นวัตกรรมเกษตรเพื่อชาติ ยุค New Normal ช่วยไทยปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่

ปัจจุบัน ทั่วโลกเผชิญโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยต้องปรับแนวคิดการดำเนินชีวิตให้เข้ากับยุควิถีใหม่ (New Normal)  

“ศาสตร์พระราชา” ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นกลไกสำคัญที่ภาครัฐบาลนำมาใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยในระยะยาวเช่นเดียวกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมงานวิจัย เพื่อใช้ฐานความรู้จากงานวิจัยมาช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การผลิตและการบริการของประเทศไทย ให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยบนเวทีตลาดโลก ในศตวรรษที่ 21 อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. คาดหวังว่า ผลงานที่นำมาเสนอเหล่านี้ จะช่วยในการยกระดับการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้การวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และนโยบายรัฐเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

8 นวัตกรรมเกษตรเพื่อชาติ

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ เพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พยุงศักดิ์ อินต๊ะวิชา แห่งมหาวิทยาลัยพะเยา (โทร. 054-466-666 Email : [email protected]) เล็งเห็นปัญหาต่างๆ ของการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อตอบโจทย์ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) จึงศึกษาและทำวิจัยการจัดแม่โคหลังคลอด เพื่อเพิ่มจำนวนลูกโคให้เกษตรกรในจังหวัดพะเยา โดยคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นในราคาต่ำสุดสำหรับเพิ่มคุณภาพผลผลิตลูกโค และช่วยให้แม่โคมีสุขภาพที่สมบูรณ์ในช่วงหลังคลอด และมีอัตราการตั้งท้องมากกว่าแม่โคที่ไม่ได้ทำโปรแกรมดังกล่าว

รวมทั้งพัฒนาชุดความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสุขภาพแม่โคหลังคลอดตามมาตรฐานฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการจัดการสุขภาพ โรคในแม่โคหลังคลอด อาการ วิธีการป้องกันรักษาข่าวสารการระบาดของโรคแม่โคหลังคลอด ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โปรแกรมการจัดการสุขภาพแม่โคหลังคลอด ตามมาตรฐานฟาร์มปลอดโรค

2.การพัฒนาฟาร์มกวาง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดสุโขทัย

เป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร. มณี อัชวรานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง (โทร. 02-310-8694 Email : [email protected]) มุ่งวิจัยพัฒนาผลผลิตที่ได้จากฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีทั้งกวางที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้ลูกกวางที่มีร่างกายและเขากวางอ่อนที่มีขนาดใหญ่ ผลผลิตเขากวางอ่อนซึ่งมีกรรมวิธีที่ผ่านการทำวิจัยจนได้วิธีการที่สามารถรักษาทั้งปริมาณและคุณภาพ นักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองการพัฒนาฟาร์มกวางเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดสุโขทัย เพื่อใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ

บู๊ธนิทรรศการมหาวิทยาลัยรามคำแหง
  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันกระเทียมชนิดแคปซูล

ปี 2552 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันโค้ง เป็นกลุ่มชุนชนที่ปลูกกระเทียมเพื่อจำหน่าย ได้ประสบปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ ทำให้ผลผลิตกระเทียมเหลือค้างจำนวนมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คมศักดิ์ พินธะ (โทร. 054-466-666 Email : [email protected]) แห่งมหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันกระเทียมเพื่อสุขภาพ

กระเทียม

โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้ความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (อวน.) โครงการ Unit of Excellence มหาวิทยาลัยพะเยา และโครงการสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าของน้ำมันกระเทียม ตราดอกคำใต้ สู่กระบวนการบูรณาการด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี 2562 โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการคัดสรรเป็นสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) และผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ประจำปี 2562

  1. การใช้ประโยชน์ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่

ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลพลอยได้ที่เหลือเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้พัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการชำแหละไก่โดยการสกัดคอลลาเจนจากหนัง ตีน กระดูกโครง และกระดูกอ่อนไก่ที่มีคอลลาเจนเป็นองค์ประกอบสูง และมีการประเมินร้อยละผลผลิตของคอลลาเจน จำแนกชนิดของคอลลาเจนที่สกัดได้ รวมทั้งทดสอบสมบัติเชิงหน้าที่/ฤทธิ์ทางชีวภาพ และพัฒนากระบวนการผลิตไปสู่ระดับขยายผลเพื่อสนับสนุนการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริม

อุตสาหกรรมการแปรรูปเนื้อไก่

เมื่อมีการผลิตเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ย่อมเกิดของเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งโรงเชือดเป็นหนึ่งในกระบวนการของอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่ที่ก่อให้เกิดของเสียมากที่สุด โดยของเสียจากโรงเชือด เช่น ลำไส้ไก่ กระดูก และเอ็น เป็นต้น หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ผ่านมาทีมนักวิจัยของ ซีพีเอฟ จึงได้นำของเสียเหล่านี้ไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง แต่มีมูลค่าที่ต่ำมาก ดังนั้น จึงเกิดความสนใจที่จะนำลำไส้ไก่มาพัฒนาเป็นโปรตีนไฮโดรไลเซทด้วยเอนไซม์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษในอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น ส่งกลิ่นที่ดีขึ้นและทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญอาหารมากขึ้น ซึ่งการแปรรูปลำไส้นี้จะทำให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าแก่วัตถุดิบมากยิ่งขึ้น

  1. อาหารเสริมสุขภาพจากมะม่วงทะวายเดือนเก้า

ผลงานของ ดร. ณัฐฐาพร สามารถ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (Email : [email protected]) ที่ศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปมะม่วงทะวายเดือนเก้า ซึ่งเป็นมะม่วงสายพันธุ์โบราณของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่กำลังสูญหายไปจากชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากมะม่วงทะวายเดือนเก้าได้รับความนิยมลดต่ำลง ทีมนักวิจัยจึงมุ่งศึกษาเรื่องการแปรรูปผสมผสานกับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยดัดแปลงเป็นผงมะม่วงชงดื่มเสริมคอลลาเจน และกาแฟผสมผงมะม่วง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนผู้ผลิต

นิทรรศการผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ประกอบด้วย อาจารย์กัญชญานิศ ศรีนุกูล อาจารย์โปรดปราน ทาศิริ ได้ศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะม่วงทะวายเดือนเก้า รูปแบบผลิตภัณฑ์อีก 3 ชนิด ได้แก่ กิมจิ ทาร์ตไส้มะม่วง และเยลลี่มะม่วงพริกเกลือ โดยนักวิจัยลงพื้นที่ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างบรรจุภัณฑ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Email : [email protected], [email protected]

  1. ประยุกต์ใช้สมุนไพรไทย ทดแทนผลิตภัณฑ์ยาเคมี

รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (โทร. 053-873-857 Email : [email protected]) ได้พัฒนาการผลิตสมุนไพรที่ปราศจากสารเคมี ออกฤทธิ์เร็ว ปลอดภัยกับร่างกาย ใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ยาเคมี นวัตกรรมของกระบวนการสกัดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพืชสมุนไพรได้หลายชนิด ใช้นวัตกรรมการสกัดสารสำคัญจากพืชสด โดยไม่ต้องนำพืชสดไปผ่านกระบวนการอบแห้ง ทำให้ช่วยป้องกันปัญหาเรื่องเชื้อราด้วยนวัตกรรมการสกัดนี้สามารถสกัดสารสำคัญจากพืช และสามารถกักเก็บน้ำมันหอมระเหยในพืชไว้ในผลิตภัณฑ์ โดยกระบวนการสกัดจะใช้น้ำผึ้งช่วยในการสกัด และจะไม่ใช้สารเคมีและตัวทำละลายอินทรีย์ใดๆ ในการสกัด พร้อมทั้งมีกระบวนการกำจัดสารพิษไซยาไนด์ที่อาจปะปนในพืช

ผู้บริหาร วช. เยี่ยมชมบู๊ธนิทรรศการมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นอกจากนี้ ในการขึ้นรูปเม็ดผลิตภัณฑ์จะใช้แป้งจากพืชและไม่ใช้สารเคมีใดๆ และผลิตเป็นเม็ดผลิตภัณฑ์ไม่บรรจุแคปซูล ด้วยกระบวนการนวัตกรรมการสกัดรูปแบบนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สกัดด้วยนวัตกรรมนี้มีความปลอดภัยสูง ปราศจากสารเคมีและตัวทำละลายเคมีใดๆ ตกค้าง ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คือ ด้วยกระบวนการสกัดนี้สามารถนำส่งสารสำคัญเข้าสู่เซลล์ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการออกฤทธิ์ในการรักษา บรรเทา บำบัด รวมถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย (ฟ้าทลายโจรสกัด) ได้อย่างรวดเร็วภายใน 5-10 นาที หลังรับประทาน นับเป็นนวัตกรรมเด่นที่ช่วยสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้อย่างมาก

  1. นวัตกรรมการผลิตปลานิลอินทรีย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิสรา กิจเจริญ แห่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (โทร. 053-873-100-2 ต่อ 5123 Email : [email protected]) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การผลิตปลานิลอินทรีย์ในระบบการเลี้ยงไบโอฟลอค มีความต้องการลูกพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีโดยไม่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม ไม่มีการใช้ฮอร์โมนแปลงเพศ ตลอดจนไม่ใช้ยาและสารเคมีในระบบการผลิต ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้สามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง และตัวผู้ไม่กัดทำร้ายเพศเมีย

การเลี้ยงปลานิลอินทรีย์

ระบบนี้จะทำให้ได้ลูกพันธุ์ปลานิลที่ทราบพ่อแม่พันธุ์ เป็นระบบที่สามารถใช้ในการจับคู่พ่อแม่พันธุ์ปลานิลได้จำนวนมากเพียงพอ ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ได้หลายๆ ครอบครัว ทำให้การประเมินค่าความสามารถทางพันธุกรรมทำได้อย่างแม่นยำ เป็นระบบที่สามารถใช้ในการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลอินทรีย์ให้เจริญเติบโตดีได้โดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมนแปลงเพศ ไม่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม ตลอดจนไม่ใช้ยาและสารเคมีในระบบการผลิต ทำให้ยกระดับผลผลิตคุณภาพสูงได้

  1. สร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มขนมหวานเพื่อสุขภาพ

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ลงพื้นที่สร้างนวัตกรรมขนมหวานไทยพื้นเมือง จังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วย ขนมหม้อแกง ทองหยอด ฝอยทอง ลูกชุบ และขนมตาล พร้อมรูปแบบการตลาด บรรจุภัณฑ์บนฐานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสร้างเครื่องจักรสำหรับการผลิตขนมหวานพื้นเมือง จังหวัดเพชรบุรี แบบใหม่อย่างครบวงจร

บู๊ธนิทรรศการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

เช่น สร้างเครื่องจักรสำหรับการยีเนื้อตาล และเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม การปรับสูตรขนมทองหยอดและฝอยทองให้เป็นสูตรพลังงานต่ำเพื่อสุขภาพ โดยใช้สารทดแทนความหวานในกลุ่มอิริทริทอล ซึ่งยังคงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของขนมหวานพื้นเมือง จังหวัดเพชรบุรี สร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์ขนมหวานแบบใหม่และยืดอายุการเก็บรักษา ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP ได้เป็นอย่างดี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชลากร อุดมรักษาสกุล Email : [email protected] และ คุณประกอบ ชาติภุกต์ Email : [email protected]