เทพทาโร มนต์เสน่ห์…ไม้เนื้อหอม

ชื่อสามัญ : เทพทาโร (Safrol laurel)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.
วงศ์ : LAURACEAE

“…เต็งแต้วแก้วกาหลง บานบุษบงส่งกลิ่นอาย
หอมอยู่ไม่รู้หาย คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตราตรู
มลิวันพรรณจิกจวง ดอกเปนพวงร่วงเรณู
หอมมาน่าเอ็นดู ชูชื่นจิตรคิดวนิดา”
(บทเห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

ทรงพุ่มที่หนาทึบ

“จวง” หรือ “จวงหอม” เป็นไม้หอมที่มีการกล่าวถึงตั้งแต่โบราณกาล ผู้เขียนเคยได้ยินแต่ชื่อ และไม่เคยรู้มาก่อนว่า จวง หรือ จวงหอม ที่คนใต้เรียกนั้นคือต้นเดียวกับ “เทพทาโร” นั่นเอง

เมื่อเดือนก่อนที่จะมีการปิดเมือง ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเห็นต้นใหญ่ๆ ที่จังหวัดชุมพรโดยบังเอิญ รู้สึกตื่นเต้น และแปลกใจเป็นอย่างมากที่ต้นใหญ่ขนาดนี้ยังมีหลงเหลืออยู่อีก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะโดนโค่นไม่เหลือแม้แต่ตอ และราก… ณ เวลานี้ เทพทาโร เป็นสมุนไพรไทยในจำนวน 22 ชนิด ที่อยู่ใน “ภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

เนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอม จึงเป็นที่นิยมในการนำมาแกะสลัก ทำของใช้ ของตกแต่งบ้าน ส่วนเศษไม้ที่เหลือก็นำมากลั่นน้ำมันหอมระเหย เมื่อขยี้ใบ หรือถากต้นและเปลือก ดมดูจะมีกลิ่นมิ้นต์ หรือกลิ่นน้ำมันยูคาลิปตัส มันเป็นความหอมที่มีเสน่ห์…สไตล์พืชวงศ์อบเชย หรือการบูร ต้องขอบคุณ “หญ้าแฝก เทวา” น้องในกลุ่มไม้ป่าที่แนะนำให้ไปเจอกับต้นไม้ต้นนี้ และน้องไก่ “เกษตร ธรรมาภิวัฒน์” ผู้จุดประกายให้ผู้เขียนอยากจะศึกษาวิจัย และอยากมีสวนป่าเทพทาโรเป็นของตัวเอง

เทพทาโร เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำ จังหวัดพังงา ทุกส่วนของลำต้นมีกลิ่นหอม ตั้งแต่ใบ เนื้อไม้ เปลือกต้น ผล ดอก ราก และเปลือกราก

ใบ (หน้า)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เทพทาโร อยู่ในสกุลอบเชย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ สีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาเข้ม หรือสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตามยาว ลำต้นกิ่งอ่อนเรียว เกลี้ยง และมักมีคราบขาว ใบอ่อนสีชมพู

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เวียนสลับ รูปรีแกมรูปไข่ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ใต้ใบเป็นคราบขาว อมเทา ใบแก่มีสีแดง เส้นใบ 3-7 คู่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบถึงมน กว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก้านใบเรียวเล็ก สีเขียวอ่อน อมเหลือง หรือแดง ยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร

ใบ (หลัง)

ดอก สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง เป็นกระจุก ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร 1 ช่อ มีประมาณ 13-14 ดอก ก้านช่อดอกเรียวยาว ประมาณ 5.0–6.0 เซนติเมตร และเล็กมาก

ผล มีขนาดเล็ก เกลี้ยง ทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียวยาว ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ไม่มีซี่หยักติดอยู่ ก้านผลส่วนบนพองออก

ผลอ่อน
ผลสุก

เนื้อไม้ จากลำต้นและราก มีสีเทาแกมน้ำตาล เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรงหรือเสี้ยนสนเล็กน้อย เนื้อเหนียว แข็งพอประมาณ เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

การขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเมล็ด ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศที่พบมากในธรรมชาติ คือ การแตกต้นอ่อนจากราก และโดยวิธีการปักชำ และการตอนกิ่ง ต้นกล้าจากเมล็ดในธรรมชาติพบได้น้อยมาก เพราะเมล็ดเทพทาโรจะงอกได้เพียง 5-10% ในระยะเวลาถึง 90 วัน

ฉบับหน้าจะนำเสนองานวิจัยเรื่องการเพาะเมล็ดที่ว่ายากยิ่งเขาทำกันยังไง และการขยายพันธุ์แบบอื่นๆ เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การชำ ฯลฯ และงานวิจัยเรื่องกลิ่นของเทพทาโร มาเพิ่มเติมสำหรับท่านที่สนใจ…ติดตามตอนที่ 2 นะคะ…

เรือนยอด

การนำไปใช้ประโยชน์

เทพทาโร มีการนำไปใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมทางศาสนามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยใช้เป็นเครื่องหอม เช่น “การบูชาจักรรัตนะ” ดังปรากฏในไตรภูมิพระร่วง พ.ศ. 1888 ดังนี้

“ทากระแจงจวงจันทร์น้ำหอม และนำเอาข้าวตอกแลดอกไม้บุปผชาติ เทียน และธูปวาสวาลา และกระแจะจวงจันทน์น้ำมันหอม มาไว้มานพคำรพวันหนา การบูชาแก่กงจักรแล้วนั้น”

เปลือกลำต้น

เปลือก มีน้ำมันหอมระเหย ใช้ประโยชน์ทางยา

เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้าง เครื่องเรือน ของใช้ เช่น หีบใส่ผ้า เชื่อว่าป้องกันตัวเรือด ตัวไร มอด และแมลงต่างๆ ใช้ทำหิ้งพระ และงานแกะสลักทำประดิษฐกรรมต่างๆ

ใบ มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสดได้ มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยใช้ใส่ในแกงมัสมั่นแทนใบกระวาน หรือตากแห้งชงเป็นชาสมุนไพรตามกลิ่นของใบ 4 กลิ่น เพื่อดื่มบำรุงร่างกาย

น้ำมันหอมระเหย จากเทพทาโรสามารถทำน้ำมันนวด แก้ปวดเมื่อย นวดสปา หรือยาดมได้ ในธุรกิจเสริมความงามใช้ทำเครื่องหอมประทินผิว เช่น สบู่ ในพิธีกรรมทางศาสนาใช้ทำธูปหอม และใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาโอสถพระนารายณ์

ช่วงเวลาที่ผ่านมา…ยางพารา และปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี เทพทาโรจึงถูกตัดทิ้งเป็นจำนวนมากเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ในการเพาะปลูก แต่มาช่วงหลังมีการนำเทพทาโรไปใช้ในงานแกะสลัก ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย ใช้เผาให้เกิดกลิ่นหอมในธุรกิจสปา จึงทำให้มีการตัดโค่นต้นจากป่าธรรมชาติมากขึ้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า เทพทาโร เป็นพันธุ์ไม้ที่ควรจะส่งเสริมให้ปลูกเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้เทพทาโรในป่าธรรมชาติ และเพื่อส่งเสริมการใช้ไม้เทพทาโรจากสวนป่าภายใต้การจัดการที่เหมาะสม และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และยั่งยืน
มนต์เสน่ห์ของกลิ่นเทพทาโร…ทำให้ผู้เขียนอยากจะปลูกสร้างสวนป่าเสียเหลือเกิน อยากมีต้นใหญ่ๆ เก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม ให้ผู้คนละแวกนั้นได้ดื่มด่ำดมกลิ่นหอมของดอกทั่วถ้วนกัน

เทพทาโร ณ วัดจันทราวาส

หากท่านใดอยากชม ต้นเทพทาโรต้นใหญ่ ให้เดินทางไปที่ “วัดจันทราวาส” อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งทางไปวัดอาจต้องขึ้นเขาชันสักหน่อย แต่ก็จะได้ชมทัศนียภาพของจังหวัดชุมพรไปด้วย หากต้องการชม สวนป่าเทพทาโรของคุณเกษตร ก็ติดต่อมานะคะ จะพาไป เพราะไม่เคยไปเหมือนกัน…(ฮา…)

แต่ถ้าอยากดมกลิ่นที่หอมรัญจวน…อยากชมงานแกะสลักจากตอไม้ ให้เดินทางลงใต้ไปที่จังหวัดตรัง “วังเทพธาโร” หรือ “แหล่งที่ห้อมล้อมไปด้วยไม้เทพทาโร”…ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้คัดสรรให้เป็น 1 ใน 14 สิ่งที่ผู้ไปเมืองตรัง “ห้ามพลาดชม”

สำหรับคนที่สนใจกล้าไม้อดใจรออีกสักนิด เพราะผู้เขียนกำลัง…ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถึงแม้งานเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ก็ติดต่อจองไว้ก่อนได้นะ…ที่อีเมล : [email protected] พบกันใหม่ฉบับหน้า…สวัสดี…

เทพทาโรกลางป่า

เอกสารอ้างอิง
สมเกียรติ กลั่นกลิ่น ชูจิตร อนันตโชค ทรรศนีย์ พัฒนเสรี มโนชญ์ มาตรพลากร สมบูรณ์ บุญยืน คงศักดิ์ มีแก้ว พรเทพ เหมือนพงษ์. 2552. เทพทาโร.
แผนงานวิจัยและพัฒนาไม้หอมเพื่อเศรษฐกิจ, สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้, กรมป่าไม้. 31 น.
พิชญดา ฉายแสง บงกชรัตนา ปาติยนต์ และนุจารี ประสิทธิ์พันธ์. 2552. การผลิตน้ำมันหอมระเหยจากเศษรากไม้เทพทาโร (Cinnamomum porrectum (Roxb) Kosterm.). ว. วิทยา. กษ. 40(3) (พิเศษ) : 329-332.
ไม้เทพทาโร…ของดีเมืองตรัง. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง. ที่มา https://trang.mots.go.th/news_view.php?nid=541

……………………….

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่