โสนบานเช้า เข้ายาเย็น เป็นอาหารยอด

โดยธรรมชาติที่รังสรรค์พืชพรรณนานาชนิด ตลอดทั้งปีทุกฤดูกาล ช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเวลาที่พืชต่างๆ จะอวดโฉม ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตน บ้างแผ่พุ่ม ผลิใบ บ้างสลัดใบอวดกิ่งก้าน บ้างเปลี่ยนสีสันผิวพรรณใบ อีกบ้างสะพรั่งบานชูช่อดอก หลอกล่อผึ้งภมรดอมดม ผสมเกสรให้เกิดผลและเมล็ดสืบทอดสายพันธุ์ เช่นเดียวกันกับผักพื้นบ้านชนิดนี้ ที่ใครเขารู้จัก และเรียกทักว่า “โสน” อ่านออกเสียง 2 พยางค์ สะ-โน๋

โสน เป็นพืชล้มลุกปีเดียว เป็นไม้ตระกูลแค ในวงศ์ PAPILIONACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania javanica Miq ในประเทศไทยเรามีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นำมาเป็นอาหารได้ เรียก “โสนหิน หรือ โสนกินดอก” ภาคเหนือ เรียก “ผักฮองแฮง” ชอบขึ้นอยู่ที่น้ำขัง ริมคลอง แต่ก็ทนความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร ในระยะดอกบาน ใบจะมีน้อย ทำให้อัตราการคายน้ำมีน้อย ช่วงปลายฝนยังพอมีน้ำธรรมชาติอยู่บ้าง แต่มันก็ส่งสัญญาณว่าใกล้หมดอายุขัยแล้ว จึงเร่งผลักให้ออกดอกเหลืองสะพรั่งเต็มต้น พร้อมทั้งมียอดอ่อนๆ แซมออกมาให้ดูน่ารักใคร่ ติดดอกออกฝัก เพื่อสืบต่อสายพันธุ์โสน โสนจึงขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพาะออกมาเป็นต้นเตี้ยๆ ใบเป็นใบจริง สีเขียวอมฟ้า มีสีขาวที่ก้านใบ ยอดใบอ่อน เห็นคล้ายไข หรือแป้งขาว เคลือบพรมทั่วใบและก้าน สีสันน่ารัก นุ่มนวล อ่อนโยน น่าทะนุถนอมเป็นยิ่งนัก

ต้นโสน สูงประมาณ 1-4 เมตร แตกกิ่งในระดับเอื้อมเด็ดดอกที่ปลายกิ่งได้ง่ายๆ กิ่งเปราะหัก และฉีกออกจากต้นได้ง่าย ใบโสนเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 10-30 คู่ ใบสีเขียว รูปร่างกลมรี ปลายใบมน ยาว 1.2-2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกโสน ออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง แต่ละช่อมีดอก 5-12 ดอก ดอกย่อยยาว 2.5 เซนติเมตร ส่วนของกลีบดอก บางทีมักจะมีจุดกระ สีน้ำตาล หรือสีม่วงอมแดงกระจายอยู่ทั่วกลีบ เมื่อออกดอกมากๆ คนเด็ดไปเป็นอาหารมาก จะออกดอก บานดอกหลายรุ่น ต้นหนึ่งเก็บดอกไปกินจนจวนจะเบื่อ และยังมีเหลืออีกมากพอที่จะผสมเกสร ติดฝักให้เมล็ด ฝักอ่อนสีเขียวอ่อนเป็นเส้นเล็กๆ และขยายโตขึ้นยืดยาวออกเป็นฝักเปลือกเหนียว แบน ยาว ประมาณ 18-20 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือน้ำตาล ในฝักมีเมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวเดี่ยว เรียงแบบเมล็ดกระถิน แต่เมล็ดเล็กกว่า แบนกว่า และไม่กลมรีเหมือนกระถิน

แน่นอนว่า ส่วนดอกของโสน คือผลผลิตหลักที่เรานำมาใช้เป็นอาหาร ช่อดอกสีเหลืองนำมาลวก นึ่ง ต้ม ผัด ลวกราดกะทิ เป็นผักเคียงน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะขามอ่อน หรือฉาบน้ำมันพรมน้ำปลา ชุบไข่ทอดเหมือนชะอม เคียงน้ำพริกกะปิ ใส่ไข่เจียว สีสันน่ากินจัง มีบางคนเอายอดอ่อนกับดอกตูมกินเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก ลาบ ก้อย จิ้มแจ่ว ตำป่นกบ ป่นเขียด หรือนำมาแกงส้มเหมือนแกงส้มดอกแค ใส่ปลาน้อย กุ้งฝอย ปลาช่อน ปลาหมอ ดอกโสนออกมากในช่วงปลายฝน ตอนดอกออกมากเก็บกินไม่ทัน สามารถนำมาเป็นดอกโสนดอง โดยน้ำซาวข้าวผสมเกลือ เติมน้ำตาลเล็กน้อยเก็บไว้กินได้หลายวัน ดองนานจะเปรี้ยวมากขึ้น และคนสมัยก่อนทำขนมดอกโสน คือดอกโสนนึ่ง คลุกแป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี มะพร้าวขูด และน้ำตาล หรือไม่ก็คั้นน้ำได้น้ำสีเหลืองใส่ขนมบัวลอย ขนมตาล ชาวบ้านรู้ดีว่า เด็ดดอกโสนยามเย็นจะได้ดอกตูม เด็ดตอนสายได้ดอกบาน

ดอกโสน มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา ดอกโสนมีรสจืดออกขมนิดๆ ใน 100 กรัม (1 ขีด) ให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี เส้นใยอาหาร 3.9 กรัม ฟอสฟอรัส 56 มิลลิกรัม แคลเซียม 51 มิลลิกรัม เหล็ก 8.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 3338 iu.วิตามินบีหนึ่ง 0.26 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.40 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม หรือไนอะซิน 2.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 24 มิลลิกรัม และมีสารเบต้าแคโรทีน ด้วย ที่สำคัญ โสน ทั้งส่วนดอก ยอดใบอ่อนเป็นยาดี เป็นพืชรสเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ผื่นคันจากขนแมลง ขนคายหญ้า บดปรุงเป็นยาพอกรักษาสมานแผล ทาพอกแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

แท้ที่จริงแล้ว ในบ้านเราไม่ใช่มีแต่โสนกินดอก หรือโสนหินอย่างเดียว ยังมีโสนสายพันธุ์อื่น เช่น โสนคางคก โสนหางไก่ใหญ่ โสนหางไก่เล็ก ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ในด้านงานฝีมือภาคกลาง ใช้ไม้โสนพันธุ์ต้นใหญ่ เนื้อไม้บางแต่เหนียว ทำของเล่นเด็ก ที่อยุธยาใช้ไม้โสนประดิษฐ์ดอกไม้ต่างๆ ได้ประณีตสวยงาม เป็นงานฝีมือที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี บางคนใช้ทำทุ่นเบ็ดตกปลา ทุ่นข่ายจับปลา ใช้ทำเชื้อไฟ หรืออาจจะนำมาเผาเป็นถ่านทำดินปืน อัดบั้งไฟ จุดบูชาเทวดา พญานาค ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ฝนเทลงมา เทลงมา เทลงมา ในนาตุ่งโห้ง นาตุ่งโห้ง นาตุ่งโห้ง

    

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563