ของใช้ชาวบ้าน : ไม้ปอกข้าวโพด

ข้าวโพด อยู่คู่กับคนไทยมาแสนนาน

หากมองไปในประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เรียกว่า ข้าวโพดสาลี กัมพูชา เรียกว่า โปด คนไทยในประเทศไทยเรียกว่าข้าวโพด เราปลูกข้าวโพดได้ทุกภาค ข้าวโพดเป็นพืชอายุสั้น เพียงแค่ได้น้ำให้เมล็ดงอกออกมา และได้น้ำพอเลี้ยงต้นบ้าง ไม่เกิน 3 เดือน เราก็เก็บฝักแก่ได้ ถ้าเราต้องการฝักอ่อนก็เก็บผลผลิตได้เร็วกว่านั้น อย่างข้าวโพดอ่อนหรือแอ้ข้าวโพด ปลูกไปประมาณ 50 วัน ก็เก็บผลผลิตได้

การเก็บข้าวโพดของชาวบ้านมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

  1. เก็บฝักอ่อน ปลูกประมาณ 50 วัน ก็เก็บผลผลิตได้ ข้าวโพดอ่อนเหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหาร ร้านอาหารต่างๆ มักสั่งซื้อข้าวโพดอ่อนไว้เป็นวัสดุประกอบอาหารให้ลูกค้า
  2. เก็บฝักกิน ใช้เวลาปลูกประมาณ 2 เดือนเศษๆ ก็เก็บผลผลิตได้ และ
  3. เก็บฝักแก่ ใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน จึงเก็บผลผลิตได้

อายุข้าวโพดแต่ละพันธุ์ไม่เท่ากัน ทำให้เวลาเก็บผลผลิตต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเก็บฝักแก่เราชาวบ้านใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน

การแบ่งชนิดข้าวโพดของเราชาวบ้าน มีวิธีง่ายๆ คือ

  1. แบ่งโดยใช้สี เราจะได้ข้าวโพด 2 ชนิด คือสีขาวกับสีเหลือง
  2. แบ่งโดยใช้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ได้ข้าวโพด 2 ชนิด เหมือนกัน คือข้าวโพดหนัก กับข้าวโพดเบา

เอาเข้าจริง ข้าวโพดไทย ไม่ได้มี 2 สี แต่ยังมีสีม่วง และสีอื่นๆ อีก เนื่องจากข้าวโพดเหล่านั้นเป็นพันธุ์พื้นเมือง จึงหาดูได้ยาก

การเก็บข้าวโพดสมัยผู้เขียนยังเด็กๆ คือราวๆ พ.ศ. 2510-2520 ชาวบ้านยังปลูกและเก็บข้าวโพดแบบโบราณ แต่ละปีเราชาวบ้านจะจ้างรถไถมาไถดิน หว่านเมล็ดข้าวโพดลงไป ก่อนหว่านจะต้องเคล้ายากันแมลงไว้เล็กน้อย ป้องกันแมลงต่างๆ เข้ามากัดกินเมล็ด ก่อนที่ฝนจะตกลงมาให้เมล็ดข้าวโพดงอก วิธีนี้ดีตรงไม่เปลืองแรงงาน แต่ผลผลิตยากที่จะเดาใจฟ้า เนื่องจากสมัยก่อนเราต้องรอน้ำฝน

บางคราวเราชาวบ้านก็ใช้หยอดเมล็ด

การหยอดเมล็ดข้าวโพด แม้จะใช้แรงงานคนมาก แต่ก็ได้ผลดี เราชาวบ้านต้องรอให้ฝนตกลงมาหนักๆ แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดออกมาแช่น้ำไว้ 1 คืน รุ่งเช้าก็ลงแขกหยอดเมล็ดข้าวโพด เริ่มตั้งแต่เช้าจนกระทั่งแล้วเสร็จ

ข้าวโพดสำหรับชาวบ้านสมัยก่อนแล้ว มีเพียง 2 อย่าง คือ 1. ข้าวโพดเก็บกิน และ 2. ข้าวโพดเก็บฝักแก่ขาย

เอาเข้าจริง เราชาวบ้านก็ไม่ได้แยกกันได้เด็ดขาดหรอก คราวใดที่ข้าวโพดเก็บฝักขายพอที่จะเก็บมาต้มหรือเผาได้ เราชาวบ้านก็มักจะไปด้อมๆ มองๆ แอบเก็บของชาวบ้านมาต้มกิน ประการฉะนี้เราจงใจลืมบอกเจ้าของอยู่บ่อยๆ

เรื่องแบบนี้ เราชาวบ้านไม่ถือสากัน ถือว่าแบ่งกันกิน ชาวบ้านแต่ละคนแค่เก็บเอามากินฝักสองฝัก ไม่ได้เก็บไปขาย

เมื่อข้าวโพดแก่ เราชาวบ้านก็ช่วยกันเก็บฝักข้าวโพด

การเก็บฝักข้าวโพดแก่ เราชาวบ้านมีวิธีเก็บอยู่ 2 แบบ คือ เก็บมาทั้งฝักแล้วมาปอกเปลือกออกภายหลัง หรือไม่ก็เก็บมาแต่ฝักทิ้งเปลือกไว้กับต้น

เราชาวบ้านมักเลือกทิ้งเปลือกไว้กับต้น ตัดภาระต้องมาปอกเปลือกอีก 1 รอบ ขั้นตอนการเก็บข้าวโพดแบบนี้ เราชาวบ้านมีไม้บางๆ เล็กๆ และแหลมอันหนึ่งเป็นเครื่องมือช่วย เราเรียกว่า ไม้ปอกข้าวโพด

การทำไม้ปอกข้าวโพด เราชาวบ้านนำไม้ไผ่มาผ่าออกเป็นซี่ๆ แต่ละซี่กว้างราว 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 นิ้ว เหลาให้ปลายเรียวแหลม และเกลาเสี้ยนออกให้หมด

วิธีใช้ เมื่อเก็บข้าวโพด เราชาวบ้านก็แทงไม้เข้าไปในเปลือกบริเวณปลายฝักข้าวโพด จากนั้นงัดไม้ขึ้น เปลือกฝักจะเปิดออก คราวนี้เราก็ใช้มือฉีกเปลือกข้าวโพดซ้ำ แล้วหักเอาฝักข้าวโพดออกมาอย่างง่ายดาย

ถ้าเราไม่ใช้ไม้ปอก ก็ต้องใช้มือแกะเปลือก ถึงจะหักข้าวโพดออกมาได้ การทำอย่างนั้นนอกจากจะทำให้เปลืองเวลาแล้ว ยังอาจทำให้มือพองอีกด้วย

ชีวิตเราชาวบ้าน มักสร้างสรรค์เครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ มาช่วยผ่อนแรงเสมอ