คนลพบุรีทอเสื่อกก ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมรายได้ครัวเรือน

ต้นกก เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งเจริญเติบโตเป็นกอ มีลำต้นใต้ดินและเหนือดินเป็นก้านกลมแข็ง สูงกว่า 2 เมตร ในอดีตปู่ย่าตายายนำต้นกกมาทอเป็นเสื่อใช้ปูนั่งนอนในครัวเรือนหรือเป็นของฝาก วันนี้ลูกหลานชาวตำบลท่าดินดำ ที่ลพบุรี ได้ต่อยอดการทอเสื่อกกในเชิงธุรกิจ เพื่อฟื้นฟูแนวคิดและภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เพื่อใช้เวลาว่างสู้กับภัยแล้งด้วยการทำเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้ครัวเรือนมีความมั่นคงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่แปรปรวน เป็นแนวคิดที่น่าสนใจวันนี้ จึงนำเรื่อง ทอเสื่อกก ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมรายได้ครัวเรือน มาบอกเล่าสู่กัน

นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วออกตากแดดใ

คุณแสนพลอย พรมหหนองแสน เกษตรอำเภอชัยบาดาล เล่าให้ฟังว่า ตำบลท่าดินดำมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินดำบางส่วนเป็นดินแดงปนหิน วิถีเกษตรจะอาศัยน้ำจากน้ำฝน จากแหล่งน้ำธรรมชาติและใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นแต่มีขนาดเล็ก เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำจึงไม่ค่อยพอใช้

การพัฒนาด้านเกษตรได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลาย ได้แก่ ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อยหรือพืชผัก ทำการปศุสัตว์หลายชนิด ได้แก่ เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงสุกร เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงวัวนม เลี้ยงกบหรือจิ้งหรีด และการพัฒนาอาชีพเสริม ได้สนับสนุนให้แม่บ้านเกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มทอเสื่อกก เพื่อใช้เวลาว่างในช่วงวิกฤตแล้งด้วยการนำต้นกกที่มีในท้องถิ่นมาทอเสื่อเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นอาชีพเสริมที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนคุ้มทุนและเพื่อการยกระดับรายได้ครัวเรือนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

คุณปรีดา สุทธิสาร นักวิชาการพัฒนาชุมชน เล่าให้ฟังว่า การฟื้นฟูอาชีพทอเสื่อกกเป็นทางเลือกการเพิ่มรายได้ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชัยบาดาล กรมพัฒนาชุมชน สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อให้เป็นต้นทุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มาใช้ประกอบการทอเสื่อกก เชิญวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนารูปแบบเสื่อกกให้สอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้เกษตรกรทำเป็นอาชีพเสริม สนับสนุนจัดหาตลาดเพื่อรองรับการจำหน่ายเสื่อกก เพื่อเกษตรกรเพิ่มรายได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สมาชิกกกภัณเพิ่มรายได้

คุณอมรเทพ เพียงเฮียง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าดินดำ เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านท่าดินดำใช้เสื่อกกเก่าและเริ่มชำรุด อบต.ท่าดินดำจึงร่วมกับหลายหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมให้แม่บ้านเกษตรกรรวมกลุ่มนำต้นกกที่มีอยู่มากในท้องถิ่นมาทอเสื่อ เพื่อฟื้นฟูการทอเสื่อกกที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อใช้เวลาว่างหลังการทำนา ร่วมกันพัฒนาการทอเสื่อกกให้ได้รูปแบบที่สวยงามเป็นผลิตภัณฑ์คู่เมือง เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตเกษตรและเสื่อกก ที่ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งหรือให้เกษตรกรเพิ่มรายได้และมีความมั่นคงในวิถีชีวิต

สมาชิกกกภัณเพิ่มรายได้

คุณป้าแพง พลกล้า ที่ปรึกษากลุ่มฟื้นฟูอาชีพทอเสื่อกก ตำบลท่าดินดำ เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรที่เสร็จจากทำนาปีแล้วบางคนก็ปลูกพืชไร่ เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังหรืออ้อย ทำการเลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ เลี้ยงวัวนม เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อหรือจิ้งหรีด ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าดินดำ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชัยบาดาล สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล ได้มาสนับสนุนให้แม่บ้านเกษตรกรรวมกลุ่มทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริม โดยใช้เวลาว่างไปนำต้นกกที่มีจำนวนมากมาจัดการทอเสื่อเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ครัวเรือนก้าวสู่วิถียังชีพได้อย่างมั่นคง

การรวมกลุ่ม แม่บ้านเกษตรกรในชุมชนได้รวมตัวกันแล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มฟื้นฟูอาชีพทอเสื่อกก ตำบลท่าดินดำ ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน มีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มเป็นศูนย์กลางรองรับความรู้และเทคโนโลยีการทอเสื่อกก พัฒนาการออกแบบ การสร้างลวดลาย สีสันที่สอดคล้องภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อผลิตเสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ตลาดต้องการ เพื่อใช้เวลาว่างสร้างงานสร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชนมีความเข้มแข็ง

เสื่อกกลวดลายเป็นตัวหนังสือขาย 650 บาท

เตรียมต้นกก ใช้มีดขนาดเล็กตัดต้นกกเกือบถึงโคนต้น ตัดส่วนที่เป็นดอกออกทิ้ง นำเข้าโรงเรือนคัดแยกขนาดความยาวตั้งแต่ขนาด 200 เซนติเมตร 180 เซนติเมตร 70 เซนติเมตร มัดแยกตามขนาดเตรียมนำไปกรีดเป็นเส้น

กรีดต้นกกเป็นเส้น ใช้มีดปลายแหลมกรีดแบ่งครึ่งต้นกกทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ให้เป็นเส้นกก จากนั้นนำเส้นกกไปวางแผ่เรียงเป็นแนวยาวตากแดดให้แห้ง ใช้เวลาตากแดด 2-5 วัน เส้นกกก็จะแห้งสนิท

ย้อมสีเส้นกก นำปี๊บใหญ่ตั้งบนเตาไฟใส่น้ำต้มให้เดือด ใส่สีเคมีลงไปผสมให้เข้ากัน นำเส้นกกที่เตรียมไว้ใส่ลงไปย้อม 10-15 นาที เส้นกกจะดูดซึมสีเข้าไปในเนื้อเส้นกกทั่วกัน นำเส้นกกไปตากแดดให้แห้งสนิท

การทอเสื่อ จะทอกัน 2 คน คนที่หนึ่งเป็นคนทอ คนที่ 2 เป็นคนสอดเส้นกก การทอต้องคว่ำฟืมเพื่อให้มีช่องว่างสำหรับนำเส้นกก (ทำให้นุ่มไว้แล้ว) แนบกับไม้สอดแล้วสอดไปตามช่องระหว่างให้สุดริมเชือกเอ็นดึงไม้สอดกลับ ผู้ทอจะกระตุกฟืมเข้าหาตัวให้เส้นกกแนบแน่น หงายฟืมนำเส้นกกแนบกับไม้สอดแล้วสอดไปตามช่องว่างให้สุดดึงไม้สอดกลับ ผู้ทอจะกระตุกฟืมเข้าหาตัวให้เส้นกกแนบแน่น ทำการไพริมเสื่อทางด้านซ้ายมือและทำสลับกับด้านขวามือด้วยการใช้ปลายเส้นกกม้วนงอลงแล้วสอดพับกับเชือกขัดไว้ให้แน่น ทำเช่นนี้ไปกระทั่งทอเสร็จได้เสื่อกกผืนงามที่ต้องการ ตัดเชือกเอ็นทางตีนเสื่อนำออกจากโฮง มัดเอ็นที่ปลายเสื่อเพื่อป้องกันเสื่อลุ่ย เสร็จแล้วนำเสื่อไปตากแดดให้แห้งสนิท พับเก็บรักษาไว้รอจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสื่อกกคุณภาพมีทั้งลายขิด ลายมัดหมี่ หรือลายธรรมดา

ผลิตภัณฑ์เสื่อกกคุณภาพพับเก็บรักษาไว้รอจำหน่าย

คุณป้าคำไถ่ สิมลาโคตร เลขานุการกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า กลุ่มได้นำเสื่อกกมาประดิษฐ์เป็นหมวก แผ่นรองวางแก้วน้ำ วางจานอาหาร หรือกล่องใส่กระดาษเช็ดปาก ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและใช้งานได้หลากหลาย

ตลาด วันเสาร์-อาทิตย์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชัยบาดาลนำไปขายที่ตลาดประชารัฐ ตำบลชัยนารายณ์ ที่ตลาดประชารัฐออนไลน์ชัยบาดาล หรือขายที่กลุ่ม เสื่อกกแต่ละผืนมีลวดลายสีสันแตกต่างกัน ราคาขายก็แตกต่างกัน เช่น เสื่อกกที่มีตัวหนังสือบนผืนเสื่อจะขาย 650 บาทขึ้นไป ถ้าเป็นลายธรรมดาขาย 180 บาทขึ้นไป เสื่อแต่ละผืนมีความกว้างและยาวตั้งแต่ 1×2 เมตรขึ้นไป สำหรับสิ่งประดิษฐ์ เช่น หมวกใช้สวมหล่อๆ จะขาย 200 บาท

จากการรวมกลุ่มฟื้นฟูอาชีพทอเสื่อกก ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยที่ 1,600 บาท ต่อเดือน ต่อครัวเรือน แม้จะเป็นรายได้ไม่มากแต่ก็ทำให้สมาชิกแม่บ้านเกษตรกรยังชีพได้อย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

หมวกกกลายงามราคา 200 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณป้าคำไถ่ สิมลาโคตร กลุ่มฟื้นฟูอาชีพทอเสื่อกก หมู่ที่ 1 บ้านท่าดินดำ ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. (087) 119-0520 หรือ คุณอมรเทพ เพียงเฮียง นายก อบต.ท่าดินดำ โทร. (036) 791-053 หรือ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. (087) 959-5433 ก็ได้ครับ