มช. พัฒนางานวิจัย “ไม้ดอกไม้ประดับ” ขยายผลสู่เกษตรกร สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้

ทุกวันนี้ “ปทุมา และ กระเจียว” ไม้ดอกไม้ประดับพื้นบ้านของไทยกลายเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี กลายเป็นสินค้าส่งออกขายดี (หัวพันธุ์ และไม้ตัดดอก) อันดับ 2 ของประเทศ รองจากสินค้ากล้วยไม้ โดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อปทุมาและกระเจียวจากไทย ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี เพราะไม้ดอกทั้งสองชนิดมีสีสันและรูปทรงที่สวยงาม แถมมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 1 สัปดาห์

ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรไทยจำนวนมาก ได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกไม้ดอกไม้ประดับในวันนี้ เกิดจากแนวพระราชดำริส่งเสริมอาชีพราษฎรของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้ ดร. พิศิษฐ์ วรอุไร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2522 เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินงานประสบความสำเร็จดี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเติม เพื่อจัดเป็น “กองทุนหมุนเวียน” โดยพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล งานสาธิตฝึกอบรม และส่งเสริมอาชีพราษฎรตามพระราชดำริ”

ต่อมา ปี 2525 ทางโครงการได้รับงบประมาณจากรัฐบาล โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหน่วยงานหลัก  ต่อมาปี 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมกลุ่มบ้านโรงวัว มีพระกระแสรับสั่งว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง ให้ขยายไปให้มากและหาคนให้มาช่วยทำงานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน”

ปี 2528 ทรงมีนโยบายให้ยกฐานะของโครงการขึ้นเป็น “ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สังกัดอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” พร้อมทั้งได้เพิ่มภารกิจให้ครอบคลุมไปถึงงานพัฒนาไม้ดอกไม้ผลด้วย

ดอกกระเจียวพันธุ์ลูกผสม

ปัจจุบัน ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน 3 แนวทาง คือ

  1. ศึกษา ทดลองวิจัย และพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล
  2. ขยายผลงานเพื่อส่งเสริมอาชีพราษฎรด้านการเกษตร และ
  3. ขยายผลงานวิจัยสู่ราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ และโครงการพระราชดำริต่างๆ โดยเน้นพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก โดยมีสำนักงานศูนย์ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 33 ไร่ และหน่วยฝึกงานคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 90 ไร่

ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานดำเนินการได้ติดตามผลการผลิตไม้ดอกไม้ผลของกลุ่มชาวบ้านภายใต้การดำเนินงานของโครงการ พร้อมทั้งแนะนำการแก้ไขปัญหาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิตไม้ดอกไม้ผลแก่กลุ่มราษฎร จำนวน 40 กลุ่ม ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 5,031 ไร่ ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ศ.ดร. โสระยา ร่วมรังษี

ศ.ดร. โสระยา ร่วมรังษี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ (โทร. 053-213-760 หรือ 053-944-043) กล่าวว่า ตั้งแต่ ปี 2523 ทางศูนย์ได้พัฒนาพันธุ์ไม้ดอกหลายชนิด เช่น กระเจียว ปทุมา แกลดิโอลัส ว่านสี่ทิศ และบานชื่น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาผลิตไม้ดอกเป็นอาชีพหลัก หรือเป็นอาชีพเสริมรายได้ และทีมนักวิจัยได้เน้นปรับปรุงสายพันธุ์ไม้ดอกให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย และตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในและส่งออก

ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์จะใช้ 3 แนวทางหลัก คือ

  1. วิธีดั้งเดิม (ผสมเกสรเพศผู้และเพศเมีย)
  2. การใช้รังสี
  3. การใช้สารเคมีชักนำการกลายพันธุ์

ทั้งนี้ ศูนย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์กระเจียว ปทุมา จำนวน 18 สายพันธุ์ และขึ้นทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ไปแล้ว 15 สายพันธุ์ นอกจากนี้ สามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์แกลดิโอลัสไปแล้ว 23 สายพันธุ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์บานชื่นและว่านสี่ทิศ

ผลงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไทยก้าวไกลสู่ตลาดสากล”

พัฒนาปทุมา กระเจียว ตอบโจทย์ตลาดโลก

เมืองไทยมีสายพันธุ์ปทุมา และกระเจียวที่พบตามธรรมชาติ จำนวน 38 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดอ่อนคือ ดอกสวยแต่มีขนาดเล็ก หรือดอกใหญ่แต่ไม่สวย ก้านสั้นไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้ปักแจกัน และมีอายุการใช้งานสั้น จึงไม่เป็นที่นิยมของตลาด ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำดอกปทุมา ผสมกับดอกกระเจียว จนได้สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้คงทนมากกว่าสายพันธุ์เดิมเกือบ 3 เท่า คงทนต่อสภาพแวดล้อม ขนาดดอกใหญ่

นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้สนใจ 5 หลักสูตร คือ การปลูกกล้วยไม้ เทคโนโลยีการผลิตไม้ตัดดอก เทคโนโลยีการผลิตไม้กระถาง การขยายพันธุ์ไม้ผลและการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ได้ถ่ายทอดผลงานวิจัยให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 16 กลุ่ม ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ยะลา นราธิวาส รวมพื้นที่ปลูกไม้ดอกของสมาชิกศูนย์ จำนวน 217 ไร่ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 18,590,214 บาท

โครงการพัฒนาพันธุ์ว่านสี่ทิศ

และทางศูนย์มีความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ระยอง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด มาบตาพุด  ผลักดันโครงการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ของศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ (ชื่อพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องนำความเย็นเหลือทิ้งจากการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติ (LNG) และการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อการผลิตดอกทิวลิป ลิลลี่ ไซคลาเมน และไม้ดอกเมืองหนาว ตลอดจนสตรอเบอรี่สายพันธุ์ Harumiki จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันสามารถผลิตไม้ดอกเมืองหนาว รวมทั้งผลสดสตรอเบอรี่ ป้อนเข้าสู่ตลาดห้างสรรพสินค้าพารากอน ขนาดบรรจุ 15 ลูก ต่อกล่อง ในราคากล่องละ 1,500 บาท ทั้งนี้ โครงการศูนย์ความเป็นเลิศฯ เป็นโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือของ PTTLNG ร่วมกับ สำนักงาน กปร. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ นำความเย็นเหลือทิ้งของก๊าซธรรมชาติมาผลิตไม้ดอกเมืองหนาว

ด้านการตลาด

ปัจจุบัน ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับสำคัญ อันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและมาเลเซีย และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อันดับที่ 11 ของโลก ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563 มีมูลค่าการส่งออกลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เชื่อมั่นว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่มอีก เนื่องจากไทยได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เอื้อต่อการเติบโตของไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และนักปรับปรุงพันธุ์ของไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ ที่มีความสวยงามออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

แปลงปลูก “ปทุมมาราชินีป่าฝน”

ขณะเดียวกัน ไทยมีแต้มต่อทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่ เอฟทีเอ 17 ประเทศ (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสส์และไลเคน ในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ ในอัตราภาษีที่ 60% ฯลฯ

ดังนั้น นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ของไทยจึงควรใช้ช่วงเวลานี้เร่งพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่อยู่เสมอตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนช่องทางการทำตลาด โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น รวมทั้งใช้ข้อได้เปรียบทางภาษี โดยเจาะตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลง เอฟทีเอ ด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2564 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ วางแผนที่จะพาเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเร่งเปิดตลาดการค้าไม้ดอกไม้ประดับไทยสู่เวทีตลาดโลก