“ทับทิมสยาม” ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง จากยะรัง ถึงปากพนัง

ทับทิมสยาม ไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่ปากพนัง หากแต่เป็นส้มโอพันธุ์พูโก หรือ ปูโก พืชท้องถิ่นเมืองของบ้านปราโอ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ร่วมปลูกกับส้มโอพันธุ์อื่นๆ เช่น ขาวทองดี โรตี บานหยา เป็นต้น รวมไปถึงการทำเป็นสวนผสมผลไม้ชนิดอื่นๆ ไปพร้อมด้วย ทั้ง มังคุด ทุเรียน ลองกอง เงาะ เป็นต้น มีข้อมูลที่ คุณวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี เล่าถึง คุณหวัง มัสแหละ นำกิ่งพันธุ์มาปลูกเป็นรายแรก ในปี พ.ศ. 2523 จากนั้นก็แพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันต่อๆ มา จนถึงเมื่อราวปี พ.ศ. 2544 คุณอัมพร สวัสดิ์สุข บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 15 บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย เกษตรกรเมืองปากพนังเริ่มปลูกในพื้นที่ของตนเอง ต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ที่บ้านแสงวิมาน หมู่ที่ 13 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยปกติแล้ว พื้นที่ในเมืองนครศรีธรรมราชก็มีพืชท้องถิ่นอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ตลอดจนส้มโออยู่แล้ว แต่เมื่อได้ทดลองนำกิ่งพันธุ์ส้มโอชนิดใหม่มาปลูก ก็ดูจะให้ผลผลิตดี โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอปากพนัง ที่มีสภาพเป็นดินเหนียว มีธาตุแคลเซียมในดินสูง ภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับพื้นที่แหล่งกำเนิด

แนวปฏิบัติในการปลูกก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร มีเพียงต้องยกร่องให้ระบายน้ำได้ดี พยายามไม่ให้น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ราว 1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 30 ต้น การดูแลรักษาง่าย ทนต่อโรค ให้ผลผลิตได้ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี และออกดอกติดผลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในช่วง 3 ปีแรก อาจเก็บผลผลิตได้ไม่มาก ประมาณ 20 ผล ต่อต้น แต่เมื่อต้นพันธุ์เจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ เก็บผลได้ถึงประมาณ 250-300 ผล ต่อต้น

แต่เดิมนั้น พื้นที่อำเภอปากพนังโดยทั่วไป นิยมปลูกส้มโอพันธุ์ขาวจัน ขาวพวง ทองดี เนื่องจากได้ผลผลิตดี รสชาติหวานอมเปรี้ยว เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะพื้นที่บ้านแสงวิมาน มีชาวราชบุรีอพยพมาตั้งถิ่นฐาน เล่ากันว่า คุณสมาน แสงวิมาน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องส้มโอแห่งบ้านแสงวิมาน เป็นผู้ริเริ่มปลูกส้มโอ เรียกกันว่า “พันธุ์แสงวิมาน” แต่เมื่อนำพันธุ์ใหม่มาปลูกและมีคนนิยม จึงมุ่งมั่นดำเนินการปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามอย่างจริงจัง

สีสันของส้มโอทับทิมสยามที่มีสีชมพูเข้มอมแดง ชวนให้รับประทานอย่

ลักษณะพิเศษของพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามปากพนังนั้น ใบค่อนข้างกว้าง ปลายใบแหลม ใต้ใบมีขนอ่อนนุ่ม ผลกลมมีจุกคล้ายหลอดไฟ ก้นผลเว้าเล็กน้อย ผลโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 18-25 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน มีสีเขียวนวลอมเหลือง ต่อมน้ำมันละเอียด ผิวผลมีขนอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมทั่วทั้งผล เมื่อจับผลเบาๆ จะรู้สึกผิวเปลือกนุ่ม เปลือกบาง ถ้าเก็บเกี่ยวหรือขนส่งไม่ดีจะซ้ำง่าย เปลือกในและผนังกลีบเป็นสีชมพูอ่อนหนาราว 1 เซนติเมตร เมื่อสุกเต็มที่ บริเวณจุดกึ่งกลางผลจะมีสีน้ำตาลเข้ม และขนบริเวณก้นผลจะหายไป เนื้อผลหรือกุ้งมีขนาดเล็กเบียดเสียดกันจนแน่น ไม่แตกง่าย ไม่แฉะน้ำ แห้งกรอบ เนื้อสีชมพูถึงแดงคล้ายทับทิม เมล็ดเรียงชิดแกนผล รสชาติหวานและหอมนุ่ม ไม่มีรสขมติดลิ้น

คุณ ราตรี จันทร์ทองแก้ว กำลังเล่าเรื่อง

กระบวนการปลูกนั้น คุณป้าราตรี จันทร์ทองแก้ว แห่งตำบลคลองน้อย เล่าให้ฟังว่า “ไม่ยาก ปลูกได้ทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม สำหรับบริเวณที่ลุ่มควรยกร่องปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-6 เมตร ไม่ต้องขุดหลุมให้ลึกมาก ควรผสมดินด้วยปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ในด้านการตัดแต่งกิ่ง ควรเริ่มตัดแต่งกิ่งเมื่อต้นส้มมีอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป และให้ผลผลิตแล้ว ควรตัดโดยรักษาพุ่มด้านข้าง และตัดส่วนยอดให้โปร่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้แสงแดดเข้าถึงภายในทรงพุ่ม ทาแผลที่ตัดด้วยปูนแดง ปูนขาว หรือสีน้ำมัน แล้วควรฉีดพ่นด้วยสารป้องกันเชื้อรา ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ให้น้ำสม่ำเสมอ เมื่อออกดอกควรงดให้น้ำช่อดอก เป็นผลแล้วจึงให้น้ำทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนถึงระดับปกติ

ต้นส้มโอ

สำหรับระยะเวลาที่ควรเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่เหมาะสมนั้น คุณเพ็ญ แห่งสวนเพ็ญ กล่าวเสริมว่า “ควรพิจารณาดูหลังจากดอกบานประมาณ 8-9 เดือน สังเกตต่อมน้ำมันรอบจุดสีน้ำตาลที่ก้นผล จะห่าง สีเปลือกรอบจุดสีน้ำตาลเป็นสีเขียวนวล หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ถ้านำมาผึ่งไว้ 1-3 วัน รสชาติจะดีขึ้น และแกะเนื้อง่าย”

“แต่ควรระมัดระวังตอนใช้กรรไกรตัดก้านขั้วผล ต้องมีถุงผ้ารองรับ เพื่อป้องกันผลตกกระแทกพื้น เมื่อได้ผลมาแล้วนำผลใส่แข่ง หรือตะกร้าสะอาดรวบรวมไว้ในที่ร่ม…”

คุณจอยเจ้าของแผงขายส้มโอทับทิมสยามอีกแผงหนึ่ง

กระบวนการจำหน่ายนั้น ลุงเท่ง แห่งบ้านบางจาก บอกถึงกลวิธีในการดำเนินการว่าต้องคัดผลขนาดใหญ่ (น้ำหนักมากกว่า 1.5 กิโลกรัม) กลาง (น้ำหนัก 1.3-1.4 กิโลกรัม) และเล็ก (น้ำหนัก 1.1-1.2 กิโลกรัม) ส่งตลาดทั่วไป ซึ่งมักเป็นตลาดการค้าเสรี ที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันเอง ปกติแล้วผู้ขายจะเป็นผู้กำหนดราคา การจำหน่าย มีทั้งจำหน่ายในสวน จำหน่ายผ่านคนกลาง และจำหน่ายปลีก ที่สำคัญ มีการจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศ เช่น ตลาด อ.ต.ก.ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่ ปัตตานี ยะลา สงขลา เป็นต้น สำหรับตลาดต่างประเทศ ส่งไป ไต้หวัน จีน มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ เป็นหลัก

เกี่ยวกับพื้นที่ที่ใช้ปลูกนั้น คุณอัมพร สวัสดิ์สุข เจ้าของไร่ “สวัสดิ์สุข” ให้ข้อมูลว่า มีการปลูกในหมู่บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย และอีกหลายบ้านในตำบลบางจาก มีราว 7,000 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ เมื่อต้นพันธุ์มีอายุเกินกว่า 3 ปี จนถึงราว 10 ปี จะให้ผลผลิตราวไร่ละเกือบ 2,000 ผล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบำรุงดิน การตกแต่งกิ่งเป็นสำคัญ” คุณอัมพร ยังกล่าวเน้นถึงกระบวนการดูแลรักษาหลังจากตัดผลมาแล้วว่า “ต้องบรรจงรองพื้นด้วยกระสอบป่าน เพื่อป้องกันความชื้น ไม่ให้ผลส้มโอมีผิวเป็นสีดำ ควรเก็บไว้สักราว 3 วัน จะทำให้ส้มโอมีรสหวาน ส่วนใหญ่แล้ว ผลผลิตควรเก็บในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน หรือประมาณปลายฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีน้ำฝนน้อย ส่งผลให้ส้มโอทับทิมสยามมีปริมาณมาก ผลโต และรสหวานเพิ่มขึ้น

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2020