ผ้าฝ้ายแกมแฝก ผลิตภัณฑ์เด่น กลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม

ในยุคนี้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะขายอยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากเรื่องคุณภาพที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยราคาที่ต้องสมเหตุสมผลแล้ว อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ เรื่องนวัตกรรม ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ

“หญ้าแฝก” ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำให้ปลูก

วันนี้กลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว แม้จะเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ประมาณ 20 คน แต่ก็มีสินค้านวัตกรรมที่ทำให้หลายคนทึ่งในภูมิปัญญาของคนที่นี่ โดยได้นำหญ้าแฝก ซึ่งเป็นหญ้าที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแนะนำให้ปลูกเพื่อป้องกันหน้าดินพังทลายมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้ารวมกับฝ้าย ทำให้ได้ผ้าฝ้ายผสมหญ้าแฝก ซึ่งถือเป็นวิสาหกิจชุมชนแรกที่ทอผ้าดังกล่าว แต่ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงระยะนำร่อง ยังไม่ได้มีวางขายทั่วไป

คุณนิ่มนวล นาโพตอง (ขวา)

คุณนิ่มนวล นาโพตอง ประธานกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม เล่าว่า คนในหมู่บ้านพื้นเพดั้งเดิมมาจากภาคอีสาน ซึ่งมีการทอผ้าหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม ผ้าทำฟูกที่นอน และผ้าถุง หรือผ้าขาวม้า เพื่อใช้สอยในครัวเรือน เป็นของฝาก ของรับไหว้ในงานแต่ง ของที่ระลึกในงานบุญ และเทศกาลต่างๆ พอเหลือใช้ จึงแบ่งขายบ้างเพื่อเป็นรายได้เสริมของครอบครัวนอกเหนือจากรายได้หลักคือการเกษตร

สำหรับผ้าขาวม้าที่ทอกันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าลายตาคู่ กับลายตาโด (ตาหมากรุก) ทอด้วยกี่ทอผ้าแบบโบราณ เป็นเครื่องมือที่ประกอบกันได้เองง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก วัสดุสิ่งทอมีทั้งเส้นพุ่ง ส่วนเส้นยืนส่วนใหญ่เป็นคอปกเสื้อยืดที่มีตำหนิจากโรงงาน เช่น คอปกที่ไม่ได้ขนาดจะคัดแยกออกมา มีหลากหลายสี

ในอดีตทางร้านรีไซเคิลจะให้มาฟรีๆ เพื่อมาทำผ้าขี้ริ้ว แต่ด้วยความช่างสังเกตของผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ตอนแรกดึงเส้นใยออกทำไส้ผ้านวม เพราะบางชิ้นเป็นโพลีเอสเตอร์ แต่บางชิ้นเป็นคอปกผ้าฝ้ายแท้ๆ จึงได้เรียนรู้ที่จะแยกแยะชนิดของเส้นใยออกมา ซึ่งยังถือว่าเป็นวัสดุสิ่งทอราคาถูก ลดทั้งต้นทุน ลดทั้งมลพิษของสภาวะแวดล้อมอีกด้วย

เธอว่า สมัยก่อนแต่ละบ้านแต่ละครอบครัว ทำกันเอง ไม่มีการรวมตัวกัน ทำให้ขาดโอกาสจากการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นกลุ่มที่มีการรองรับจากทางราชการเท่านั้น จึงได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านและจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะตั้งเป็นกลุ่มกันแล้วก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายด้าน เช่น ผ้าของกลุ่มเป็นฟืมหน้ากว้างเพียง 60 เซนติเมตร ถือว่าเป็นผ้าหน้าแคบ ต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้น้อย ทำให้เป็นข้อด้อยในตัวเลือกของลูกค้า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนให้ทางราชการ หน่วยงานองค์กรต่างๆ สวมใส่ หรือแปรรูปผ้าขาวม้าจะนำไปตัดเสื้อมากกว่าอย่างอื่น

ฟื้นลายผ้าสมัยโบราณ

ขณะที่ผ้าที่ตัดเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว ต้องมีความกว้างของหน้าผ้าอยู่ที่ระหว่าง 85-90×200 เซนติเมตร ทุนทรัพย์ที่เป็นปัจจัยจะนำไปซื้อฟืม และวัสดุสิ่งทอเพื่อจะทำตามลูกค้าสั่งจึงมีข้อจำกัด ถึงแม้กลุ่มจะได้รับส่งเสริมจากทางหน่วยงานของรัฐบ้างในบางครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ทางกลุ่มต้องการได้ทั้งหมด

คุณนิ่มนวล กล่าวว่า จุดเด่นผ้าทอของกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม อยู่ที่การทอผ้าลายโบราณ คือผ้าลายเกล็ดเต่า โดยมี คุณยายไม พันไชย ผู้ล่วงลับไปตั้งแต่ปี 2537 เป็นคนสอนทอ ซึ่งพื้นเพบ้านเกิดเดิมของคุณยายมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วย้ายไปอยู่หนองคาย และท้ายสุดย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว

คุณยายไมเคยทอผ้าลายเกล็ดเต่าท้ายสุดเมื่อปี 2526-2527 เป็นหูกสุดท้าย เป็นผ้าขาวม้าลายผสมกันระหว่างผ้าลายเกล็ดเต่า ผ้าตาคู่ และเชิงผ้าเป็นขิดลายช้างคู่ ทอด้วยไหมพื้นบ้าน และฝ้ายในผืนเดียวกัน โดยเฉพาะลายเกล็ดเต่ามีลักษณะของผ้าที่โดดเด่น มีเสน่ห์ มองเป็น 3 มิติได้ เป็นผ้าลายโบราณที่ไม่ล้าสมัย

“ผ้าลายเกล็ดเต่านี้เป็นลายผ้าที่สวยงาม แปลกตา ร่วมสมัย ปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นคนทอผ้าลายนี้กันนัก เพราะเป็นผ้าที่ต้องใช้สมาธิสูง ถึงแม้ว่าโครงสร้างลายผ้าจะเป็นผ้าตาขัดธรรมดา แต่เทคนิคการสืบเส้นยืน การวางกระสวยสอดกระทบเส้นพุ่งจำเป็นที่ช่างทอผ้าจะต้องมีสมาธิ และทักษะในการทอผ้าเป็นพิเศษ ซึ่งช่างทอผ้าผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ คือ คุณป้าหนู นามวง

กระเป๋าที่ทำจากผ้าฝ้ายแกมแฝก

สำหรับ ผ้าฝ้ายแกมแฝก” ผลิตภัณฑ์โดดเด่นของกลุ่ม ซึ่งใครเห็นต่างชื่นชมความรู้ความสามารถและได้ไอเดียสร้างสรรค์ของทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม เรื่องนี้คุณนิ่มนวลอธิบายว่า เป็นความคิดของ คุณลุงบุญเพ็ง ระว้า ประธานกลุ่มเครื่องหนังบุญเพ็ง อำเภอวัฒนานคร ที่เสนอให้ทางกลุ่มเป็นคนทอเพราะเห็นว่ามีฝีมือในการทอผ้า โดยคุณลุงเห็นว่า ถ้าพูดถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงหญ้าแฝก เลยมองว่าน่าจะนำหญ้าแฝกมาทอกับผ้าฝ้ายแล้วนำมาแปรรูปเป็นกระเป๋า หรือเครื่องใช้อื่นๆ ได้เพราะหญ้าแฝกมีความทน

เหมาะแปรรูปทำเครื่องใช้

“ผ้าฝ้ายแกมแฝก เป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม และเครื่องหนังบุญเพ็ง ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อจะสืบสานตำนานศาสตร์หญ้าแฝกของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม และอยู่ใกล้ชิดกับผู้คนมากยิ่งขึ้น จึงได้ทำเป็นกระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน หรือเป็นเครื่องแต่งกายต่างๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะอยู่เพียงแค่ขอบสระใช้ยึดให้เป็นพืชคลุมดินเท่านั้น”

พูดได้ว่า ผ้าฝ้ายแกมแฝกเป็นความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสระแก้ว 3 กลุ่ม คือ ทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม กลุ่มเครื่องหนังบุญเพ็ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์แฝกบ้านเนินเหล่า อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยน้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และโครงการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาทอ ถัก สอดประสานเป็นผลงาน “ผ้าฝ้ายแกมแฝก” โดยใช้เกล็ดเต่า ซึ่งเป็นหนึ่งในผ้าพื้นบ้านลายโบราณที่มีความสวยงาม เป็น 3 มิติ ต้องใช้ความประณีตและความสามารถที่ชำนาญของช่างทอเป็นพิเศษ

ทว่าเมื่อทอเสร็จแล้ว เป็นผ้าที่งดงามนัก ดังประโยคที่ว่า แฝกกับฝ้ายแกมกัน มันบ่ เบื่อ คือบักเขือ แก่มบักแข้ง แกมไก้ ก่ายกัน

ประโยคดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นของชาวอีสาน เป็นการอุปมาอุปไมยที่มีความหมายว่า ฝ้ายกับแฝกนำมาอยู่ด้วยกันได้ เหมือนเช่น มะเขือพวงกับมะเขือเปราะ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์งานทอผ้าของกลุ่มที่มีหลากหลายแบบให้เลือกของกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม มีวางขายที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่จังหวัดสระแก้ว นอกจากนั้น มีการออกบู๊ธขายตามงานต่างๆ ของทางราชการ

บรรดาสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม

ทั้งนี้ “ผ้าฝ้ายแกมแฝก” งานนวัตกรรมล่าสุดของกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม ลูกค้าต้องสั่งโดยตรง โทร. (086) 956-6285 เพราะเน้นนำไปแปรรูปเป็นข้าวของ เครื่องใช้มากกว่าที่จะนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ อีกทั้งราคาแพงกว่าผ้าทอทั่วไป เนื่องจากขั้นตอนการทอมีความยากและสลับซับซ้อน ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ที่สำคัญหญ้าแฝกแห้งมีราคาแพง ตกกิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท ราคาแพงกว่าเส้นไหมเสียอีก

“การทอผ้าแฝกคือการนำเส้นแฝกแห้งที่ตีเกลียวแล้วนำมาตัดประมาณ 2-3 เมตร สอดเข้าในกระสวยไปแทนเส้นใยฝ้ายตามปกติที่ทออยู่ แต่ทำได้ช้ามาก เพราะเกลียวเส้นแฝกเป็นเส้นแข็ง ขณะที่เส้นใยฝ้ายนิ่มกว่า จึงอาจขาดได้ง่าย”

นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกแห่งที่ไม่หยุดนิ่ง มีการคิดค้นลวดลายใหม่ๆ และนำลายเก่าที่ใกล้จะสูญหายขึ้นมาทำใหม่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงภูมิปัญญาคนโบราณ ที่สำคัญยังได้นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า