นวัตกรรม “เม็ดมะม่วงหิมพานต์” ผลงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรติตถ์

“มะม่วงหิมพานต์” เป็นพืชอุตสาหกรรมที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย กำลังได้รับความสนใจจากภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่จะพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นสินค้าส่งออก มะม่วงหิมพานต์สามารถเจริญได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศ เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ดูแลง่าย ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่ระบายน้ำดี หน้าดินลึกไม่เป็นดินดาน ไม่เป็นดินด่างจัด หรือกรดจัด การปลูกมะม่วงหิมพานต์นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรแล้วยังเป็นการเพิ่มการปลูกป่า ทำให้สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

มะม่วงหิมพานต์ที่แกะเปลือกแล้ว

มะม่วงหิมพานต์ พืชทำเงินของอุตรติตถ์

ปัจจุบัน มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชเศรษฐกิจทำเงินของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอำเภอท่าปลา ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลชนิดนี้ เกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์เริ่มปลูกมะม่วงหิมพานต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการไทย-เยอรมัน โดยให้เงินทุนกู้ยืมดำเนินการปลูกมะม่วงหิมพานต์ในพื้นที่ ทั้งในแปลงจัดสรรและแปลงราษฎรเดิม ในอดีตมะม่วงหิมพานต์มีราคาต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจโค่นต้นมะม่วงหิมพานต์ทิ้งและปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่มีเกษตรกรบางคนที่ยังคงปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ไว้ในพื้นที่เนินเขา มีโขดหินที่ไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้

มะม่วงหิมพานต์ สินค้าโอท็อปอำเภอท่าปลา

ตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเขตพื้นที่ภูเขาหิน เป็นดินลูกรังที่มีความแห้งแล้ง ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกมะม่วงหิมพานต์ เพราะปลูกดูแลง่าย ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน ปัจจุบัน มะม่วงหิมพานต์กลายเป็นสินค้าขายดี ที่ตลาดมีความต้องการสูง ทางจังหวัดอุตรดิตถ์จึงส่งเสริมให้เกษตรกรพื้นที่ตำบลร่วมจิตปลูกมะม่วงหิมพานต์เป็นรายได้อีกครั้งหนึ่ง โดยสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ขึ้นเป็นจำนวนมาก กลุ่มแปรรูปมะม่วงหิมพานต์สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ และพัฒนาคุณภาพสินค้าจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอท็อป 4 ดาว ที่มีมาตรฐาน อ.ย. รับรอง

ผลิตภัณฑ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี เพราะสามารถแตกหักได้ หากการเก็บรักษาไม่ดีพอ เม็ดมะม่วงหิมพานต์จะเกิดการเสียหายหรือเสื่อมคุณภาพได้ง่าย ทั้งในระหว่างการผลิตและเก็บรักษา ดังนั้น กระบวนการขนส่งและเก็บรักษาจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพเม็ดมะม่วงหิมพานต์

น้ำนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์

เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรมีการบริหารจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการขนย้ายสินค้าที่ยังไม่เหมาะสม ขาดการจัดการในเรื่องการเคลื่อนย้ายผลผลิตจากแหล่งเพาะปลูก ไปสู่ตลาดหรือโรงงานที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ รวมทั้งขาดระบบการจัดการคลังสินค้าที่มีศักยภาพในการยืดอายุและถนอมผลผลิตเพื่อลดการสูญเสียและสามารถรองรับการผันผวนของราคาและกลไกการตลาด

ปัจจุบัน ตลาดมีความต้องการเม็ดมะม่วงหิมพานต์จำนวนมาก แต่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการนั้น มีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบการจัดการ ณ แหล่งเพาะปลูก ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรที่ต้องดำเนินการจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะส่งออกได้โดยตรงและนำส่งโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันทางโรงงานเองก็ไม่สามารถชี้แจงเกษตรกรให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะม่วงหิมพานต์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรติตถ์
สนับสนุนงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เล็งเห็นปัญหาว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตและระบบการจัดการที่เหมาะสม จึงดำเนินโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์อย่างครบวงจรในพื้นที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยภายใต้แผนงานจัดการความรู้การวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ประกอบด้วย ผศ.ดร. กันต์ อินทุวงศ์ ผศ. ดุษฎี บุญธรรม ผศ. อภิศักดิ์ พรหมฝาย ผศ. ไพโรจน์ นะเที่ยง และ อาจารย์วรพล มะโนสร้อย

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ วช. เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจเม็ดมะม่วงหิมพานต์

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดไก่ต้อย อำเภอท่าปลา เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นำนวัตกรรมงานวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาจนสร้างความเข้มแข็งในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยีการควบคุมความชื้นในโรงอบแห้งพลังแสงอาทิตย์ เทคนิคการต้ม การกะเทาะเม็ด การอบ เทคนิคการแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ช่วยให้ชุมชนแห่งนี้มีรายได้หลักและรายได้เสริม เกิดการกระจายโอกาสและรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โชว์การกะเทาะเปลือก

เครื่องกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์แบบแนวตั้ง
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ในอำเภอท่าปลามักอาศัยแรงงานคนใช้จักรถีบในการกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน สามารถผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ครั้งละ 1 เม็ด ปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เหมาะสมทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณเท่าที่ตลาดต้องการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้นำวิชาความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาเครื่องกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและพัฒนาเครื่องคัดแยกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ สำหรับคัดแยกขนาดเม็ดมะม่วงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการตัดแยกโดยใช้แรงงานคน ลดระยะเวลาในการคัดแยก มีประสิทธิภาพในการคัดแยกขนาดได้มากกว่าแรงงานคน

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรติตถ์

นอกจากนี้ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ยังได้พัฒนาและหาประสิทธิภาพเครื่องกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์แบบแนวตั้ง โดยนำเครื่องกะเทาะเม็ดจากโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีมาศึกษาและพัฒนาปรับปรุง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ชุดจับเม็ด ชุดกรวยรับเม็ด และชุดกะเทาะเม็ด ทำงานจากด้านบนสู่ด้านล่างของตัวเครื่อง

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เครื่องกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อนการปรับปรุงมีประสิทธิภาพในการกะเทาะเม็ด คือ เม็ดในเต็ม 60 เปอร์เซ็นต์ เม็ดในซีก 10.67 เปอร์เซ็นต์ และผ่าไม่ได้ 29.33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าประสิทธิภาพต่ำเกินไปไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานจริง การเตรียมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อนกะเทาะด้วยการคัดแยกขนาดเม็ดและการต้มเม็ดในน้ำเดือดนาน 20 นาที แล้วผึ่งให้แห้ง 1 วัน และการปรับปรุงเครื่องกะเทาะเม็ดด้วยการเพิ่มพื้นที่ขาจับเม็ดของชุดจับเม็ด การใส่ฝาครอบกรวยรับเม็ดเพื่อกันเม็ดกระเด็นออกจากตัวเครื่อง และตั้งระยะสปริงสำหรับกดชุดมีดให้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกะเทาะเม็ดในเต็ม สูงขึ้นเป็น 76 เปอร์เซ็นต์

ทีมนักวิจัยกับเครื่องกะเทาะเปลือกมะม่วงหิมพานต์

ผลงาน “การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและกระบวนการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่นยืน” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ช่วยสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ทำให้ได้รางวัล Bronze Award ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563”