กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร พลิกวิกฤตราคายางตกต่ำ ใช้เวลาว่างจักสานต้นคลุ้ม สร้างงาน สร้างเงิน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง จัดตั้งเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2555 สมาชิกเริ่มจัดตั้งมี 90 คน สมาชิกปัจจุบัน 65 คน (เฉลี่ยอายุ 45 ปี) ประธานกลุ่ม นางสาวอรุณี เกาะกลาง อายุ 43 ปี ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ 3 หมู่ที่ 4ตําบลนาทอน อําเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทําสวนยางพารา เมื่อปี พ.ศ. 2555 ราคายางพาราตกต่ำ ประกอบกับในพื้นที่มีฝนตกชุกตลอดปี ไม่สามารถกรีดยางได้ทุกวัน ทําให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงได้รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เพื่อให้สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข มีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว โดยการทํากิจกรรมจักสานต้นคลุ้ม เนื่องจากต้นคลุ้มเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นซึ่งพบมากในสวนยางพารา ประกอบกับมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และสมาชิกในครอบครัวสามารถทําได้ทุกคน

เมื่อยามว่างจากงานในสวนไร่นา งานประจํา หรือหลังจากเลิกเรียน (ฝาชี 1 ใบ สร้างงานได้ 5 คน) และจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง”

ปัจจุบัน กิจกรรมจักสานต้นคลุ้มเป็นอาชีพหลักและรายได้หลักของสมาชิกกลุ่ม และมีการขยายผลต่อยอด โดยการนําภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย และตามความต้องการของตลาด ซึ่งเดิมมีเฉพาะฝาชีและตะกร้า ปัจจุบัน ได้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ได้แก่ โคมไฟ กระเป๋า และหมวก เป็นต้น ได้จดทะเบียนการค้าภายใต้ชื่อ คลุ้มวัง และขอจดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ลวดลาย หมวกจากต้นคลุ้มหมวกลายสอง หมายถึง หมวกที่ขึ้นรูปสานเป็นลายสอง เพราะลายสองจะมีความโปร่งมากกว่า ทําให้มีรูระบายมากกว่าลายขัดธรรมดา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

ความสามารถในการบริหาร
และการจัดการของสถาบัน

โครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มมีความเข้มแข็ง มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระ 4 ปี มีคณะกรรมการกลุ่มย่อย แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แตกต่างกัน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับกลุ่ม มีการจัดการระบบ เอกสารมีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีการแบ่งผลประโยชน์จากกิจกรรมกลุ่ม การจัดสรรกําไรสุทธิประจําปี ดังนี้

– ร้อยละ 50 เป็นเงินทุนหมุนเวียน

– ร้อยละ 15 เป็นค่าซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ ที่ชํารุดเสียหาย

– ร้อยละ 15 เพื่อสวัสดิการของสมาชิก

– ร้อยละ 90 เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ

– ร้อยละ 90 เป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ

จากการดําเนินกิจกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทําให้กลุ่มมีความเจริญเติบโตและมีความมั่นคงทางการเงิน ดังนี้

– เงินทุนหมุนเวียน 5,741,550 บาท

– ทุนเรือนหุ้น 204,300 บาท

– เงินฝากออมทรัพย์ของกลุ่ม 96,200 บาท

– รายได้เฉลี่ยของสมาชิก 135,500 บาท/คน/ปี

– ทรัพย์สินทั้งหมด 5,206,500 บาท

– ไม่มีหนี้สิน

ปัจจุบัน กิจกรรมของกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดําเนิน กิจกรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มจัดทำการเกษตรให้มีความสมบรูณ์ ทําให้มีอาหารบริโภคอย่างพอเพียงและ ปลอดภัย การส่งเสริมลดการใช้สารเคมีในทําการเกษตร โดยส่งเสริมการทําปุ๋ยจากวัสดุและเศษอาหารในครัวเรือน การส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อการผลิต สามารถลดปัญหาเงินกู้นอกระบบให้แก่สมาชิกกลุ่มและชุมชน ได้จัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกกลุ่ม ทําให้เกิดความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น การจัดตั้งศูนย์แสดงและจําหน่ายสินค้าของกลุ่ม ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านวังตง” ซึ่งเริ่มต้นได้ร่วมกันปลูกป่าชายเลน จํานวน 1,500 ต้น จนกระทั่ง ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชายเลน 1,695 ไร่ ทําให้ป่าชายเลนกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม การส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์ ซึ่งกลุ่มเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Satun Geopark) ของอําเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องการจักสานต้นคลุ้ม ซึ่งต้นคลุ้มอยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีโลก (Satun Geopark) มาอย่างยาวนาน จนก่อเกิดภูมิปัญญาในการนําต้นคลุ้มมาใช้ประโยชน์ดังเช่นปัจจุบัน และมีโฮมสเตย์เพื่อบริการนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน โดยการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มและชุมชนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ปีก เลี้ยงปู และเลี้ยงปลา เป็นต้น ไว้บริโภคในครัวเรือน และเก็บสํารองเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป และนําผลผลิตจากครัวเรือนมาปรุงประกอบจัดเลี้ยงสมาชิกกลุ่ม ตลอดจนนําไปประกอบเป็นอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชน ซึ่งจากการดําเนินกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนี้

– มีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยครัวเรือนละ 135,500 บาท ต่อปี

– มีรายจ่ายลดลง เฉลี่ยครัวเรือนละ 23,700 บาท ต่อปี

– มีเงินออม เฉลี่ยครัวเรือนละ 29,500 บาท ต่อปี

 

การทํากิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านสาธารณประโยชน์

– การเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้

– การใช้สถานที่ตั้งกลุ่ม เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรม/ดูงาน และเป็นศูนย์กลางประสานงานในชุมชน

– ร่วมจัดงาน/บําเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกชุมชน

– สมาชิกกลุ่ม เป็น “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.”

 

ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– การอนุรักษ์พันธุ์ต้นคลุ้ม

– การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต

– การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน/การสร้างป่าชุมชน

– การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเหมาะสมและปลูกทดแทน

ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจําปี 2562 สรุปจุดเด่นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  1. มิติด้านคุณภาพชีวิตของสมาชิกกลุ่ม

– มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน

– มีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น

– สภาพบ้านเรือนจัดเป็นสัดส่วน น่าอยู่อาศัย

– เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในชุมชน

– ไม่มีปัญหายาเสพติดในชุมชน

  1. มิติด้านเศรษฐกิจของกลุ่ม

– สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับสมาชิกกลุ่มคนในชุมชนและนอกชุมชน ไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน

– ช่วยลดปัญหาการว่างงานในชุมชน

– มีเงินออมของกลุ่ม ไม่มีหนี้สิน

– ไม่ต้องอาศัยแหล่งทุนภายนอกในการขยายกิจกรรม

  1. มิติด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของกลุ่ม

– บริหารในรูปแบบคณะกรรมการมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก

– สมาชิกและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่มระดับมาก

– ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อทําการผลิต และส่งเสริมการปลูกทดแทน

– สร้างทายาทสืบทอดกิจกรรมการจักสานต้นคลุ้ม