ตาลแว่น ตาลเหลว ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของดีกะมิยอ เมืองปัตตานี

พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีต้นตาลจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูก แต่เป็นตาลที่ขึ้นตามธรรมชาติ และธรรมชาติของต้นตาล จะมีอายุยืนยาวเกินร้อยปี ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องบำรุงรักษาเหมือนพืชชนิดอื่น

ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำตาลแว่น และ น้ำตาลเหลว

คุณปาตีเมาะ มีฮะ วิทยากรน้ำตาลแว่น

ตำบลกะมิยอ มีทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน ในทุกหมู่บ้านมีชาวบ้านที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น เก็บน้ำตาลจากตาลโตนด นำมาแปรรูปเป็นตาลแว่น และ น้ำตาลเหลว สร้างรายได้

พื้นที่ปลูกตาลโตนดในอำเภอเมืองมีมาก และมีการเก็บน้ำตาลโตนดมาแปรรูปเป็นตาลแว่น น้ำตาลเหลว ก็มากเช่นกัน แต่กรรมวิธีการผลิตจะต่างกัน ขึ้นกับภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นก็ผลิตน้ำตาลออกมาตามสูตรของแต่ละบ้าน แต่ละครัวเรือน เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน และผลิตน้ำตาลแว่น รวมถึงน้ำตาลเหลว ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ มีหลายราย

กระบอกเก็บน้ำตาลแบบเก่าสีน้ำตาล ทำจากไผ่ แบบใหม่พลาสติกสีขาว

คุณปาตีเมาะ มีฮะ ซึ่ง กศน. เมืองปัตตานี ได้เชิญมาเป็นวิทยากรน้ำตาลแว่น เมื่อจัดให้มีการอบรมหรือฝึกอาชีพให้กับนักศึกษา กศน. และชุมชน เพราะ คุณปาตีเมาะ เป็นนักศึกษาของ กศน. เมืองปัตตานี มาตั้งแต่เริ่มสมัครเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา กระทั่งปัจจุบัน เป็นนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้ว ทั้งยังเป็นแม่บ้าน ที่เลี้ยงลูก จำนวน 14 คน ด้วยอาชีพการทำน้ำตาลแว่นและน้ำตาลเหลวจากตาลโตนด อีกทั้งตาลโตนดที่คุณปาตีเมาะผลิตมานั้น การันตีได้ว่า ไม่มีการเจือปนน้ำตาลทรายลงไป จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่ที่ 4 ที่คุณปาตีเมาะอาศัยอยู่

เดิมคุณปาตีเมาะ ผลิตและขายในหมู่บ้านเท่านั้น มีแม่ค้าจากตลาดเข้ามาซื้อไปขายที่ตลาดบ้าง หรือบางครัวเรือนที่ไม่ได้ผลิตน้ำตาลเองก็มาซื้อไปใช้ในครัวเรือน เพราะเป็นน้ำตาลโตนดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์

วิธีตากตาลโตนด

ก่อนหน้านี้ คุณปาตีเมาะ ผลิตน้ำตาลโตนดขายในหมู่บ้าน เมื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติมจาก กศน.  และนำมาผนวกกับผลิตภัณฑ์ที่คุณปาตีเมาะทำอยู่ ทำให้สามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดได้ดี

กศน. ตำบล เข้ามาส่งเสริมและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับการสนับสนุน เช่น การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาน้ำตาลโตนด จากการแปรรูปเป็นน้ำตาลแว่น และน้ำตาลเหลว เป็นน้ำตาลผง น้ำตาลแว่นขนาดเล็ก เพื่อให้สะดวกต่อการบริโภคของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย

การเคี่ยวต้องกวนตลอดเวลา ประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนนำไปตาก

ตาลโตนดของคุณปาตีเมาะ ผลิตด้วยน้ำตาลโตนดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีโอกาสพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี ก็เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ได้เข้าถึงผู้บริโภคด้วยการนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายยังงานต่างๆ ของจังหวัด เพื่อทดลองตลาด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้คุณปาตีเมาะมีออเดอร์จากลูกค้าจากหลายจังหวัด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานีเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

คุณปาตีเมาะ มีฮะ เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด และวิทยากรทำน้ำตาลแว่น หมู่ที่ 4 ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เล่าว่า เธอและสามี มีลูกทั้งหมด 14 คน ซึ่งทั้งคู่มีอาชีพเพียงการทำนา 10 ไร่ และการเก็บน้ำตาลโตนดมาผลิตเป็นน้ำตาลแว่น และน้ำตาลเหลว จำหน่าย และรายได้จากการผลิตน้ำตาลโตนดนี้ ก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีไปแล้วหลายคน

เตา ใช้เตาดินก่อ ขนาดเล็กใหญ่ตามสูตรของแต่ละครอบครัว

ในหมู่ที่ 4 ที่คุณปาตีเมาะ อาศัยอยู่ มีเกษตรกรทำอาชีพเก็บน้ำตาลโตนดมาแปรรูปจำหน่ายอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำทุกครัวเรือน เมื่อผลิตได้ก็วางจำหน่ายภายในหมู่บ้าน มีชาวบ้านในหมู่บ้านมาซื้อนำไปประกอบอาหารคาว หวาน และมีคนนอกหมู่บ้านเข้ามาซื้อ เพราะกิตติศัพท์น้ำตาลโตนดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ของคุณปาตีเมาะ

คุณปาตีเมาะ บอกว่า ตาล เป็นพืชที่มีคุณค่า และมีประโยชน์ตลอดทั้งลำต้น น้ำตาลนำมาแปรรูปจำหน่าย ผลนำไปขาย ใบนำมาทำเป็นภาชนะใส่น้ำตาลกวนเพื่อตากเป็นน้ำตาลแว่น และยังนำไปใช้มุงหลังคาได้ด้วย ส่วนเนื้อไม้ เมื่อต้องตัดโค่นหรือตาย ก็เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและทนทานมาก

ตาล ให้ผลและน้ำตาลต่อเนื่องตลอดปี แต่ในฤดูที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ คือ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เมื่อเก็บน้ำตาลมาแล้ว ในช่วงนั้นผลผลิตที่ได้จากตาลจะมีคุณภาพดีที่สุด

น้ำตาล ได้มาจากงวงหรือดอกของต้นตาล

คุณปาตีเมาะ เล่าว่า ต้องเลือกงวงที่ยาวที่สุดของต้น เมื่อติดผลเล็กๆ จะนวดที่ผลและงวง 4-6 วัน ผู้นวดจะพิจารณาเอง เมื่อเห็นว่านวดได้ที่แล้ว จะใช้มีดปาดตาลปาดลูกออกหมดเหลือเฉพาะแกนงวง แล้วทำน้ำหมักที่ทำจากน้ำโคลนหรือน้ำหมักสูตรของแต่ละครัวเรือน นำไปหมักกับแกนงวงไว้ โดยใช้กระบอกขนาดใหญ่แช่ น้ำหมักหรือน้ำโคลนนี้จะช่วยเร่งน้ำตาลออก ระยะเวลาหมัก 3-6 วัน

เมื่อผ่านช่วงการหมักแล้ว ให้ลองปาดเป็นรอยนิดเดียว แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อดูว่า น้ำตาลออกมากน้อยเท่าไร โดยยังไม่รองน้ำตาลตอนนั้น จากนั้น 2-3 วัน ที่ทิ้งไว้รอดูปริมาณน้ำตาลที่ไหลออกมา จึงนำกระบอกไปแขวนรองน้ำตาลที่หยด

“วิธีเก็บของเราไม่เหมือนกับภาคอื่น น้ำตาลที่หยดออกมามากพอเต็มปี๊บเหมือนกัน ในฤดูกาลที่ตาลให้ผลผลิตและน้ำตาลเยอะๆ สามารถนำมาทำน้ำตาลได้มากถึงวันละ 12 กิโลกรัม”

การทำน้ำตาลเหลว ต้องนำน้ำตาลสดมาเคี่ยวในกระทะ แล้วใส่ไฟด้วยฟืน ตั้งกระทะใหญ่บนเตาที่สร้างด้วยดิน ขนาดใหญ่เล็กขึ้นกับสูตรของแต่ละครัวเรือน แล้วกวนด้วยพายตลอดเวลา นานประมาณ 5 ชั่วโมง

ส่วนการทำน้ำตาลแว่น เคี่ยวด้วยวิธีเดียวกับการทำน้ำตาลเหลว แต่ใช้เวลาเคี่ยวนานกว่า ประมาณ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำไปหยอดใส่แว่น (ภาชนะทำจากใบตาล ขดเป็นแว่นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว) ตากทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเก็บไปจำหน่าย โดยไม่แกะออกจากแว่น

การเคี่ยวน้ำตาล ไม่ควรใช้แก๊ส เพราะความร้อนจะไม่สม่ำเสมอและควบคุมความร้อนไม่ได้ ไม่เหมือนการใช้ฟืน

เตา ถูกเรียกภาษาท้องถิ่นว่า นม วัสดุที่ใช้ปั้นเป็นเตา คือ ดิน และแต่ละครัวเรือนที่ผลิตน้ำตาล จะปั้นเตาให้มีขนาดตามแต่สูตร เรียกว่า นมโต นมเล็ก นมสูง นมต่ำ ตามภาพที่เห็น

ราคาจำหน่าย น้ำตาลแว่น ขายกิโลกรัมละ 80 บาท น้ำตาลเหลว ขายกิโลกรัมละ 100 บาท

คุณปาตีเมาะ วางจำหน่ายที่หน้าบ้านในชุมชน หากต้องการน่าจะต้องเข้าไปซื้อถึงที่ หรือลูกค้าที่อยู่ต่างถิ่น ต้องการน้ำตาลแว่น น้ำตาลเหลว ไม่เจือปน 100 เปอร์เซ้นต์ ก็สามารถสั่งล่วงหน้าได้ อาจต้องรอนิดหน่อย เพราะคุณปาตีเมาะ ไม่ได้ทำสต๊อกไว้ เป็นการผลิตวันต่อวันเมื่อมีออเดอร์เข้ามาเท่านั้น

สนใจติดต่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่แปรรูปจากภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์ 073-460-097