ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เติมเต็มความรู้สู่ชุมชนชาวเขาบนพื้นที่สูง

ทุกวันนี้ พื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญ ที่การคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ภูเขาสูงทั่วประเทศ  มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาผ่านช่องทาง “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการทำงานด้วยความเสียสละของคุณครูอาสา กศน. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ครูดอย” ที่ตั้งใจทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนและชาวบ้านที่ด้อยโอกาสให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ทักษะประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้

ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในสมัยนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น โดยส่งครูอาสาสมัคร กศน. หรือ ครูดอย จำนวน 1-2 คน ไปทำงานอยู่กับชาวเขาในชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีของชาติ ครูอาสาสมัคร กศน.จะทำหน้าที่ให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน และสอนเด็กตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ในตอนกลางวัน ปรากฏว่า โครงการ ศศช. ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่ประทับใจของคนไทยและต่างชาติ ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2537 ในฐานะแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษา โดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน กศน.จึงขยายโครงการ ศศช.ไปยังชุมชนทุรกันดารทั่วประเทศ ประมาณ  773 แห่ง

เมื่อปี 2535 ครูอาสาสมัคร กศน. คนหนึ่ง ในพื้นที่โครงการ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้บรรยายความยากลำบากในการทำหน้าที่ครูดอยในถิ่นกันดารลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พร้อมขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของเครื่องใช้ในการสอนเด็กเยาวชน บังเอิญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านข่าวครูอาสาสมัคร กศน. ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารเรียน และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์จนถึงปัจจุบัน

ปี 2539 กศน. ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ กศน. ยังคงใช้ชื่อย่อศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ว่า “ศศช.” มาจนถึงทุกวันนี้

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ดูงาน ศศช.แม่ฟ้าหลวง อมก๋อย

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. มีศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) รวมทั้งสิ้น 808 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และพังงา ซึ่งในจำนวนนี้ มี ศศช. ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (กพด.) จำนวน 282 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพังงา

กระทรวงศึกษาธิการ โดย กศน. มีเป้าหมายจัดการศึกษาให้ทั้งชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต สังคม เพื่อปวงชน และการศึกษาตลอดชีวิต เน้นให้ประชาชนในชุมชนมีทักษะพื้นฐานอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ โดยครู กศน.ประจำ ศศช.จัดการสอนตามแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในกิจกรรม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย การศึกษา การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ประเพณีและท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการ การปฏิบัติจริง และภูมิปัญญา แบ่งเป็นรูปแบบ 3 กลุ่มกิจกรรม ทั้งการศึกษาพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง ในลักษณะหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ และการศึกษาตามอัธยาศัย ผ่านสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ดูงาน ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ตำบลยางเปียง

“เสมา 3” เพิ่มอัตราครูในถิ่นทุรกันดาร

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เสมา 3) ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้กล่าวถึงศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ว่า มุ่งให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สูงอายุ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ทั้งในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ

ขณะเดียวกัน ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้ผลักดันให้มีการจัดสรรอัตราเพื่อบรรจุครูผู้ช่วย กศน. จำนวน 210 อัตรา ใน กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบัน ครูผู้ช่วย กศน. ได้เริ่มปฏิบัติงานจริงในพื้นที่แล้ว

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ให้กำลังใจ ครู กศน.ในพื้นที่สูงที่ตั้งใจดูแลคนทุกช่วงวัย ด้วยความทุ่มเททำงานและเสียสละเป็นอย่างมาก เพราะการทำงานในพื้นที่ไกลบ้าน เพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กในเวลากลางวัน และสอนประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติในเวลากลางคืน ให้พึ่งพาตัวเอง ได้มีโภชนาการและสุขอนามัยที่ดีตามวิถีชีวิตในแต่ละบริบท สู่เป้าหมาย SDGs การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิชาศิลปะจากใบไม้ กิจกรรมการเรียนการสอนสนุกๆ จากพี่ๆ ครูอาสาบ้านแม่เกิบ

ติดตั้งระบบโซลาเซลล์ ให้ ศศช.

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะไม่สามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้ ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนให้กับประชาชนในพื้นที่ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 255 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 112 แห่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 18 แห่ง จังหวัดตาก จำนวน 123 แห่ง และจังหวัดน่าน 2 แห่ง โดยคาดหวังว่า โครงการนี้จะเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนในพื้นที่สูงและทุรกันดาร ขับเคลื่อนแผนจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัยตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการบริการของรัฐบาลต่อไป

ศศช.บ้านแม่เกิบ กศน.อำเภออมก๋อย

ศศช.บ้านแม่เกิบ กศน.อมก๋อย

“บ้านแม่เกิบ” เป็นหย่อมบ้านของบ้านศาลาเท หมู่ที่ 15 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย หมู่บ้านแม่เกิบ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงชัน ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 240 กิโลเมตร ที่นี่เป็นชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีประชากร 177 คน 41 ครัวเรือน ชนเผ่าแห่งนี้มีภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำข้าวไร่ ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝน พร้อมหว่านเมล็ดผักไปด้วย วิถีชีวิตชาวบ้านอยู่กับป่า พึ่งป่า หากินกับป่า ทำไร่ทำนาได้กินข้าว ทำที่ดักหนู ป้องกันศัตรูข้าว และใช้เป็นอาหาร

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอนของ ศศช.บ้านแม่เกิบ

ภายในชุมชนแห่งนี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านแม่เกิบ สังกัด กศน.อำเภออมก๋อย มีนักเรียน 44 คน และครู 2 คน คือ “นายเจตน์  สนธิคุณ” และ “นายวาสุ แสงอรุณคีรี” ที่ผ่านมา ศศช.บ้านแม่เกิบ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใจบุญจำนวนมาก ได้แก่ มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต กลุ่มจำปีเหล็ก TLC Group สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มครูจิตอาสา และ “พิมรี่พาย” ฯลฯ ร่วมบริจาคอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน เสื้อผ้า และอาหาร รวมทั้งติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และระบบส่องสว่าง ทำให้ ศศช.บ้านแม่เกิบ มีไฟฟ้าใช้ ในเวลา 08.00-17.00 น. ของทุกวัน ซึ่งเพียงพอต่อการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่

ศศช.บ้านแม่เกิบ มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ ความสามารถอ่านออกเขียนได้ ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความรู้พัฒนาอาชีพ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น ดร. บานจิตร สายรอคำ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่นักเรียนและผู้ปกครอง เรื่องการทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติ เป็นต้น

ดร. บานจิตร สายรอคำ สอนทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติ

ภายในชุมชนแห่งนี้ มีพืชผักพื้นบ้านที่น่าสนใจมากมาย เช่น “ผักอิหลึ่ง” หรือ “หวะดุ” ในภาษากะเหรี่ยงโปว์ หรือ “ฮอว่อ” ในภาษากะเหรี่ยงสะกอ เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านปลูกในไร่หมุนเวียน ผักอิหลึ่ง มีกลิ่มหอม ชาวบ้านนิยมใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหาร

นอกจากนี้ ชาวบ้านมักปลูกพริกกะเหรี่ยงเป็นเครื่องปรุงรสในครัวเรือน และตากแห้งไว้ขายพ่อค้าที่มารับซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน ดร. บานจิตร สายรอคำ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ “น้ำพริกกะเหรี่ยงผักอิหลึ่ง” หากใครสนใจสินค้าชนิดนี้ สามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเด็ก เยาวชน และชาวบ้านแม่เกิบ ติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก “วาสุ ลูกกะเหรี่ยง”

ดร. บานจิตร สายรอคำ อบรมความรู้เรื่อง “น้ำพริกกะเหรี่ยงผักอิหลึ่ง”
ผักอิหลึ่ง หรือ “หวะดุ” ในภาษากะเหรี่ยงโปว์

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และเฟซบุ๊ก “ศศช.บ้านแม่เกิบ กศน.อมก๋อย “และ เฟซบุ๊ก” วาสุ ลูกกะเหรี่ยง”