ผ้าฝ้ายท้อมือ ชุมชนปาเก่อญอ บ้านห้วยต้ม ลำพูน สร้างลวดลายด้วยธรรมชาติใกล้ตัว

บ้านห้วยต้ม เป็นหมู่บ้านในเขตการปกครองของตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันบ้านห้วยต้มเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าปาเก่อญอ (กระเหรี่ยง) ชนเผ่าปาเก่อญอในชุมชนส่วนใหญ่นั้นจะประกอบอาชีพทางการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว แต่ไม่นิยมการเลี้ยงสัตว์ เพราะประชากรส่วนใหญ่จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ นอกจากอาชีพเกษตร ชนเผ่าปาเก่อญอมีอาชีพเสริมคือการทอผ้าฝ้าย การทำเครื่องเงิน  การขุดศิลาแลง และ การจักสานไม้ไผ่ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูและคอยให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือพร้อมกับช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน คือ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดลำพูน

ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงจังหวัดลำพูน เป็นหน่วยงานรัฐ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบวิจัย และทดสอบปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรพร้อมกับถ่ายทอดความรู้โดยการส่งเสริมอาชีพตลอดจนคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร

คุณพินิจ เชาว์ตระกูลเทียน อดีตหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดลำพูน เล่าว่า ชนเผ่าปาเก่อญอเป็นชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน สภาพความเป็นอยู่จะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ในหนึ่งหลังคาเรือนจะประกอบไปด้วยหลายครอบครัว มีปู่ ย่า ตายาย ลูกที่แต่งงานแล้วก็ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่และบางส่วนแยกออกไปเป็นครอบครัวเดี่ยวแต่ก็อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และด้านการศึกษาส่วนมากเมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วจะไม่เรียนต่อ ซึ่งมีค่านิยม ในเรื่องการแต่งงานที่มีอายุน้อย หญิงสาวที่มีอายุเกิน 20 ปี จะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ  ตลอดจนความจำเป็นในด้านแรงงานในครัวเรือน

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากชุมชน

ชุมชนปาเก่อญอ มีประเพณีการทำบุญทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ โดยมีครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นที่เคารพ สักการะและเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของประชาชนในชุมชน  ซึ่งท่านได้มรณภาพไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2543 และสรีระของท่านสถิตย์อยู่ในครอบโลงแก้ว ณ.วิหารแก้ว  วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม  มีศาสนะสถานมากมาย  ทั้งวัดวาอาราม  และพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

คุณพินิจ เล่าว่า หลังจากฤดูการทำการเกษตรหมดลง คนในชุมชนปาเก่อญอจะมีอาชีพเสริมที่แต่งต่างกันไป เพศชายจะมีอาชีพทำเครื่องเงินที่มีลวดลายและเอกลักษณ์เฉพาะตัวบวกับอาชีพรับจ้างทั่วไปส่วนเพศหญิงก็จะมีอาชีพท้อผ้าฝ้ายลายโบราณของชนเผ่า  การย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีจากธรรมชาติ  การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น กระเป๋าผ้า กางเกง เสื้อ ฯลฯ นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง

ชาวปกากะญอที่นี่นิยมใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาแต่สมัยโบราณที่ เสื้อผ้าที่สวมใส่ส่วนใหญ่จะย้อมด้วยสีธรรมชาติและสร้างลวดลายด้วยการทอด้วยการปักด้วยเส้นไหมและลูกเดือย มีความเป็นเอกลักษณ์ เพราะชาวปกากะญอเพศหญิงส่วนใหญ่จะได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญากระบวนการผลิตผ้าทอแก่มาตั้งแต่ 12 ปี จนมีความชำนาญทำให้สามารถออกแบบลวดลายที่สวยงาม

ออกแบบตัดเป็นชุด ว่างจำหน่าย

สำหรับลวดลายผ้านั้นได้มาจากลายหนังงูใหญ่ซึ่งมีเรื่องราวเล่าสืบมาว่า มีคู่รักในอดีตของชาวปกากะญอได้เห็นงูเปลี่ยนลายทุกวัน จึงมีความคิดที่จะท้อผ้าตามลายของงูที่เปลี่ยนไป จนหญิงสาวทอผ้าตามลายของงูที่เปลี่ยนไปจนครบ 7 วัน ทำให้หญิงสาวได้ลายผ้าทั้งหมด  7 ลาย

“ชาวปกากะญอ สร้างสรรค์ลวดลาย สีสันของผ้าทอจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว จึงมีความสวยงาม และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวปกากะญอ มีการนำเมล็ดเดือย ซึ่งเป็นวัชพืชป่า ปักบนผืนผ้า สร้างเป็นลวดลายลักษณะเฉพาะ เป็นที่สะดุดตาแก่บุคคลภายนอก ซึ่งสนใจซื้อหาไปสวมใส่ และเป็นของฝาก ทำให้ชาวปกากะญอ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเพื่อการจำหน่าย” คุณพินิจกล่าว

ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นกลุ่มท้อผ้าประจำชุมชนขึ้นที่ ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผลิตผ้าฝ้ายท้อมือและสินค้าต่างๆที่มีคุณภาพได้มาตราฐานสินค้า OTOP ออกจำหน่ายทั้งในและต่างจังหวัด โดยมีแหล่งจำหน่ายสินค้าหลักอยู่ที่ ศูนย์วิจัยงานหัตถกรรมบ้านห้วยต้ม ซึ่งเป็นร้านแสดงหัตถกรรมงานที่ผลิตจากฝีมือชาวปาเกอญอ ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องเงิน กระเป่า ย่ามชาวเขา และชุดพื้นเมืองชาวปาเกอญอที่สวยงามแปลกตา

เครื่องเงินจากช่างในชุมชน

ผ้าฝ้ายลายโบราณของชนเผ่า เป็นผ้าทอมือที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีการอนุรักษ์ และรักษาผ้าทอท้องถิ่นเอาไว้โดยการทอจะมีการทอหลายอย่าง นับว่าเป็นศิลปะอันทรงคุณค่า และน่าภูมิใจ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะในการทอสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แล้วนำมาสวมใส่ในงานประเพณี ที่สำคัญของตนเอง

หากท่านใดที่มีโอกาสผ่านไปกราบนมัสการสรีระของท่านครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและกราบขอพรพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมสินค้ากันได้ที่ ศูนย์วิจัยงานหัตถกรรมบ้านห้วยต้มตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน คุณสายทอง เงินเลิศสกุล โทรศัพท์ 08-7173-8152 และ คุณชนิสรา เงินเลิศสกุล โทรศัพท์ 08-0120-9051