น้ำผึ้ง…น้ำหวานที่มากคุณค่า เพื่อสุขภาพ

คำว่า “น้ำผึ้ง” จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนทุกชาติทุกภาษายอมรับว่าเป็นยาอายุวัฒนะขนานแท้ สำหรับคนไทยเรารู้จักผึ้งและคุณค่าของน้ำผึ้งมาแต่โบราณกาล ที่เป็นหลักฐานเด่นชัดก็คือ หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีตัวอักษร “ผ” ปรากฏอยู่ และนอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์ศาสนาต่างๆ เกือบทุกศาสนาทั่วโลกก็ได้มีการจารึกถึงคุณประโยชน์ของผึ้ง และน้ำผึ้งไว้ด้วย

“น้ำผึ้ง” เป็นอาหารที่ให้ความหวานที่เก่าแก่ที่สุด เป็นน้ำตาลบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ปราศจากเชื้อโรค ปลอดภัยต่อการบริโภค สรรพคุณของน้ำผึ้งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษายอมรับถึงคุณประโยชน์ของการใช้ เป็นอาหารบำรุงสุขภาพ และมีความเชื่อถึงสรรพคุณทางยาแตกต่างกันไป เช่น สถาบันแพทย์แผนไทย ระบุว่า น้ำผึ้ง เป็นสารที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย บำรุงประสาทและสมองให้สดชื่นแจ่มใส เป็นต้น ในสมัยโบราณถือว่าน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นของกำนัลที่มีมูลค่าสำหรับผู้ให้และผู้รับเสมอมานับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากน้ำหวาน…เป็นน้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง คือ น้ำหวานที่ผึ้งงานเก็บจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ หรือต้นไม้ ที่ผ่านกระบวนการย่อยภายในตัวผึ้ง แปรสภาพน้ำหวานให้กลายเป็นน้ำผึ้ง ขณะกำลังบินกลับรัง แล้วคายออกมาเก็บไว้ในหลอดรวง ผ่านการระเหยน้ำโดยผึ้งช่วยกันกระพือปีกไล่ความชื้น จนน้ำผึ้งในหลอดรวงนั้นมีความชื้นน้อยกว่า 20% ฝาหลอดรวงรังปิด จึงจัดเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน

มีอะไรบ้าง…ในน้ำผึ้ง

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า น้ำผึ้ง คือน้ำตาล แต่ความจริงแล้ว น้ำผึ้งไม่ใช่น้ำตาลธรรมดา แต่เป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยว ที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ง่าย องค์ประกอบที่สำคัญๆ ในน้ำผึ้ง มีดังนี้

1. น้ำ หรือความชื้นที่มีอยู่ในน้ำผึ้ง มีประมาณ 17-18% โดยมาตรฐาน โดยทั่วไปมีความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 21 จะทำให้เก็บไว้ได้นาน ไม่บูดเสียง่าย

2. น้ำตาล มีไม่ต่ำกว่า 17 ชนิด เช่น ฟรุกโทส กลูโคส ซูโครส มอลโทส เป็นต้น น้ำผึ้งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้น้ำผึ้งมีรสหวาน

3. กรด ในน้ำผึ้งมีหลายชนิด ได้แก่ กรดกลูโคนิก นอกจากนี้ ยังมีกรดอะมิโน ถึง 16 ชนิด กรดเกลือ และกรดกำมะถันรวมอยู่

4. แร่ธาตุ ได้แก่ โพแทสเซียม คลอรีน กำมะถัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซิลิคอน เหล็ก แมงกานีส ทองแดง ถึงจะมีปริมาณไม่มากนัก แต่ก็อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ประมาณ 0.02-1%

5. เอนไซม์ ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาที่มีประโยชน์ต่างๆ เช่น

– กลูโคสออกซิเดส เปลี่ยนกลูโคส กรดกลูโคนิก+ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค เช่นเดียวกับสารอินฮิบิน แต่สารอินฮิบินจะสลายตัวเมื่อได้รับความร้อนประมาณ 57 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 ชั่วโมง

– อินเวอร์เทส ช่วยย่อยน้ำตาล ซูโครส เดกซ์โทรส และ ลีวูโลส แต่เอ็นไซม์ชนิดนี้จะสลายตัว เมื่อได้รับความร้อนมากกว่า 58-59 องศาเซลเซียส นาน 10 ชั่วโมง

– ไดแอสเตส ช่วยย่อยแป้ง น้ำตาล แต่ความจริงแล้วจะไม่มีแป้งอยู่ในน้ำหวานของดอกไม้ ทำให้ไม่ต้องใช้เอ็นไซม์ตัวนี้ แต่เป็นเพียงตัวบ่งชี้ให้รู้ว่า เป็นน้ำผึ้งที่มีไดแอสเตส มากน้อยเพียงใด

6. วิตามิน ที่พบมีหลายอย่าง เช่น บี 1 บี 2 ซี บี 6 และวิตามินบีรวม แตกต่างกันตามชนิดของเกสรดอกไม้ในน้ำผึ้งนั้น

7. โปรตีน และกรดอะมิโน

น้ำผึ้ง…กับคุณสมบัติทางยา

น้ำผึ้ง สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ เพราะน้ำผึ้งมีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง ซึ่งความเข้มข้นนี้จะช่วยกำจัดปริมาณน้ำที่แบคทีเรียต้องการใช้ในการเจริญเติบโต รวมถึงน้ำผึ้งมีความเป็นกรดและมีปริมาณโปรตีนต่ำ ทำให้แบคทีเรียไม่ได้รับไนโตรเจนที่จำเป็น นอกจากนี้ น้ำผึ้ง ยังมีสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสารแอนติออกซิแดนต์ เช่นเดียวกับที่มีในผักใบเขียว และยังมีวิตามินบี ซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม เกลือแร่ และกรดอะมิโน ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ บำรุงโลหิต ปรับสมดุลร่างกายและควบคุมน้ำหนักได้

นอกจากนี้ ในน้ำผึ้งยังมี “โพลเลน” ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติ มีฤทธิ์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดังนั้น เวลาที่เราได้รับบาดเจ็บมีแผลเล็กน้อย เช่น แผลถลอก รอยขีดข่วนต่างๆ ก็สามารถใช้น้ำผึ้งทาเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ และน้ำผึ้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ สามารถแก้อาการท้องผูกในเด็กและคนชราได้เป็นอย่างดี

น้ำผึ้ง…และคุณลักษณะเฉพาะที่พบเห็น

น้ำผึ้ง ที่ได้จากพืชต่างชนิดกัน จะมีความแตกต่างในเรื่องทางกายภาพ ได้แก่ สี กลิ่นและรสชาติ และจะมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น น้ำผึ้งตกผลึก น้ำผึ้งจากพืชบางชนิด สามารถตกผลึกได้ดี เช่น น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ และดอกทานตะวัน และน้ำผึ้งยางพารา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ เนื่องจากการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวมาเป็นของแข็ง เป็นผลึกมีรูปร่างเป็นแท่งแหลม เปราะบาง เพราะมีปริมาณน้ำตาลกลูโคสในน้ำผึ้งสูงกว่าน้ำตาลฟรุกโทส ผลึกดังกล่าวจะมีสีเดียวกลมกลืนไปทั้งขวด ไม่แยกชั้น ทั้งนี้ ลักษณะการตกผลึกจะหายไปทันที เมื่อนำไปอุ่นที่อุณหภูมิไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส ภายใน 5 นาที ต่างจากน้ำผึ้งตกตะกอนที่เกิดจากการปลอมปนน้ำตาลทราย ผลึกจะมีสีน้ำตาลเข้ม แยกจากส่วนที่เป็นของเหลวอย่างเห็นได้ชัด

น้ำผึ้งเปลี่ยนสี

น้ำผึ้งเมื่อเก็บไว้ระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนสี หรือมีสีเข้มขึ้น เพราะปฏิกิริยาการสลายน้ำตาลฟรุกโทส เกิดสาร HMF (hydroxy methyl furfural) โดยที่น้ำผึ้งนั้นยังคงนำมาบริโภคได้ เพียงแต่สีไม่น่ากินเท่านั้น โดยน้ำผึ้งแต่ละชนิดจะเปลี่ยนสีเร็วหรือช้าต่างกัน ทั้งๆ ที่เก็บไว้ในสถานที่เดียวกัน เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย และมะพร้าว จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มจนถึงดำได้เร็วกว่าน้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ นุ่น งา เป็นต้น
น้ำผึ้งที่มีสีเข้มจะมีปริมาณแร่ธาตุในน้ำผึ้งมากกว่าน้ำผึ้งสีจาง เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส ทองแดง เป็นต้น แร่ธาตุเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ทองแดง เหล็ก และแมงกานีส มีส่วนสำคัญในการสร้างเลือด เป็นต้น

วิธีการเลือกซื้อน้ำผึ้งอย่างไร?

1. มีกลิ่นน้ำผึ้งและกลิ่นหอมของเกสรของดอกไม้ ที่ระบุบนฉลากข้างขวด เช่น น้ำผึ้งลำไย ควรมีกลิ่นของดอกลำไย ดอกสาบเสือ ขี้ไก่ย่าน ทานตะวัน นุ่น หรือลิ้นจี่ เป็นต้น รวมถึงมีรสชาติความหอมหวานของดอกไม้ตามชนิดที่ระบุรวมอยู่ด้วย

2. สะอาด ไม่มีเศษละอองเกสร เศษตัวอ่อน ดักแด้ ปะปนอยู่ มีสีอ่อนใสตามธรรมชาติ ไม่แยกชั้น มีสีเดียวกลมกลืนกันไปทั้งขวด มีความหนืดหรือมีความเข้มข้น ซึ่งแสดงว่าน้ำผึ้งนั้นมีคุณภาพชั้นดี (เป็นการตรวจสอบได้ในลำดับแรกก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อน้ำผึ้ง)

3. มีฉลากแสดงรายละเอียดน้ำหนักสุทธิ เครื่องหมายการค้า วันที่ผลิต สถานที่ผลิต ชื่อผู้ผลิต เครื่องหมายรับรองคุณภาพจากหน่วยงานราชการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับได้

การเก็บรักษาน้ำผึ้ง…ที่ถูกต้อง

ในน้ำผึ้งจะมีความชื้นหรือมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ หากเก็บรักษาไว้ไม่ดี อาจทำให้น้ำผึ้งบูดเสียได้ ดังนั้น เพื่อให้ได้รับคุณค่าของน้ำผึ้งอย่างแท้จริง ควรคำนึงถึงรายละเอียด ดังนี้

1. น้ำผึ้งที่มีความชื้นสูง ควรบริโภคให้หมดภายใน 1-2 เดือน

2. ควรเก็บน้ำผึ้งในที่เย็นและไม่โดนแสงแดด แต่ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น หากสามารถบริโภคภายในกำหนด แต่ถ้าเก็บไว้ในที่เย็นหรือตู้เย็นสามารถรักษาไว้ได้นานขึ้น

3. น้ำผึ้งที่เก็บไว้นานจะมีสีเข้ม เพราะปฏิกิริยาการสลายน้ำตาลฟรุกโทส ซึ่งสามารถนำมาบริโภคได้ แต่ไม่ควรเก็บนานเกิน 2 ปี หรือถ้ามีสีดำ ไม่ควรนำมาบริโภค

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำผึ้งยังคงครองความนิยมมาโดยตลอด “น้ำผึ้ง” นอกจากจะเป็นอาหารชั้นยอดแล้ว ยังมีสรรพคุณในการนำมาเป็นส่วนผสมสำหรับปรุงยา หรือเป็นตัวประสานในยาแผนโบราณ หรือจะกินเพื่อบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลียได้ น้ำผึ้งถือได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่เหมาะสำหรับบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้น น้ำผึ้งจึงเหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างแท้จริง…แต่ขอบอกว่า ต้องเป็นน้ำผึ้งที่แท้และบริสุทธิ์จริงๆ เท่านั้นนะคะ…เพราะไม่เช่นนั้นท่านอาจได้รับน้ำตาลเพิ่มโดยไม่รู้ตัว แถมด้วยของฝากที่ทุกคนไม่ต้องการเป็น…เบาหวานตามมาก็ได้นะ…จะบอกให้!!!

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผึ้ง ติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชุมพร (ผึ้ง) โทรศัพท์ (077) 574-519-20 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

…………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่