กำนันชำนิ สุขสงวน ฟาร์มทรายมูล ผู้นำอาวุโสของชาวไก่ไข่ เมืองแปดริ้ว

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยนั้น แปดริ้ว นับว่าเป็นแหล่งที่เลี้ยงไก่ไข่สูงสุด ถ้าหากรวมจำนวนไก่ที่มีอยู่ 45 ล้านตัวทั่วประเทศ คาดว่าจำนวนครึ่งหนึ่งคงมีเลี้ยงอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะตำบลเทพราช และบางตีนเป็ด เลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรมไก่ไข่กันเลยก็ว่าได้

ไม่แปลกใจ นายกสมาคมไก่ไข่ก็เป็นชาวแปดริ้วเช่นกัน

เหตุที่คุ้นเคยรู้จักกับวงการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาชีพสำคัญของเกษตรกรทั่วประเทศ เพราะเคยศึกษาและวิจัยในด้านต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ เป็ด สุกร ห่าน มาก่อน

สมัยรับราชการอยู่ที่กองเศรษฐกิจการเกษตร สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถรอบรู้ถึงข้อมูลพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างละเอียด ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ในอดีตเกือบ 50 ปีมาแล้ว

ทำให้รู้จักเกษตรกรชาวฟาร์มสัตว์ทั้งหลายที่เคยร่วมกันทำข้อมูลจากบัญชีฟาร์ม ที่ได้รับการคัดเลือกในการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและรายได้ ที่พอจะประเมินได้ว่า ขนาดฟาร์มเล็ก กลาง ขนาดใหญ่ ว่าเหมาะสมกับการทำธุรกิจการเลี้ยงได้ดีกว่ากัน

เมื่ออ้างอิงถึงแปดริ้ว ต้องนึกถึงอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ขึ้นมาทันที เพราะที่นี่เลี้ยงไก่ยึดเป็นอาชีพกันมาช้านาน ในยุคหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจรุ่งเรืองในสมัยนั้น และที่บางตีนเป็ด เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เคยมารู้จักและทำข้อมูลด้วยกันกับเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ ที่มีตำแหน่งถึงกำนันตำบลบางตีนเป็ด ชาวบ้านให้ความเคารพรักทุกครัวเรือน

เริ่มตั้งแต่ปี 2515 มาถึงปัจจุบัน เวลาล่วงเลยเกือบ 50 ปี ฟาร์มทรายมูล ได้พัฒนาและขยายฟาร์ม จากเดิมมีจำนวนไก่อยู่ราว 5,000 ตัว มาถึงวันนี้ได้ขยายไปยังตำบลเทพราชอีก เป็น 2 ฟาร์ม มีจำนวนไก่ราวล้านตัวเศษ เจ้าของฟาร์มคืออดีตกำนัน ชื่อ ชำนิ สุขสงวน ผู้อาวุโส วัย 93 ปี ปัจจุบัน มีลูกชายที่เรียนจบเป็นสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบริหารแทนบิดาได้ทันท่วงที พร้อมมาต่อยอดขยายฟาร์มเพิ่มขึ้น

หากถามกำนันชำนิ คนอาจจะไม่รู้จักมากนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ กำนันเช็ง ร้องอ๋อ! ตามๆ กัน เพราะกำนันเป็นคนดี ชาวบ้านรักและเกรงใจ
หลังจากผู้เขียนทำงานครบกำหนดตามเป้าหมายทุกชนิดที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี จัดพิมพ์เป็นเอกสารผ่านคณะกรรมการ นักวิชาการ กลั่นกรองของหน่วยงานมาอย่างดี เรียกว่าสร้างผลงานไว้พอสมควร ใครคิดจะมาหลอกหรือบิดเบี้ยวกับสัตว์เหล่านี้ที่ผู้เขียนและทีมงานทำมาอย่างละเอียดทุกขั้นตอนแล้วคงไม่ง่ายนัก
หลังจากปี 2515-2517 แล้ว ผมไม่ได้พบกับกำนันเช็งอีกเลย เกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

(ซ้าย)กำนันชำนิ วัย 93 ปี
(ขวา ) กำนันชำนิในวัย 45 ปี พร้อมป้าอุบล ภรรยา ไปดูงานต่างประเทศ

ผมมีโอกาสไปกับเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นนักสัตวบาลส่งเสริมไก่ไข่ ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยได้ชักชวนไปแปดริ้ว ที่ฟาร์มวิศาล ของ คุณสุธีร์ เตชะธนะวัฒน์ และ คุณเสริมสุข หรือ ซ้อเสริมสุข เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา แล้วเลยไปเยี่ยมฟาร์มกำนันชำนิ สุขสงวน กับ คุณป้าอุบล ในวัย 80 ปีเศษ ทั้งคู่ยังแข็งแรงดีในช่วงนั้น

แต่ทว่าท่านจำผมไม่ได้ บังเอิญมีลูกชายกำนันยังจำผมได้ ในขณะนั้น ปี 2515 ระหว่างผมนั่งสัมภาษณ์คุณพ่อเขา เรื่องฟาร์มไก่ไข่ เขายังเด็กมาก อายุ 8-9 ขวบ สนใจนั่งฟังผมสนทนาถึงข้อมูลไก่กับคุณพ่อเขา ต่อมาปรากฏว่าลูกชายเติบโตได้เรียนสัตวแพทย์จุฬาฯ จนมาเป็นหมอ ดูแลฟาร์มไก่แทน แล้วยังขยายไปยังตำบลเทพราช มีจำนวนไก่ราวล้านตัวเศษ ขอโทษ ผมจำชื่อหมอไม่ได้ ต้องขออภัย ผู้เขียนก็ยังจำเขาไม่ได้จริงๆ พับผ่า!! เวลาล่วงเลยมาช้านานแล้ว

ขอย้อนมาถึงเรื่องราวในอดีตที่บ้านพักและฟาร์มไก่ บ้านทรายมูล บางตีนเป็ด สถานบ้านเกิดกำนันอยู่ติดแม่น้ำบางปะกง ด้านหน้าบ้านปลูกต้นหมากไว้หลายต้น มีรายได้จากการปีนเก็บลูกหมากขาย เป็นรายได้ชาวสวนยุคกินหมาก และส่งไปไต้หวัน

ขณะกำนันยังวัยหนุ่ม 20 ปีเศษ สนใจอยากเลี้ยงไก่ไข่ คงราวปี 2496-2497 การคมนาคมสัญจรสมัยนั้นใช้ทางแม่น้ำบางปะกงในการเดินทางไปจังหวัด หรือกรุงเทพฯ สะดวก เพราะถนนทางบกไม่มีหรือมีก็ไม่มีรถยนต์โดยสาร เส้นทางสู้ทางน้ำไม่ได้

เนื่องจากกำนันมีเพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ เจี่ย หรือ คุณวิชัย มีฟาร์มไก่ไข่อยู่ที่บ้านบางพระ หลังวัดหลวงพ่อโสธร คุณวิชัย เป็นสมาชิกทำบัญชีฟาร์มให้ด้วยในขณะนั้น โดยมีเรือโดยสารไปพบและคุยกันว่าจะเลี้ยงไก่ไข่ จึงได้รับการสนับสนุนและแนะนำ

แต่ด้วยทางบ้านกำนัน คุณพ่อไม่เห็นด้วยเพราะเป็นของใหม่ ไม่ถนัด เกรงจะเสียหาย แต่กำนันก็แอบเลี้ยงไก่ไข่จนคุณพ่อต้องยอมให้เลี้ยง
กระทั่งเมื่อได้ลูกไก่ไข่จากเพื่อนวิชัย หรือคุณเจี่ย ที่ชักจูงให้เข้ามาเลี้ยง และมีไข่ไก่ออกมา ก็จะนั่งรวบรวมไข่นั่งเรือมาส่งให้คุณวิชัย หรือเจี่ย ไปขายต่อ

(ซ้าย) คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล อดีตกรรมการผู้จัดการนครหลวงฟาร์ม เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาวางแผนตรวจไก่ไข่ (ขวา) คุณสุธีร์ เตชะธนะวัฒน์ ฟาร์มวิศาล รุ่นหลังกำนันชำนิ

ต่อมาสนใจเรื่องฟักไข่ ด้วยการปรึกษากับคุณวิชัย หัดฟักไก่ เรียกว่าทดลองไปเรื่อย ซึ่งจะมีการกล่าวถึงในตอนท้ายว่า กำนันมีหัวคิดก้าวหน้า ทันสมัย ทำเครื่องฟักไก่ได้

เพราะวงการไก่ไข่ยุคหลวงสุวรรณฯ เฟื่องฟู แต่คมนาคมไม่สะดวก ปริมาณฟาร์มไก่ไข่มาเลี้ยงกันมากที่ย่านถนนพหลโยธิน บางเขน ที่หลวงสุวรรณฯ ก็มีลูกศิษย์มาขอเรียนรู้ไก่ไข่เป็นจำนวนมาก จากคำกล่าวของท่าน กินไข่ทุกวันไม่ต้องไปหาหมอ

โรงเรือนไก่ไข่ที่ฟาร์มบ้านกำนันชำนิ สุขสงวน ในอดีต ที่บางตีนเป็ด แปดริ้ว

ครั้นยุคบุกเบิกฟาร์มไก่ไข่ ต้องฟาร์มย่านตีนเป็ด และหลังวัดหลวงพ่อโสธร ย่านบางพระ มีจำนวนมากขึ้น

ต่อมาในราวปี 2500 เป็นยุคที่มีการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่เพิ่มขึ้น แปดริ้วจึงเป็นเมืองเลี้ยงไก่และสุกรโดยปริยายไปทันที ฟาร์มสัตว์เลี้ยงขึ้นเป็นดอกเห็ด ว่ากันอย่างงั้น

ทำให้อาหารวัตถุดิบผสมเป็นอาหารสุกร ไก่ไข่ ขยายวงมากตามมา ชาวเลี้ยงสัตว์แปดริ้วต้องสั่งมาที่ย่านถนนทรงวาด เป็นบริษัท เจียไต๋ แหล่งจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ผสมสำเร็จแล้วก็มี และซื้อวัตถุดิบนำไปผสมเลี้ยงสัตว์เองก็ได้ แยกเป็นชนิดของวัตถุดิบ ทำให้เจียไต๋ที่มีจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชแล้ว กิจการอาหารสัตว์ก็เจริญก้าวหน้า การขนส่งในเวลานั้นก็อาศัยทางเรือบรรทุก ทำให้หันมาใช้รถบรรทุกบ้างแล้ว

บทบาทอาหารสัตว์ของบริษัท เจียไต๋ เริ่มมีชื่อเสียงและตั้งชื่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำหน่ายอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ต่อมาก็จะมีพันธุ์สัตว์ออกมาส่งเสริมนำมาจากต่างประเทศ

ภาพปัจจุบัน กำนันชำนิ สุขสงวน 93 ปี (ซ้าย) แห่งฟาร์มทรายมูล บางตีนเป็ด และเทพราช แปดริ้ว และประธานธนินท์ เจียรวนนท์

ในขณะนั้น คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ยังหนุ่มแน่น ได้มาพบเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรและไก่ไข่ ย่านแปดริ้วในถิ่นเลี้ยง และได้รู้จักผู้เลี้ยงไก่ สุกร มากขึ้น ด้วยอัธยาศัยและช่วยเหลือคนเลี้ยงสัตว์ ทำให้คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ปัจจุบัน เป็นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สร้างความสัมพันธ์ต่อบรรดาชาวแปดริ้วมาโดยตลอด กว่า 50 ปี ว่างั้นเถอะ

ทำให้เป็นที่เชื่อถือของวงการชาวเลี้ยงสัตว์แปดริ้ว ที่มีความเดือดร้อนอะไรก็จะมาเล่าให้ประธานธนินท์ แก้ปัญหาให้ถึงความต้องการด้านการตลาด ทำให้เป็นที่รักใคร่ของนักเลี้ยงสัตว์จนถึงปัจจุบัน

(ซ้าย) ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ วัย 30 ปี กับกำนันชำนิ สุขสงวน ไปดูงานต่างประเทศ ในวัย 40 ปี ภาพอดีตกว่า 50 ปีแล้ว

ลองมาฟังกำนันชำนิ สุขสงวน ในวัย 93 ปี กล่าวถึงคุณธนินท์ ประธานที่ปรึกษาอาวุโส…ว่าไว้อย่างไรในอดีต

“ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ผมต้องจดจำไว้ว่า คุณธนินท์ นั่งเรือหางยาวมาที่ฟาร์มไก่ไข่ผมริมแม่น้ำบางปะกง”

ท่านเล่าให้คุณธนินท์ ฟังว่า ไก่ไข่ตนเองเริ่มทำสถิติกระดาษติดหน้ากรงตับ เพื่อจดจำนวนไข่รายวัน เจ้าไก่แสนซน มันใช้ลิ้นเลียและจิกกระดาษจนภาพลบเลือนก็มี สมัยนั้นไก่ตัวหนึ่งไข่ไม่ถึง 20 ฟอง ต่อเดือน เมื่อทำกระดาษบันทึกไม่ครบถึงเดือนว่าไข่ออกมาเท่าไร เลยไม่รู้ต้นทุนเป็นอย่างไร

กำนันเช็ง เป็นคนแรกที่พยายามหาสถิติไก่ให้ไข่ในย่านบางตีนเป็ด การเล่าเรื่องไก่ให้ท่านประธานธนินท์ฟัง เป็นที่ชอบใจของท่านประธานที่ชอบคนคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว

กำนันเช็ง กล่าวไปถึงสมัย คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วิเมนกุล อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงฟาร์ม จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาธุรกิจยานยนต์ และอุตสาหกรรมในจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับไม้ต่อจากคุณธนินท์

“ในช่วงนั้น ผมส่งไข่ให้กับเจียไต๋ ทรงวาดเป็นล้ง ไข่ไก่ของเครือฯ ในยุคบุกเบิกตลาดไข่ที่ คุณเยี้ยง เป็นผู้จัดการล้งไข่ในขณะนั้น ไม่มีปัญหา ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ”

เมื่อทางคุณประเสริฐศักดิ์ เข้ามาแนะนำให้ตนเองนำไก่รุ่นอายุ 18 สัปดาห์ มาเลี้ยงเข้าฟาร์ม ชื่อไก่พันธุ์ไข่ฮาร์โก้ โดยไม่ต้องเปลืองพื้นที่เลี้ยงลูกไก่และประหยัดเวลา เพียงนำไก่เข้ากรงตับได้ 6 สัปดาห์ ไก่ก็เริ่มไข่

ถึงแม้จะเข้าสู่วัย 93 ปี กำนันชำนิยังคงมีความจำได้อย่างแม่นยำ เขากล่าวชื่นชมคุณประเสริฐศักดิ์ ที่มาแนะนำและช่วยเหลือในวงการรากฐานด้านตลาดไก่ไข่ได้อย่างยอดเยี่ยม

ซ้อเสริมสุข เตชะธนะวัฒน์ ฟาร์มวิศาล ย่านบางตีนเป็ด และเทพราช ที่เป็นรุ่นหลังเลี้ยงไก่ไข่ แปดริ้ว

ส่วนในด้านความคิดเห็นของฟาร์มวิศาล หรือ คุณสุธีร์ เตชะธนะวัฒน์ และ คุณเสริมสุข ที่เป็นฟาร์มไก่ไข่รุ่น 2 ได้กล่าวถึงกำนันชำนิไว้ดังนี้

“กำนันเช็งได้บุกเบิกฟาร์มไก่ไข่มากว่า 50 ปี สมัยนั้นมีอยู่ประมาณ 5,000 ตัว ได้ไข่ราว 3,000 ฟอง ต่อวัน เจ้าของฟาร์มไม่รู้ไข่จะให้ไข่เท่าไร หรือผลผลิตลดลงไปตามอายุ เพราะไม่มีความรู้ กำนันเช็ง นำกระดาษมาติดหน้ากรง ทำสถิติ ยังไม่มีฟาร์มไหนทำเป็นคนแรก พอหลังมีโรคระบาดทุกคนต้องจดสัปดาห์หนึ่งไข่ไม่ได้หรือได้ไข่น้อยลง จึงไม่รู้ว่า ไก่ตัวนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ได้รับการชดเชยจากคุณธนินท์ ในความฉลาดของกำนันเช็ง

คุณสุธีร์ ยังกล่าวยกย่องว่า กำนันเช็ง เป็นคนช่างคิดประดิษฐ์เครื่องยนต์ กลไก มีความเป็นวิทยาศาสตร์

กำนันสร้างเครื่องฟักไข่เอง ต่อเครื่องเอง เอาตะเกียงหลอด กระป๋องนมวัวที่กินแล้วครอบ อย่าให้ถึงกับออกซิเจนเข้าไม่ได้นะ อย่าให้ถึงกับความร้อนเข้าไปได้นะ เอาความร้อนกระจายขึ้นไป ฟักไข่ต้องมีปรอทวัดอุณหภูมิ วัดว่าวันนี้เท่าไร เพื่อความมั่นใจ กำนันต้องเอาเสื่อมาปูนอนเฝ้า เล่าถึงภูมิปัญญาที่นำมาใช้สมัยบุกเบิก”

ฟาร์มไก่ไข่ทรายมูล บางตีนเป็ด เทพราช แปดริ้ว

ความประทับใจในอดีตสู่ปัจจุบัน กำนันชำนิ สุขสงวน รุ่นอาวุโสในวงการไก่ไข่ในปัจจุบัน เขาอายุเข้าสู่วัย 93 ปี จากประสบการณ์ที่พบมา และมีผู้นำทางช่วยเหลือมาโดยตลอดในชีวิต เขาลืมไม่ลงกับบุรุษทั้งสองท่านนี้

“ผมอยากจะบอกถึงความรู้สึกส่วนตัวนะว่า ผมรักและนับถือคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ด้วยใจภักดิ์ และรักคุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล ด้วยใจปอง” ชายวัย 93 ปีกล่าว

ฝากถึงท่านกำนันชำนิ จงรักษาสุขภาพด้วยครับ