3 อาชีพที่น่าเรียน กับ กศน. สร้างรายได้ดี สู้วิกฤตโควิดได้สบาย

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โรงงานปิดกิจการ ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก กระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดโครงการ 108 อาชีพ “กศน.สร้างงาน สร้างรายได้” ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 เพื่อเสริมความรู้ในประกอบอาชีพให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ทั้งส่งเสริมอาชีพใหม่ อาชีพเสริม และต่อยอดพัฒนาอาชีพเดิม เพิ่มพูนรายได้แก่ประชาชน ให้สู้วิกฤตโควิดได้ในระยะยาว” ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการ 108 อาชีพ กศน. สร้างงาน สร้างรายได้ ในช่วงที่ผ่านมา

ภายในงานดังกล่าว มีภาคีเครือข่าย หน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน. มาร่วมจัดแสดงผลงานอาชีพกว่า 100 คูหา ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สถาบันการศึกษาทางไกล ศูนย์กาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นอกจากนี้ ยังจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า และการบริการระดับพรีเมี่ยม ที่เกิดจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนของสำนักงาน กศน. ทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง

รมช. กนกวรรณ มอบโล่แก่ ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์

โครงการ 108 อาชีพ กศน. สร้างงาน สร้างรายได้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีประชาชนมากกว่า 50,000 คน ที่สนใจฝึกอาชีพตามความถนัดนำไปสู่การมีงานทำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแม่งานหลักในการจัดงาน เปิดเผยผลสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนใจกิจกรรมสาธิตและอบรมอาชีพการทำอาหารคาว-หวาน เครื่องดื่ม และอาชีพเพื่อการบริการ เช่น โหราศาสตร์ การตัดผมชาย-หญิง การนวดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งใจนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป

อาชีพติดฟิล์มโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน กลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทยจำนวนมาก เมื่อได้สมาร์ทโฟนตัวใหม่มาครอบครอง ก็ต้องติดฟิล์มกันรอยเพื่อดูแลปกป้องให้มีสภาพใหม่ให้นานที่สุด ซึ่งการติดฟิล์มกันรอย นับเป็นสินค้าขายง่าย กำไรดี ใช้เงินลงทุนน้อย แต่สร้างกำไรมากกว่า 80-90% กลายเป็นอาชีพทำเงินที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบอาชีพอิสระ สนใจอยากเรียนรู้

รมช. กนกวรรณ เยี่ยมชมนิทรรศการอาชีพ กศน.เขตบางบอน

ดังนั้น ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.เขตบางบอน จึงได้เปิดอบรมอาชีพ “การเปลี่ยนฟิล์มโทรศัพท์” ให้แก่ผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับฟิล์มกันรอยโดยทั่วไปมี 4 แบบ ได้แก่

1. ฟิล์มกันรอยแบบใส (Clear Screen Protector)  ที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด ไม่ส่งผลต่อการแสดงผล หรือสีสันของหน้าจอมากนัก แต่มีจุดอ่อนคือ มองเห็นรอยนิ้วมือได้ง่ายเมื่อใช้งาน

Advertisement

2. ฟิล์มกันรอยแบบด้าน (Matte Screen Protector) มีจุดเด่นสำคัญคือ ลดแสงจากหน้าจอ ลดการสะท้อนจากแสงรอบๆ เรียกว่า ช่วยถนอมสายตาในระดับหนึ่ง แถมลดรอยนิ้วมือเมื่อใช้งาน

3. ฟิล์มกันรอยแบบเพิ่มความเป็นส่วนตัว (Privacy Screen Protector) เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการเป็นส่วนตัว เพราะมองเห็นหน้าจอสมาร์ทโฟนได้เฉพาะมุมด้านหน้าตรงๆ คนอื่นไม่สามารถแอบมองข้อมูลของคุณระหว่างการใช้งานได้เลย

Advertisement

4. ฟิล์มกันรอยแบบกระจก (Mirror Screen Protector) มีจุดเด่นคือ นอกเหนือจากติดฟิล์มแล้ว ยังเพิ่มชั้นกระจก ทำให้ฟิล์มชนิดนี้หนากว่าปกติ ใช้ส่องแทนกระจกได้อีก แต่จุดอ่อนคือ เกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายมาก อาจจะต้องเปลี่ยนฟิลม์บ่อยๆ หากใช้งานในบริเวณที่มีแสงแดดจัด อาจมองเห็นหน้าจอไม่ชัดเจน

ฟิล์มกันรอยโทรศัพท์มือถือ มี 4 รูปแบบ

วิธีติดฟิล์มกระจกให้กับมือถือแสนง่าย เริ่มจากแกะเคสโทรศัพท์ออกก่อน หลังจากนั้นแกะฟิล์มตัวเก่าออก หากเป็นฟิล์มเดิม เป็นฟิล์มกระจก ต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึง เพราะตอนแกะฟิล์มออก อาจแตกง่ายและมีเศษฟิล์มร่วงหล่นอยู่บนโทรศัพท์ได้ หลังจากนั้นแกะซองหมายเลข 1 ซึ่งเป็นแผ่นผ้าเปียกออกมาเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย จึงค่อยแกะซองหมายเลข 2 คือ แผ่นผ้าแห้งมาเช็ดจอโทรศัพท์ให้แห้ง จากนั้นแกะแผ่นซับฝุ่นสีฟ้ามาแปะซับฝุ่นที่หน้าจอให้ทั่ว ซับหลายๆ ทีจนแน่ใจว่าไม่มีฝุ่นเกาะ

ขั้นตอนต่อมา ให้กะเล็งฟิล์มกระจกให้ตรงกับจอก่อน จากนั้นก็เริ่มแกะแผ่นพลาสติกด้านที่เป็นกาวของฟิล์มกระจกออกเล็กน้อย และแปะฟิล์มได้เลย โดยใช้มืออีกข้างค่อยๆ ดึงแผ่นพลาสติกออกไล่ไปเรื่อยๆ และใช้มืออีกข้างหนึ่งคอยกดทาบฟิล์มกระจกให้ติดกับจอโทรศัพท์ไล่ไปเรื่อยๆ จนฟิล์มกระจกแปะเต็มหน้าจอโทรศัพท์

เมื่อแปะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้แผ่นผ้าแห้งคอยถูๆ ไล่อากาศตามจุดต่างๆ ของฟิล์มกระจกออกให้หมด หากพบว่ามีฝุ่นเกาะค้างอยู่ที่หน้าจอ จะต้องแกะออก ใช้แผ่นสีฟ้าซับฝุ่นและเริ่มติดใหม่อีกครั้ง เพียงแค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นมั๊ย การติดฟิล์มโทรศัพท์ง่ายมากๆ ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็เนรมิตหน้าจอมือถือใหม่ให้สวยปิ๊งเหมือนเดิม

หากใครมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามเพิ่มเติมไปได้ที่ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.เขตบางบอน ซอยวัดนินสุขาราม ถนนกาญจนาภิเษก แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ โทร. (02) 453-1737 หรือทางอี-เมล [email protected]

ทีมงาน กศน.เขตหนองจอก

หลักสูตรขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา)

อีกหนึ่งอาชีพที่น่าเรียนรู้คือ ขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา) ของ กศน.เขตหนองจอก ที่มีเอกลักษณ์เด่นโดนใจผู้บริโภค เพราะขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา) สูตรนี้ แป้งบาง ไส้แน่น ไม่มีผงชูรส ไม่ใส่วัตถุกันเสีย มีความหลากหลายรสชาติ กินอร่อย ถูกปากถูกใจผู้บริโภค กรรมวิธีการทำก็แสนง่าย ไม่ยุ่งยาก

ส่วนผสมไส้

วัตถุดิบสำหรับทำส่วนผสมไส้ ได้แก่ ปลากะพง 1 กิโลกรัม ข่า 200 กรัม รากผักชี 5-10 ราก ถั่วลิสงป่น 1 กิโลกรัม เกลือ 100 กรัม น้ำตาลทราย 1.5 กิโลกรัม พริกไทย 4 ช้อนโต๊ะ หอมแดง 500 กรัม

วิธีทำ

  1. ต้มน้ำให้เดือด ใส่ข่าต้มกับปลากะพง 7-10 นาที
  2. หั่นรากผักชี และซอยหอมแดงเตรียมไว้
  3. นำปลากะพงที่ต้มมาปั่นกับหอมแดง และรากผักชี
  4. โขลกรากผักชีกับพริกไทย ใส่น้ำมันผัดพอหอม ใส่ปลาที่ปั่นไว้ลงผัด
  5. ใส่ถั่วลิสงป่นกับเกลือ ผัดให้เข้ากันเกือบแห้ง ใส่น้ำตาลทราย ผัดต่อจนร่วนจากพาย ค่อยๆ โรยพริกไทย ผัดให้เข้ากันจนไม่ติดกะทะ

    ขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา) ของ กศน.เขตหนองจอก

ส่วนผสมแป้ง

– แป้งสาลีอเนกประสงค์         1        กิโลกรัม

– น้ำมันพืช                1        ถ้วย

– น้ำเย็น                              400     ซีซี

– น้ำปูนใส                 1        ช้อนชา

วิธีทำ

ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน พักไว้จนแป้งนิ่ม จึงนำมาคลึงเป็นเส้นยาว แล้วเด็ดแป้งเท่าๆ กัน นำแป้งที่เด็ดแล้วแผ่ออก ใส่ไส้แล้วขลิบแป้งให้แน่น นำมาทอดน้ำมันไฟร้อนปานกลางจนสุกเหลืองพร้อมรับประทาน ปัจจุบัน สินค้าขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา) สูตรนี้ ได้ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (OOCC) กศน.แขวงกระทุ่มราย สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขนมปั้นสิบทอด (ไส้ปลา) ได้ทางเบอร์โทร. (090) 658-7934 รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

ทีมงาน กศน.เขตพญาไท

อาชีพการทำผ้าด้นมือ

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานหัตถกรรม ไม่พลาดที่จะแวะเข้าไปเยี่ยมชมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์สานเส้นพลาสติกจากฝีมือนักศึกษาผู้พิการทางสายตา ของ กศน.เขตพญาไท มีทั้งที่ใส่แก้วเยติ กระเป๋าสวยๆ หลากหลายสีสัน พร้อมได้เรียนรู้อาชีพการทำผ้าด้นมือ ซึ่งเป็นงานที่เย็บปักด้วยมือ คนไทยสมัยก่อนมีการเย็บผ้าห่มนวมไว้ใช้เองในครัวเรือน ฝีมือในการเย็บจะไม่ปราณีตและไม่เรียบร้อย เพราะทำไว้ใช้กันเองในครัวเรือน ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนารูปแบบการเย็บปักลายเส้น ลวดลาย สีสัน ให้เข้ากับยุคสมัย ใช้เป็นผ้าคลุมเตียงและผ้าห่มได้ แต่ยังไม่ทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการเย็บปักด้วยมือ ลายเส้นและลวดลายมีลักษณะที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงกลายเป็นผ้าด้นมือในรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่นิยมผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือที่เรียกว่า งานแฮนด์เมด (Handmade)

กศน.เขตพญาไท ได้เปิดสอนหลักสูตรการทำกระเป๋าผ้าด้นมือให้แก่ผู้สนใจโดยใช้ระยะเวลาอบรมไม่เกิน 30 ชั่วโมง สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการทํากระเป๋าผ้าด้นมือหาซื้อได้ง่าย ประกอบด้วย 1. ผ้าลายตามชอบ 2. ผ้าซับใน 3. ด้ายสีตามผ้า 4. กรรไกร 5. เข็ม 6. เชือกก้างปลาครึ่งนิ้ว 7. เข็มกลัด 8. กระดาษสร้างแบบ

กระเป๋าผ้าด้นมือ ผลงาน กศน.เขตพญาไท

ขั้นตอนการทำ

  1. สร้างแบบกระเป๋าโดยให้มีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร และวางผ้าตามแบบวางแบบกลัดเข็ม แล้วตัดตามแบบเสร็จตัดผ้าลายตัวนอก 1 ชิ้น และตัดผ้าซับใน 1 ชิ้น
  2. วางผ้าเอาหน้าผ้าที่ถูกประกบเข้าหากันแล้วเย็บทั้งสองข้างให้เรียบร้อยเสร็จแล้วแบะตะเข็บออกทั้งสองข้าง ให้เอารอยต่อชนกันให้ตรง
  3. วัดจากรอยต่อผ้า เย็บจากด้านข้าง 2.5 เซนติเมตร ทั้ง 4 ด้าน (เว้นระยะห่างจากขอบผ้า 2.5 เซนติเมตร)

4.กลับด้านในออกมาจากช่อง 5 เซนติเมตร และเย็บปากถุงผ้า 5 เซนติเมตร

  1. สอดเชือกก้างปลา ความยาว 60 เซนติเมตร ทั้งสองเส้นผูกให้เรียบร้อย จะได้กระเป๋าหูรูดใบเล็กที่เสร็จสมบูรณ์

สำหรับต้นทุนการทำกระเป๋าด้นมือใบเล็กมีหูรูด กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร ใช้ผ้า ขนาด 1 เมตร วางได้ 10 ใบ ผ้านอกราคา 65 บาท ผ้าในราคา 60 บาท สามารถขายได้ใบละ 30-39 บาท จะได้กำไร ประมาณ 200 บาท หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กศน.เขตพญาไท เลขที่ 144/5 ถนนพระราม 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ (02) 279-0757 หรือทาง E-mail : [email protected]

รมช. กนกวรรณ เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการอาชีพออนไลน์

หากใครพลาดโอกาสเข้าร่วมโครงการ 108 อาชีพ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องเสียใจ เพราะสำนักงาน กศน. กรุงเทพมหานคร โดย ดร. ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร ได้ปรับแผนการเรียนรู้ และเสริมทักษะความรู้ให้กับผู้เรียนถึงบ้าน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบ “โครงการอาชีพออนไลน์ สู่ดิจิทัลทีวี” จำนวน 7 ชุดวิชา ได้แก่ 1. “อนาคตประเทศไทยกับอาชีพไอที” โดย คุณอั้ม – ศกลภัค เพ็ชรายุทธพันธ์ 2. “ก้าวสู่ความสำเร็จด้วยพลังตัวเลข” โดย คุณจิมมี่ – ฐกลพัชร์ ลัดดาสิริพร 3. “มือถือ สร้างรายได้” โดย คุณโต้ง – ธวัชชัย ศิริวราวาท 4. “ชีวิตดี๊ดี ไพ่ภาคพยากรณ์ สร้างสรรค์อาชีพ” โดย คุณจี้ – อาภาฎา พัฒนะภูมิ 5. “โหราศาสตร์” โดย ดร. ภิญโญ พงศ์เจริญ 6. “ไขรหัสลับชะตาตัวเอง สู่ความสำเร็จ อย่างมีความสุข” อาจารย์สมชัย เจริญวรเกียรติ และ 7. “ขนมไทยใส่ไอเดีย” โดย ครูจ๊ะ – ชญานิศา พิรเดชสกุล โดยถ่ายทอดความรู้ผ่าน Digital TV ช่อง 52 โครงการนี้ช่วยให้ กศน.กรุงเทพมหานคร สามารถขยายบริการการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนและผู้รับบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล