“กลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว” หนองบัวลำภู มีปลาส้มเงินล้าน จากแหล่งน้ำธรรมชาติ

เพราะวิกฤต แปรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้

ปลายปี 2545 เกิดวิกฤตน้ำทะลักจากเขื่อนอุบลรัตน์ท่วมเข้าชุมชนหมู่ที่ 5 ของบ้านห้วยบง ตำบนโนนเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลให้ “ปลา” มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่ชาวบ้านจับปลามาประกอบอาหารจำนวนหนึ่งแล้ว ก็ยังมีปลาจำนวนมากที่หลงเหลือจากที่จับขึ้นมาจากแหล่งน้ำอีกจำนวนมาก แม่บ้านหลายหลังคาเรือนจึงเห็นควรนำปลาเหล่านั้นมาแปรรูป เพราะมีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่การเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน

คุณวิทยา ประเสริฐสังข์ ประมงอำเภอโนนสัง คุณนารี เมยมงคล รองเลขานุการกลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว และ คุณศุภลักษณ์ มูลตรีศรี เกษตรอำเภอโนนสัง (จากซ้ายไปขวา)

แท้จริงแล้ว อาชีพประมง เป็นอาชีพหลักของชาวอำเภอโนนสัง เนื่องจากอำเภอโนนสังมีพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ผ่านมา มีการจัดงานเทศกาลกินปลา ตลาดนัดปลา เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอโนนสัง หลายครั้ง

ส้มไข่ปลาทอด

เมื่อแม่บ้านมองเห็นรายได้จากวิกฤตน้ำหลากเข้าท่วมชุมชนในครั้งนั้น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปปลาจำหน่าย จากกลุ่มเล็กๆ ลงหุ้นกัน หุ้นละ 120 บาท เริ่มจับปลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลานวลจันทร์มาขูดหนังออก นำเนื้อปลาไปห่อด้วยใบตองสด หมักให้เนื้อออกรสเปรี้ยว เป็นการถนอมอาหารด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียกว่า แหนมปลา หรือส้มปลาตอง แบ่งหน้าที่ออกตระเวนขายตามหมู่บ้าน ครั้งละ 5 กิโลกรัม เมื่อขายหมดก็กลับมาทำใหม่ ใช้พื้นที่ของศาลากลางหมู่บ้านดำเนินการ เมื่อเริ่มติดตลาดราว 1 ปีเศษ จึงได้ที่ทำการใหม่ไว้รวมกลุ่มแปรรูปปลา และเพิ่มผลิตภัณฑ์จากเดิมมีเพียงส้มปลาตอง เป็นผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด

ส้มปลาตอง

18 ปีแล้ว ที่สมาชิกของกลุ่มยังคงเหนียวแน่น มีการวางระบบการบริหารจัดการกลุ่มอย่างดี สมาชิกปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 คน ผู้ที่เข้ากลุ่มเพื่อลงแรง 16 คน ทุกคนมีเงินเดือนที่เข้ามาทำงาน ในแต่ละวันทำงาน 10 ชั่วโมง รวมเวลาพัก ส่วนที่เหลือรอเงินปันผลในทุกปี ซึ่งผู้ที่ลงแรง 16 คน จะได้รับเงินปันผลของกลุ่มด้วย

กลุ่มกำหนดกฎระเบียบปฏิบัติและข้อปฏิบัติรวมกัน โดยการตกลงกันของสมาชิกในกลุ่ม และให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น 2 ประเภทด้วยกัน คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการกู้ยืม

คุณนารี เมยมงคล รองเลขานุการกลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ของแม่บ้านเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่มาสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ทั้งยังจ้างแรงงานในชุมชนเดียวกันและชุมชนใกล้เคียง ที่เป็นผู้สูงอายุในการเตรียมวัตถุดิบ เช่น ปอกกระเทียม ขอดเกล็ดปลา โดยจะจ้างเฉพาะช่วงที่มีลูกค้าสั่งผลิตภัณฑ์เข้ามามาก

“ปัจจุบัน เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตหลายกระบวนการ เพราะได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เกี่ยวกับการผลิตหลายรายการ เช่น เครื่องบดเนื้อปลา สำหรับทำปลาส้มสายเดี่ยว จำนวน 2 เครื่อง เครื่องบดเนื้อปลาสำหรับทำหม่ำไส้ปลา เครื่องขอดเกล็ดปลา เครื่องนวดปลาสายเดี่ยว เครื่องผสมวัตถุดิบ เครื่องบดกระเทียม เครื่องผลิตพลังงานทดแทน (แผงโซลาร์เซลล์) เครื่องซีลสุญญากาศ เครื่องปั้นก้อน เป็นต้น”

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ผลิตภัณฑ์ประเภทปลาส้ม ได้แก่ ปลาส้มตัว (ปลาตะเพียน) ปลาส้มสายเดี่ยว ส้มไข่ปลา ส้มปลาตอง ส้มไส้ปลา และปลาส้มแบบชิ้น (ปลาสวาย)
  2. ผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแห้ง ได้แก่ ปลาแดดเดียว (ปลาสวาย) และปลาแผ่น (ปลาวง)

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมของกลุ่ม คือ ปลาส้มตัว (ปลาตะเพียน) และปลาส้มสายเดี่ยว

การได้รับการยอมรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ใดๆ แต่เพราะรสชาติที่ดี ทำให้เกิดความนิยมแบบปากต่อปาก ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจึงได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง มีผู้รู้จักและต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ

กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้นประมาณ 370,000 บาท โดยจัดเก็บไว้กับกลุ่มและออมกับธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มไม่ได้มีหนี้สินกับแหล่งเงินสถาบันการเงินแต่อย่างใด

คุณนารี บอกด้วยว่า กิจกรรมที่ดำเนินของกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นแปรรูปปลา เช่น ปลาส้มตัวปลาตะเพียน ปลาส้มสายเดี่ยว ปลาส้มปลาสวาย หม่ำไส้ปลา หม่ำไข่ปลา ปลาสวายแดดเดียว ปลาขาวสร้อยแดดเดียว เป็นต้น

จุดเด่นของกลุ่ม คือ

– กลุ่มมีการจัดประชุมทุก 15 วัน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการหารือประเด็นต่างๆ ของกลุ่ม อีกทั้งเป็นการสื่อสารถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม และข้อมูลการดำเนินงานของกลุ่มในแต่ละรอบของการประชุม แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยการชี้แจงข้อมูลด้านการเงินของกลุ่มให้สมาชิกทุกคนรับทราบ

– กลุ่มแบ่งกำลังการผลิตออกเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานหลักที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ช่วยในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนในช่วงที่มียอดการสั่งซื้อทั่วๆ ไป และกำลังการผลิตเสริม เป็นการว่าจ้างแรงงานในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุและเด็ก มาช่วยในขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบ เช่น ปอกกระเทียม ขอดเกล็ดปลา

– กลุ่มไม่ได้กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินใดๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่กลุ่มได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อนำมาให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินจากกลุ่มนำไปใช้ตามความประสงค์ของสมาชิก ในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งสมาชิกเองยินยอมจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กลุ่มในส่วนต่างร้อยละ 2 เพื่อให้กลุ่มนำรายได้ที่เป็นส่วนต่างของดอกเบี้ยไปใช้บริหารจัดการกลุ่ม

– กลุ่มผ่านการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำทุกปี ได้แก่ การตรวจประเมินการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และสำนักงานประมง

– กลุ่มมีสมาชิกเป็นผู้หญิงล้วน มีความรักใคร่สามัคคีและปรองดองกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของกลุ่ม

คุณนารี บอกว่า กลุ่มไม่มีร้านค้าประจำ นอกจากที่ทำการซึ่งเป็นสถานที่ผลิต ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาซื้อที่ทำการกลุ่ม อีกจำนวนหนึ่งสั่งออเดอร์ผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์ก มีค่าส่งตามน้ำหนักจริง มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเข้ามารับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่อทั่วประเทศ บ้างติดแบรนด์ของกลุ่ม บ้างนำไปติดแบรนด์ของลูกค้าเอง ซึ่งออเดอร์ในรอบปีสูงสุดอยู่ที่ช่วงเทศกาล เฉลี่ยปริมาณปลาที่ใช้ในการแปรรูปในช่วงเทศกาลสูงถึงเดือนละเกือบ 4 ตัน รายได้ช่วงนี้จะสูงถึงเดือนละประมาณ 30,000 บาท หากปกติจะใช้ปลามากเดือนละประมาณ 1 ตัน ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 15,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว

คุณวิทยา ประเสริฐสังข์ ประมงอำเภอโนนสัง กล่าวว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้แปรรูปของกลุ่ม ถูกนำมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องสั่งมาจากแหล่งน้ำในภาคกลาง เพราะปริมาณวัตถุดิบตามธรรมชาติใกล้เคียงในพื้นที่มีไม่เพียงพอ แม้จังหวัดจะพยายามทำโครงการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาในบ่อดิน แต่ด้วยสภาพอากาศและความแห้งแล้งของพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงได้ แม้จะส่งเสริมอย่างไรก็จำเป็นต้องสั่งวัตถุดิบจากพื้นที่อื่นเข้ามา ทั้งนี้ พื้นที่บ้านห้วยบง เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำคือ อ่างเก็บน้ำห้วยบง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนอุบลรัตน์ ก็ไม่สามารถจับปลาได้ตลอดปี เพราะได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ งดจับปลาในฤดูวางไข่ด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว สามารถนำรายได้จากการแปรรูปปลาดูแลครอบครัว ส่งลูกเรียนจบปริญญา มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาใหม่ๆ เสมอ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของอำเภอ สนใจติดต่อ คุณหนูเพียร เมฆวัน เลขานุการกลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว โทรศัพท์ (061) 120-6733 และ คุณนารี เมยมงคล รองเลขานุการกลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบงตรา ๑ เดียว โทรศัพท์ (081) 051-9821 ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านห้วยบง ตำบลโนนเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู