วว. เผยผลวิจัยชี้ “ผึ้งชันโรง” เป็นแมลงผู้ช่วยเกษตรกร ปลูกกาแฟอาราบิก้าให้มีเอกลักษณ์

ผึ้งชันโรง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยผลวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าครบวงจร ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบาย BCG ประสบผลสำเร็จพบ “ผึ้งชันโรง” ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรในกลุ่ม ผึ้ง ต่อ แตน มีบทบาทและประสิทธิภาพสูงสุดในการผสมเกสรดอกกาแฟให้มีรสชาติ กลิ่นหอม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและพัฒนาน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มุ่งรองรับสังคมผู้สูงอายุ

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  โดย สถานีวิจัยลำตะคอง ได้รับโจทย์จากกระทรวง อว. ให้ดำเนินโครงการงานวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบาย BCG ตั้งแต่การผลิตต้นน้ำ การบริหารจัดการดินและปุ๋ย การใช้ฮอร์โมนเพื่อแก้ปัญหาการออกดอกและติดผลไม่สม่ำเสมอ รวมถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ตลอดจนการเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพของกาแฟอาราบิก้าด้วยการใช้แมลงผสมเกสร โดยคณะวิจัย วว. ได้ดำเนินโครงการฯ ณ หมู่บ้านขุนลาว ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ บนเทือกเขาสูงกว่า 1,300 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ และเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าแบบใต้ร่มเงาไม้ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทำให้พื้นที่นี้มีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์น้อยใหญ่มากมาย และที่สำคัญยังเป็นแหล่งรวมเหล่าแมลงผสมเกสรมากมายที่ทำให้ผลผลิตต่างๆ ติดผลได้มากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตมากขึ้น

นายวิศรุต สุขะเกตุ นักทดลองวิทยาศาสตร์วิจัย วว.

จากการดำเนินโครงการดังกล่าว คณะวิจัย พบว่า “ผึ้งชันโรง” ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรในกลุ่ม ผึ้ง ต่อ แตน ที่มีบทบาทและประสิทธิภาพสูงสุดในการผสมเกสรดอกกาแฟ ทั้งนี้ การที่ผึ้งชันโรงออกมาเก็บน้ำหวานและเป็นการผสมเกสรให้ดอกกาแฟไปในคราวเดียวกันอย่างไม่ตั้งใจนั้น ทำให้ละอองเรณูจากเกสรตัวผู้ของดอกกาแฟถูกนำไปฝากไว้ยังเกสรตัวเมียเป็นจำนวนมาก จนเกิดการปฏิสนธิและติดผลทันที แม้นว่ากาแฟจะสามารถผสมตัวเอง (self pollination) หรือรังไข่สามารถเจริญไปเป็นผลอัตโนมัติ (autogamy) ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งการผสมข้าม (cross pollination) แต่ก็มีงานวิจัยมากมายในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่าการผสมเกสรข้ามโดยแมลงนั้น จะทำให้กาแฟมีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญจากงานวิจัยในครั้งนี้คณะนักวิจัยยังพบว่าเมื่อมีแมลงผสมเกสรโดยเฉพาะผึ้งชันโรงเข้ามามีบทบาทสำคัญแล้ว ทำให้ผลเชอรี่กาแฟสุกแก่สม่ำเสมอมากขึ้น โดยชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาขึ้นเขาไปหลายครั้งเพื่อเก็บผลผลิตและไม่เสียเวลาในการคัดเลือกเฉพาะเชอรี่กาแฟที่สุกเท่านั้น จึงช่วยลดการปะปนของกาแฟที่ยังไม่สุกเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อรสชาติและกลิ่นของกาแฟ ทั้งนี้เมื่อได้เชอรี่กาแฟที่มีคุณภาพจากการดูแลของเกษตรกร พร้อมผู้ช่วยตัวจิ๋วอย่างผึ้งชันโรงแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะเมื่อนำกาแฟมาคั่วแบบอ่อน light roasted จะทำให้ได้รสชาติและกลิ่นของกาแฟมากที่สุด ดังนั้น กาแฟของหมู่บ้านขุนลาวป่าต้นน้ำแห่งนี้จึงมีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ป่า ผสมกลมกลืนกับความรู้สึกของผลไม้ป่าที่หอมหวาน

ผึ้งชันโรงออกมาเก็บน้ำหวาน เป็นการผสมเกสรตามธรรมชาติ

นายวิศรุต สุขะเกตุ นักทดลองวิทยาศาสตร์วิจัย สถานีวิจัยลำตะคอง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. หนึ่งในทีมคณะวิจัย กล่าวว่า อุปสรรคหลักๆ ที่พบในการวิจัยนี้ก็คือ สถานที่ของสวนกาแฟที่ตั้งอยู่บนเขาสูง คณะนักวิจัยจำเป็นต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านบริเวณตีนเขาขึ้นไปยังสวนกาแฟที่ระดับความสูง 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นระยะทางวันละหลายกิโลเมตร กอปรกับช่วงระยะเวลาการบานของดอกกาแฟในระยะเวลา 1 ปี จะบานเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนเมษายน หลังจากตาดอกกระทบกับฝนแรก โดยที่ดอกกาแฟจะเบ่งบานให้แมลงผสมเกสรได้เชยชมเพียง 3 วันเท่านั้น ทำให้ทีมวิจัยต้องใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์บนเขามาตลอดระยะเวลา 3 ปี  นอกจากนี้เกษตรกรในหมู่บ้านขุนลาวก่อนหน้านี้ไม่มีความรู้เรื่องผึ้งใดๆ เลย กระทั่ง วว. เข้าไปทำงานวิจัยและแสดงให้ชาวบ้านได้เห็นว่า แมลงผสมเกสรประจำถิ่นตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่าต่อพวกเขาอย่างไร การปลูกพืชแบบอินทรีย์จะเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนี้ให้คงอยู่ และให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ดังนั้น วว. จึงได้มีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงรังผึ้งชันโรงที่เป็นเพื่อนแท้ของเกษตรกร โดยติดตั้งรังผึ้งชันโรงเหล่านี้ใต้ร่มเงาไม้ในสวนกาแฟ นอกจากผึ้งชันโรงจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกกาแฟและพืชผลชนิดอื่นๆ ที่ชาวบ้านปลูกสลับกันไปตามฤดูกาลแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บน้ำผึ้งจากชันโรงเพื่อขายสร้างรายได้ โดยที่ไม่ต้องไปตีรังจากธรรมชาติใดๆ

ผึ้งชันโรง

ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยโครงการงานวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ International Journal of Science and Innovative Technology (IJSIT) Volume 3 Issue 1 แล้ว และทีมคณะนักวิจัย วว. ได้ต่อยอดงานวิจัย โดยการศึกษาคุณสมบัติพิเศษจากผึ้งชันโรงเหล่านี้ที่ถูกเลี้ยงในสวนกาแฟเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในผืนป่าเต็มไปด้วยพืชสมุนไพรมากมาย ดังนั้น ผึ้งชันโรงที่เก็บอาหารจากพืชเหล่านี้จะผลิตน้ำผึ้งชันโรงที่มีคุณสมบัติในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพต่างๆ ได้ วว.จึงได้บูรณาการวิจัยเพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดมากขึ้น ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จึงได้เข้ามามีบทบาทในการต่อยอดงานวิจัยในครั้งนี้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพจากน้ำผึ้งชันโรง เช่น เจลสมานแผลจากชันโรง ครีมลดความหย่อนคล้อยใต้ดวงตาจากชันโรง รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงในผู้สูงอายุจากชันโรง

“ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรงอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา จะสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตจากชันโรงด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ วว. เชี่ยวชาญอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยอีกด้วย จะเห็นได้ว่าผึ้งจิ๋วชันโรงนับเป็นผู้ช่วยคนสำคัญให้เกษตรกรและเป็นมิตรแท้ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” ดร.ชุติมา  กล่าวสรุป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวผลงานวิจัยและพัฒนา หรืองานบริการอุตสาหกรรม วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 02577 9000 อีเมล [email protected]  www.tistr.or.th  Line@tistr