“วัดท่ามอญ” ต้นตระกูลคนมอญ ตั้งชุมชน ที่ตำบลท่าประตูช้าง

คุณโสมชยา ธนังกุล ได้เขียน ต้นตระกูลมอญในนครศรีธรรมราช ไว้ในวารสารเสียงรามัญ ปีที่ 10 ฉบับที่ 44 ประจำเดือนกันยายน 2558 – มิถุนายน 2559 กล่าวถึงวัดศรีทวี หรือ “วัดมอญ” ว่า เดิมวัดนี้ชื่อวัดท่ามอญ ชื่อวัดนั้นตั้งตามชื่อชุมชนผู้สร้างวัด เดิมเรียกกันว่า ตรอกท่ามอญ สันนิษฐานว่า เดิมบริเวณวัดเป็นท่าน้ำ ลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณหลังวัดมีต้นน้ำกำเนิดมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราชในสมัยโบราณ มีเรือบรรทุกสินค้าของชาวต่างชาติแวะเวียนขึ้นท่านี้เพื่อนำสินค้าเข้ามาค้าขายในเมืองนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหลักฐานร่องรอยของชาวมอญนั้น ได้ค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลปะแบบมอญและเหรียญมอญในคลองท่าวัง เข้าใจว่าชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณนี้ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2398 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ยังมีตำนานเล่าว่า โคตรคีรีเศรษฐีได้หอบทองคำ นำเงินตราหงส์ พร้อมด้วยญาติมิตรบริวารผู้ติดสอยห้อยตามมากว่า 700 คน ล่องเรือสำเภา 3 ลำ มาขึ้นท่าน้ำบริเวณหลังวัด

จากข้อเขียนของ คุณโสมชยา ธนังกุล เป็นต้นเค้าแรงบันดาลใจให้ผมเดินทางไปพบกับปราชญ์เมืองนครท่านหนึ่งชื่อ อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก ซึ่งท่านได้นำพงศาวดารที่ได้ถอดความแล้วมาอ่านให้ฟังว่า

พระพุทธิสารเมธี (สุวิทย์ อชิโต) เจ้าอาวาสวัดท่ามอญ

“พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ตรัสถามว่าคนมาเท่าใด จิงโคทธะคีรีเศรษฐีทูลว่า คนมาลำสำเภา ทั้งชายหญิง เปนคน 700 มีเศษ จิงพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ตรัสสั่งให้ขุนโยทาทิพย์ ตำมรวจ นำมาให้ตั้งบ้านอยู่ ฝายภายัพ เมืองนคร ตำบลท่าประตูช้างตั้งเปนสังเขตร์บ้าน ตามยาวเส้นห้าวา ตามกว้างสองเส้นสิบห้าวา จิงโคทธะคีรีเศรษฐี ให้ตั้งเปนบ้านสังเขตร์สามบ้าน ราชผู้เปนน้องบ้านหนึ่ง โคทธะคีรีเศรษฐีบ้านหนึ่ง พระท้าวศรีบ้านหนึ่ง ท่านทั้งสองคนนี้น้องร่วมเดียวกัน ด้วยโคทธะคีรีเศรษฐี เปนบ้านสามบ้าน พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระราชให้เป็นขาด ถ้ามีความสิงใดห้ามหมิให้ผู้รักษาเมือง กรมการไปพิจารณา ว่ากล่าวเปนอันฃาษ แล้วโคทธะคีรีเศรษฐี คิดอานด้วยพระเท้าราชพระท้าวศรีผู้น้อง เอาทองคำ คนสิบชั่งทอง เอากราบทูลแกพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ให้แผ่ส้อมยอษพระบรมธาตุ แล้วทำบุญให้ทาน แล้วโคทธะคีรีเศรษฐีมีบุตร์ชายหญิงสองคน บุตร์ชายชื่อนนท์กุมาร ก็แตงให้ขึ้นเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช บุตร์หญิงนั้นชื่อสุวรรณ์มาลา ครั้นทรงพระไวยใหญ่ขึนมา อายุได้ 11 ปี จิงพระเจ้าศรีธรรมโศกราช สังแกโคธะคีรีเศรษฐี ให้เอาเจ้ามาลาอพพิเศกกับเจ้าสรรณ์นา อันเปนราชบุตร์แหงพระเจ้าศรีธรรมโศกราช…”

คุณโสมชยา เล่าต่ออีกว่า เมื่อบุตรสาวของโคตรคีรีเศรษฐีมีอายุ 17 ปี ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าสุวรรณราชบุตรของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกษัตริย์ผู้ทรงธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมานางได้ให้กำเนิดราชบุตร ทรงพระนามว่า เจ้าโพธิกุมาร

เมื่อเจ้าโพธิกุมารมีพระชนมายุ 23 พรรษา ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา จนทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระอัยกาคือพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงทรงสร้างพระอารามหลวงถวายชื่อว่า “วัดท่าช้าง” แล้วทรงแต่งตั้งให้เจ้าโพธิกุมารเป็น สมเด็จเจ้าโพธิสมภารโลกาจาริญาณคัมภีร์ศรีสังฆปรินายกมหาสามีพระเจ้าท่าน เป็นเจ้าอธิการวัดท่าช้าง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2141 พวกอุชงคนะ (โจรสลัด) ยกกองทัพเรือเข้ามารุกรานเมืองนคร พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จึงทรงปรึกษาหารือเรื่องการป้องกันบ้านเมืองกับพระราชนัดดาคือ สมเด็จเจ้าโพธิสมภารฯ ทั้ง 2 พระองค์ทรงแต่งตั้งกรมการออกมารักษาพระนคร ในกองทัพของเมืองนครฯ มีทัพช้างซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของหมอเฒ่าช้าง 4 เหล่า บรรดาหมอเฒ่าจำนวน 30-40 คนนี้ ล้วนเป็นสมัครพรรคพวกเทือกเถาเหล่ากอของพระท้าวราช พระท้าวศรี ที่เป็นน้องของโคตรคีรีเศรษฐี

นายดอน กำลังแสดงวิธีปั้นหม้อแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมา

อีกทั้ง คุณโสมชยาได้กล่าวไว้เป็นข้อบ่งชี้อีกว่า ทุกวันนี้ในงานเทศกาลสงกรานต์ของเมืองนครฯ ยังมีการเล่นสะบ้าและการเล่นเชื้อหงส์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากต้นตระกูลมอญในนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับประเพณีชักพระเดือน 12 ช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวมอญในอดีตที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดท่ามอญ น่าจะชักพระไปทางบ้านหัวทะเล ซึ่งเป็นหมู่บ้านมอญ อันเป็นนิวาสถานของนายทองอ้าย หลานชายของโคตรคีรีเศรษฐี

คณะชักพระจะค้างแรม ณ บ้านหัวทะเล 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงชักพระกลับวัดท่ามอญ ประเพณีเพิ่งจะยกเลิกไปในราว 50-60 ปีมานี้เอง และเป็นไปได้ว่าการชักพระของชาวมอญในนครศรีธรรมราชอาจเป็นต้นแบบของประเพณีชักพระ อันปรากฏแพร่หลายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้

อีกทั้งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่หมู่บ้านมะยิง ตำบลโพธิ์ทอง มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองโบราณ ซึ่งเรียกกันว่า “เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง” นางเกยูร คล้ายนาวิน ผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า ได้เรียนรู้การปั้นหม้อมาจากนายเหลียนผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นชาวมอญมาจากอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้มาแต่งงานกับนางเลียบ บัวแก้ว ชาวบ้านมะยิง ผู้เป็นมารดาของนางเกยูร

อย่างไรก็ดี อาจารย์บัณฑิต และ “เอ็ม ชวนพิศ” ลูกศิษย์ผมที่เป็นคนนครฯ ได้พาผมไปชมเสาหงส์โบราณที่เก็บรักษาไว้ในบริเวณหน้าองค์พระระเบียงภายในวัดพระธาตุ นอกจากนี้ ยังพาไปกราบพระพุทธิสารเมธี (สุวิทย์ อชิโต) เจ้าอาวาสวัดท่ามอญ หรือเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีทวี หลวงพ่อท่านอธิบายว่า แต่เดิมบริเวณแถบนี้มีหลายวัด เช่น วัดโพธิ์มอญ วัดท่าช้าง วัดน้ำคำ วัดเสมาทอง ซึ่งมีเจดีย์รูปทรงศิลปะแบบมอญ คนทั่วไปเรียกว่า เจดีย์ยักษ์ อาจารย์บัณฑิตเรียกว่า “เจดีย์มินกุง”

แม่ปราณี และ นายดอน วิทยามาศ

นอกจากนี้ ยังได้พาผมไปดูโรงปั้นหม้อของชาวมอญที่เหลือเพียงครอบครัวเดียวอยู่ “บ้านเตาหม้อ” หมู่ที่ 9 ตำบลนาเคียน ในเขตชุมชน “นอกไร่-สะพานยาว” ผมได้พูดคุยกับแม่ปราณี วิทยามาศ อายุ 71 ปี กับลูกชายชื่อ “ดอน” อายุ 47 ปี ผู้ที่ยังสืบสานวิถีการปั้นหม้อแบบดั้งเดิมของคนมอญ สองแม่ลูกต่างมุ่งมั่นที่จะดำเนินอาชีพนี้ ทั้งปั้น เผา และเปิดร้านขายผลผลิตอยู่ริมถนน แม้จะต้องเดินทางไปขุดเอาดินเหนียวบรรทุกท้ายมอเตอร์ไซค์มาด้วยความยากลำบากก็ตาม