กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย สกลนคร บนวิถีแห่งความ “พอเพียง” สร้างอาชีพ

จังหวัดสกลนคร เป็นเมืองที่มีหลักฐานปรากฏทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นดินแดนแห่งอารยธรรม 3,000 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ยุควัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยทวารวดี ลพบุรี ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา และจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

จากหนังสือ สกลนครสัญจรได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เขียนไว้ว่า ในจังหวัดสกลนครมีแห่งประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีถึง 83 แห่ง โดยมีชุมชนโบราณของแอ่งสกลนคร มีอายุ 600 ปี ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ 8 หรือ 3,000-1,800 ปี มาแล้ว

จุดเด่นของจังหวัดสกลนคร จึงปรากฏความชัดเจนในเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชาวบ้านที่โดดเด่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วิถีการทำผ้าย้อมครามอันเลื่องชื่อ และที่พลาดไม่ได้คือ ผ้าย้อมครามของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ความโดดเด่นของผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นวิถีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน ทำให้วันนี้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ในพื้นที่เกือบ 10,000 บาท ต่อคน

เศรษฐกิจพอเพียง ที่บ้านดอนกอย         

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้สร้างความสุข และความอิ่มใจให้กับ คุณพอดี เถื่อนโยธา หนึ่งในชาวบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่กำเนิด

คุณพอดี มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำผ้าย้อมคราม ที่ใช้การดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างลงตัว โดยไม่มีหนี้สินจากการกู้เงิน ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และโครงการต่างๆ ของภาครัฐแม้แต่บาทเดียว มานานเกือบตลอดช่วงชีวิตในวัย 62 ปี

“ที่ผ่านมาก็ใช้ชีวิตพอเพียง สบาย อยากกินอะไรก็ได้กิน มีสวนผัก สวนครัว ทำนาด้วย ช่วงไหนยังไม่ต้องทำนาก็มาที่กลุ่มผ้าย้อมคราม ทุกวันนี้ไม่มีหนี้เลยสักบาท” คุณพอดี เล่าให้ฟังด้วยสำเนียงพื้นบ้าน และรอยยิ้มที่มีความสุข

ระหว่างที่ด้ายแต่ละเส้นกำลังถูกร้อยเรียงอย่างบรรจงผ่านเวลาในแต่ละช่วงวัน เป็นเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมครามแล้ว เพื่อนำไปถักทอเป็นผ้าผืนให้เราได้สวมใส่อย่างสวยงาม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในเวลานี้ เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่คุณพอดีทำเป็นประจำทุกวัน จนกลายเป็นอาชีพ

คุณพอดี เล่าว่า วิถีชีวิตการทอผ้าในแต่ละวันนั้น ทำให้เกิดวิถีความพอเพียง และเกิดความสบายใจ เพราะทุกๆ เช้า จะตื่นตั้งแต่ เวลา 04.00 น. เข้าสวนต้นคราม บนพื้นที่ 2 ไร่ จากนั้นจะกลับมากินข้าวเช้า เวลา 08.00 น. จนกระทั่งถึงเวลา 17.00 น. จะไปที่สวนต้นครามอีก เพื่อดูแลต้นครามให้พร้อมนำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมผ้าครามร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มบ้านด้วยกัน

ต้นคราม

“ต้นคราม เก็บกันมาคนละ 6 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ย้อมครามในแต่ละวัน วิถีชีวิตของคนที่นี่ เวลาทำนาก็ไปทำนา ช่วงไหนไม่ต้องทำนาก็มาที่กลุ่มผ้าย้อมคราม อย่างฉันมีนาน้อย เพียง 3 ไร่กว่า พอไม่ใช่ฤดูทำนาก็จะมาทำผ้าย้อมครามเป็นประจำ เพราะมีรายได้ ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร” คุณพอดี เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

วิถีชีวิตเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่คุณพอดีดำเนินชีวิตมาตลอด ตั้งแต่ปี 2537 จนกระทั่งมีรายได้ส่งลูก 2 คน เรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“วิถีชีวิตคนที่นี่ก็ทำนา ปลูกผักสวนครัวกินเอง พอถึงเวลาพักทำนา ก็มารวมกลุ่มกันทำผ้าย้อมคราม ทำให้ไม่ต้องไปกรุงเทพฯ ในกลุ่มมีการแบ่งเงินกันทุกเดือน ไม่เคยไปกู้เงินใคร เพราะพออยู่ พอกิน มาทำผ้าย้อมครามกับกลุ่ม เราก็ได้เงินเป็นรายเดือน”

ใช้ผ้าคราม ชู “พอเพียง” สู้

แน่นอนว่ากว่าจะมาถึง “ความพอเพียง” ได้อย่างพอใจ คุณพอดี และเพื่อนในกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยจะต้องสวมหัวใจแห่งความอดทนเพื่อต่อสู้และฟันฝ่า โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นก้าวเดิน ซึ่งเปรียบเสมือนเด็กที่กำลังตั้งไข่ ล้มๆ ลุกๆ จนกว่าจะยืนและเดินได้ด้วยตัวเอง

คุณพอดี เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เริ่มต้นมาเป็นสมาชิกกับกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร กับ คุณถวิล อุปรี ประธานกลุ่ม ในช่วงปี 2536 หลังจากประธานกลุ่มเริ่มก่อตั้งไปแล้ว 1 ปี ในเดือนแรก มีรายได้วันละ 16 บาท ช่วงเดือนที่ 2-3 มีรายได้ 300-600 บาท และจนกระทั่งวันนี้มีรายได้เดือนละ 9,000 บาท นับว่าเป็นรายได้ที่ทำให้พึ่งพาตนเองได้ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าอาหาร และค่าเสียเวลา

นี่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ก่อนจะเริ่มต้นก่อตั้งกลุ่มทอผ้าอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงปี 2546 ซึ่งทุกวันนี้มีรายได้แบ่งกันในรูปแบบสหกรณ์ แต่ไม่ได้ใช้ชื่อสหกรณ์

“รวมกลุ่มกันไปเลย ไม่ใช้ชื่อสหกรณ์ ทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้ล่ะ รวมกลุ่มอย่างนี้ 9 คน ทำทุกอย่างในขั้นตอนการย้อมผ้าคราม และทุกคนก็ทำแทนกันได้หมดในทุกขั้นตอน เพราะมีความชำนาญ ทำกันมาตั้งแต่เล็กๆ สืบทอดการทอผ้ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ และปู่ ย่า ตา ยาย อย่างฉันทำผ้าย้อมคราม ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1)” คุณพอดี เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

คุณพอดี ทิ้งท้ายว่า บางคนกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน กู้เงินธนาคาร เพื่อไปทำนา แต่สำหรับตัวเองนั้นไม่กู้ เมื่อไม่มีหนี้แล้วจะเกิดความสบายใจ แม้ว่าวันนี้จะไม่มีเงินเก็บมากนัก ไม่มีรถหรูๆ ขับ มีแต่จักรยานคู่ใจขี่มาทำผ้าย้อมครามและใช้ในชีวิตประจำวัน กลับได้พบกับสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง นั่นคือความพอใจ

พร้อมกับปลูกฝังวิธีการใช้ชีวิตแบบพอดี พอใจ และพอเพียง ให้กับลูกๆ ทั้ง 2 คน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยทำงาน และจบปริญญาตรีแล้วทั้งคู่ว่า การไม่มีหนี้นั้นคือ ความสบายใจ

เพราะฉะนั้น เราได้พบกับ “คนรวย” อีกคนในกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เหตุที่บอกเช่นนี้ เพราะคนรวยตัวจริง คือคนที่ไม่มีหนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับสังคมในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มาประยุกต์ใช้ จึงทำให้ชีวิตเกิดความ “ธรรมดา” และนำมาสู่ภาวะการปลอดหนี้อย่างถาวร เพียงเท่านี้ก็พบกับคำว่า “ความสุข” ได้อย่าง คุณพอดี เถื่อนโยธา และชาวบ้านดอนกอย

สนใจอยากได้แนวคิดดีๆ แวะดูวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ที่รังสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการทำผ้าย้อมคราม โทร.ไปสอบถามล่วงหน้า ก่อนลงพื้นที่จริงได้ที่ คุณถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามฯ ได้ที่เบอร์โทร. 087-091-2190