั้นตอนที่ 4 ทำให้ฟูละเอียด โดยการนำขนแกะแห้งมาตัดแต่งเลือกเอาเศษหนัง เศษผง หรือเศษหญ้า ที่หลงเหลือออกให้หมด หลังจากนั้นดึงยืดเพื่อให้มีความนุ่ม และใช้แปรงหวีจนขนแกะฟูละเอียด

ขั้นตอนที่ 5 ปั่นเป็นเส้น นำขนที่แปรงจนฟู แล้วมาปั่นเป็นเส้นยาว

ขั้นตอนที่ 6 ทำผลิตภัณฑ์ โดยนำเส้นด้าย ไปดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจจะทอผสมกับเส้นด้ายจากฝ้าย

ในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อนำไปทอเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้สอยประเภทต่างๆ จึงนำไปจำหน่าย

การจำหน่าย กลุ่มนำไปฝากจำหน่ายไว้กับโครงการหลวง หรือ ศูนย์ศิลปาชีพของภาคเหนือ ในราคาย่อมเยา โดยหากเป็นขนแกะทอมือ 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาจะแพงกว่า ขนแกะผสมฝ้ายทอมือ 3-4 เท่า

ผลิตภัณฑ์ที่นิยมผลิตจากขนแกะทอมือ ได้แก่ ผ้าคุลมไหล่ ผ้าพันคอ และย่าม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง ถือว่าเป็นกลุ่มสตรีที่มีความเข้มแข็ง แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ มีไม่กี่หลังคาเรือน แต่ความเข้มแข็งของการรวมกลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และการยังชีพของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี

สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณพิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดง หมู่ที่ 5 บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 084-948-9127