“ขนมไทยใส่ไอเดีย สร้างอาชีพ”หลักสูตรดิจิทัลทีวีของ “กศน.กทม.”

“การเติมความรู้ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการศึกษา คือรากแก้วของชีวิต การศึกษาช่วยสร้างปัญญาที่จะคิดวิเคราะห์ นำพาชีวิตไปในทิศทางที่ดี มีทักษะชีวิตที่เข้มแข็ง สามารถยืนหยัดอยู่ในโลกยุคนี้ การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยให้เรารอดไปด้วยกัน” ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่รัฐบาลมอบเป็นนโยบายให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นำไปปฏิบัติ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนไทยทุกช่วงวัย ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างอิสระ ทุกที่ทุกเวลา ทุกมิติ นำไปต่อยอดสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างสุขให้แก่ชีวิตได้

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กศน.กทม. สอนสร้างอาชีพออนไลน์สู่ดิจิทัลทีวี

สำนักงาน กศน. กทม. โดย ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.กทม. สนองนโยบาย ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนิน “โครงการอาชีพออนไลน์ สู่ดิจิทัลทีวี”  จัดการเรียนการสอนอาชีพรูปแบบออนไลน์ พัฒนาทักษะความรู้ได้อย่างต่อเนื่องให้แก่คนในทุกช่วงวัย จำนวน 7 ชุดวิชา ได้แก่ 1. “อนาคตประเทศไทยกับอาชีพไอที” โดย คุณอั้ม – ศกลภัค เพ็ชรายุทธพันธ์ 2. “ก้าวสู่ความสำเร็จด้วยพลังตัวเลข” โดย คุณจิมมี่ – ฐกลพัชร์ ลัดดาสิริพร 3. “มือถือ สร้างรายได้” โดย คุณโต้ง -ธวัชชัย ศิริวราวาท 4. “ชีวิตดี๊ดี ไพ่ภาคพยากรณ์ สร้างสรรค์อาชีพ” โดย คุณจี้- อาภาฎา พัฒนะภูมิ 5.  “โหราศาสตร์” โดย ดร. ภิญโญ พงศ์เจริญ 6. “ไขรหัสลับชะตาตัวเอง สู่ความสำเร็จ อย่างมีความสุข” อาจารย์สมชัย เจริญวรเกียรติ และ 7. “ขนมไทยใส่ไอเดีย” โดย ครูจ๊ะ – ชญานิศา พิรเดชสกุล โดยถ่ายทอดความรู้ผ่าน Digital TV ช่อง 52

ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.กทม.

ระบบการศึกษาออนไลน์ (Online Learning) ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในรูปแบบ “โครงการอาชีพออนไลน์ สู่ดิจิทัลทีวี” สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW ของ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการเห็น กศน. ปรับแผนการเรียนรู้ และเสริมทักษะความรู้ให้กับผู้เรียนถึงบ้าน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังช่วยให้ กศน. สามารถขยายบริการการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนและผู้รับบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล พร้อมลดช่องว่างในการเรียนรู้ เพราะบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน “โครงการอาชีพออนไลน์ สู่ดิจิทัลทีวี” เปิดโอกาสให้กูรูจิตอาสาในหลายสาขาอาชีพ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของการขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW ตามนโยบายของ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อีกด้วย

ครูจ๊ะ-ครูเคี้ยง สอนทำขนมไทยมงคลช่องดิจิทัลทีวี ช่อง 52 ทุกวันเสาร์ 14.30 น.

ครูจ๊ะ งามศิลป์ ขนมไทย

ครูจ๊ะ – ชญานิศา พิรเดชสกุล หรือที่รู้จักกันดีแวดวงสังคมออนไลน์ ในชื่อ “ครูจ๊ะ งามศิลป์ ขนมไทย” เป็น 1 ใน 7 กูรูจิตอาสา ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นอย่างดียิ่งในด้านการเติมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขนมไทย ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ กศน.กทม. จึงได้เชิญครูจ๊ะ เป็นวิทยากรของโครงการอาชีพออนไลน์ สู่ดิจิทัลทีวี เพื่อให้ความรู้ด้านอาชีพในหัวข้อ “ขนมไทยใส่ไอเดีย” เผยแพร่ออกอากาศทางดิจิทัลทีวี ช่อง 52 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

ครูจ๊ะ เป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีบทบาทร่วมอนุรักษ์ขนมไทยให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ครูจ๊ะ เปิดสอนทำขนมไทยใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในขนมทุกชิ้น อีกทั้งยังคงรสชาติความหอม ความอร่อยครบรสตามสูตรชาววัง ตามสูตรคุณทวด ซึ่งเป็นนางห้องเครื่องในวัง มีรสหวานน้อย แต่อร่อยมาก ผู้ชื่นชอบขนมไทย สามารถเข้าไปรับชมได้ฟรีทางช่องยูทูป ในชื่อตอน ขนมไทยใส่ไอเดีย มีสอนทำขนมไทยมงคลหลากหลายชนิด หรือทางช่องดิจิทัลทีวี ช่อง 52 ทุกวันเสาร์ 14.30 น.

ขนมไทยมงคล 9 ชนิด

รายการ ขนมไทยใส่ไอเดีย มีสอนทำขนมไทยมงคลหลากหลายชนิด ที่หลายคนติดอกติดใจ ได้แก่ “ขนมอาลัว”  เป็นขนมหวานที่ทำจากแป้ง ผิวด้านนอกจะเป็นน้ำตาลแข็ง ด้านในเป็นแป้งหนืด มักทำเป็นอันเล็กๆ มีหลายสี มีกลิ่นหอม หวาน ชื่ออาลัว มีความหมายว่าเสน่ห์ดึงดูดใจ อาลัว มีต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยครั้งแรกโดย คุณท้าวทองกีบม้า หรือ เลดี้ฮอร์ เดอควีมาร์ ภริยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามารับราชการในราชสำนักในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ขนมชั้นแต่งหน้าอาลัว แบบปอนด์ราคา 3,900 บาท

ครูจ๊ะ ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของอาลัวดูสวยงามมากขึ้น เช่น ปั้นอาลัวลายไทย ที่มีรสชาติหวานน้อย กรอบมาก ใช้สารให้ความหวานแบบปลอดภัย ไม่กระตุ้นอินซูลิน แล้วยังมีขนมอาลัวในรูปแบบดอกไม้หลากหลายสีสัน ดูสวยงามน่ากิน กินได้ทั้งแบบสด และแบบอบกรอบนอกนุ่มใน เช่น อาลัวดอกกุหลาบใหญ่ เหมาะกับเป็นของชำร่วย ของขวัญ ของฝาก และขนมชั้นแต่งหน้าอาลัว เป็นขนมยอดฮิตอีกชนิดที่ใครหลายคนติดใจ เพราะมีหน้าตาสวยงาม กินง่าย อร่อย ไม่หวานมาก ใช้แทนขนมเค้กวันเกิดได้เลย

เสน่ห์จันทร์

“ขนมเสน่ห์จันทร์” เป็นหนึ่งในขนมมงคลของไทย มีความหมายเสริมสิริมงคล มีเสน่ห์ ทำให้มีคนรักคนหลงดั่งเสน่ห์ของผลจันทน์ จึงนิยมใช้ขนมเสน่ห์จันทร์ในงานพิธีมงคลสมรส ขนมเสน่ห์จันทร์ มีรูปทรงคล้ายผลลูกจันทน์ เนื่องจากมีส่วนผสมของผงลูกจันทน์อยู่ในเนื้อแป้งขนมด้วยนั่นเอง ขนมเสน่ห์จันทร์มีรสชาติไม่หวานมาก เนื้อนุ่ม กลิ่นหอมละมุน คล้ายกลิ่นผลจันทน์ผสมกับกลิ่นอบควันเทียน

สำปันนี

ขนมสำปันนี  ”เป็นหนึ่งในเมนูขนมไทยโบราณ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของท้าวทองกีบม้า ภริยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งขนมไทยในสมัยพระนารายณ์มหาราช ขนมสำปันนี มีความหมายว่า “อันเป็นที่รัก” กินแล้วจะรู้สึกถึงกลิ่นหอม หวาน ละลายในปากอย่างช้าๆ แสดงถึงความรัก ความคิดถึง และห่วงใย โดยผู้หญิงสมัยโบราณมักทำขนมสำปันนีให้สามีเอาไว้กินระหว่างทาง ให้หายคิดถึง ยามออกรบปกป้องบ้านเมือง ขนมสำปันนี ทำจากแป้งมันคั่ว แล้วนวดผสมกับน้ำกะทิ และน้ำตาลทราย เนื้อขนมจะละลายในปาก มีรสหวานและหอมกลิ่นควันเทียนอบขนม กรอบนอกนุ่มใน รูปร่างคล้ายดอกไม้ มีสีสันสวยงาม

หากใครสนใจอยากสมัครเรียนทำขนมไทยสวยๆ เช่น เซ็ตขนมไทย 5 มงคล อาลัวดอกบัว ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ทองโบราณ สำปันนี ฯลฯ แบบส่วนตัว (มีค่าเรียน) ครูจ๊ะ ก็เปิดครัวสอนทำขนมไทยอย่างเป็นกันเองในย่านถนนพระราม 2 ผู้สนใจจะได้ลงมือปฏิบัติเองทุกขั้นตอน และรับผลงานตัวเองสวยๆ กลับบ้านได้เลยจ้า

ลูกศิษย์ของครูจ๊ะมีมากมาย มาจากทั่วประเทศ เช่น ดีเจดาด้า พิธีกรชื่อดัง รายการแฉ ทางช่อง GMM 25 ก็ชื่นชอบฝีมือการทำขนมไทย งามศิลป์ มากจนต้องตามมาเรียนกับครูจ๊ะ เช่นเดียวกับ น้องแบงค์ ศรราม พระเอกลิเกเงินล้าน คณะศรราม น้ำเพชร ฯลฯ ก็เป็นลูกศิษย์ครูจ๊ะเช่นกัน

ครูจ๊ะ กับน้องแบงก์ ศรราม พระเอกลิเกเงินล้าน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) , กระทรวงศึกษาธิการ,  เฟซบุ๊ก “งามศิลป์ ขนมไทย”