กศน.ส่งเสริมการใช้ “กัญชา-กัญชง” อย่างชาญฉลาด ในฐานะอาหารและยา

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พัฒนานวัตกรรม ศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีการใช้พืชสมุนไพรไทยในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชน “กัญชาและกัญชง” จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีทั้งโทษและประโยชน์ ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ภายใต้การกำกับของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พบว่าประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการนำกัญชาและกัญชงมาใช้ประโยชน์

จากนโยบายดังกล่าว นำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อนำความรู้ “กัญชาและกัญชง” ไปใช้จัดการเรียนการสอน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนดำเนินการพัฒนาคุณภาพวิชาการ การวิจัย การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน “กัญชาและกัญชง” ให้กับนักศึกษาและประชาชน

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. มอบหมายให้สำนักงาน กศน.กทม. ร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ จัดทำหลักสูตรรายวิชาเลือกกัญชาและกัญชงศึกษาเพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด ให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

บทเรียนออนไลน์เรียนรู้กัญชา กัญชง อย่างชาญฉลาดสำหรับประชาชน

เปิดหลักสูตรออนไลน์ “กัญชา-กัญชง”

ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายพัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์ (Online Learning) โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผู้เรียนและผู้รับบริการตามกลุ่มเป้าหมายของ กศน. ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบการจัดการศึกษาออนไลน์ในอนาคต

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศน. ดำเนินการพัฒนา หลักสูตรบทเรียนออนไลน์ ONIE Learn เรื่อง การเรียนรู้กัญชาและกัญชงอย่างชาญฉลาด ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ช่วยให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ ผ่านสมาร์ทโฟน หรือโน๊ตบุ๊กได้ทุกที่ทุกเวลา

ตำราการเรียนรู้กัญชา กัญชง อย่างชาญฉลาดสำหรับประชาชน

ในอนาคต วางแผนพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นดังกล่าว มีบททดสอบ ใบงาน ความรู้และข้อมูลต่างๆ เช่น กัญชาคืออะไร กัญชงคืออะไร มีประโยชน์และโทษอย่างไร รวมไปให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบททดสอบออนไลน์จะมีทั้งหมด 20 ข้อ 4 ตัวเลือก ซึ่งเป็นระบบสุ่มข้อสอบ หากผ่านเกณฑ์ที่กำหนด 70% จะได้รับใบประกาศนียบัตรออนไลน์ หากไม่ผ่านเกณฑ์สามารถสอบซ่อมได้ไม่เกิน 3 ครั้ง รวมทั้งพัฒนาต่อยอดให้เป็นฐานข้อมูลอาชีพสำหรับวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ใน http://onielearn.nfe.go.th/

ความเป็นมาของ กัญชาและกัญชง

กัญชาและกัญชง จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ซึ่งเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะใบแตกออกเป็นแฉก ประมาณ 3-9 แฉก กัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศต่างๆ ยาวนานกว่า 10,000 ปี ประเทศไทยเริ่มปรากฏหลักฐานการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคครั้งแรกสมัยพระนารายณ์

กัญชง นิยมปลูกเพื่อใช้เส้นใยเป็นหลัก ชุมชนชาวไทยภูเขา มีการใช้กัญชงในวิถีชีวิตและประเพณีมาแต่ดั้งเดิม เช่น นำเส้นใยกัญชงมามัดมือทารกที่เกิดใหม่ นำมาถักทอเครื่องแต่งกาย รองเท้า เป็นต้น

ใบกัญชาสด

ความแตกต่างของ กัญชาและกัญชง

กัญชาและกัญชง ประกอบด้วยสารสำคัญหลายกลุ่มซึ่งออกฤทธิ์ในการรักษาร่วมกัน เช่น สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เทอร์ปีน (Terpene) เป็นต้น กัญชา แยกออกจากกัญชง ตามปริมาณสารเมา หรือสารทีเอชซี (THC) กฎหมายไทย กำหนดให้กัญชงต้องมีสารทีเอชซี (THC) ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง แต่หากปริมาณเกินกำหนดจะจัดเป็นกัญชา

กัญชง มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อใช้ประโยชน์หลายด้าน สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสายพันธุ์เพื่อใช้เส้นใย 2. กลุ่มสายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์จากเมล็ด พัฒนาให้เมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 3. กลุ่มสายพันธุ์ที่ช่อดอกมีคุณค่าทางยาสูง มีสารซีบีดี (CBD) สูง

กิ่ง ก้าน ราก ลำต้นกัญชา มีสรรพคุณทางยา

ตำรับยาจาก กัญชา

กัญชาและกัญชง มีสารออกฤทธิ์หลักคือ แคนนาบินอยด์ ที่สาคัญ ได้แก่ ทีเอชซี (THC) มีฤทธิ์ลดปวด ช่วยให้นอนหลับ แต่ทำให้ติดและเมา และ ซีบีดี (CBD) ช่วยลดอักเสบได้ดี ไม่ทำให้ติด ช่วยลดการเมา การรับการรักษาด้วยยากัญชา ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการพัฒนาและผลิตตำรับยากัญชาของหมอพื้นบ้าน ได้แก่ น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) ซึ่งเป็นยารูปแบบน้ำมันสำหรับประชาชน โดยเป็นสารสกัดกัญชาในน้ำมันมะพร้าวที่มีความเข้มข้น 10% ของน้ำหนักกัญชาแห้ง ซึ่งใช้ตามคำสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตาม กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่รักษาได้ทุกโรค ยากัญชามีฤทธิ์รักษาได้เฉพาะบางโรคเท่านั้น และกัญชาไม่ใช่ยาหลักในการใช้รักษาโรคมะเร็ง แต่ยากัญชาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดอักเสบ ช่วยให้นอนหลับได้ กินข้าวได้ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก

ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 สูตรรับประทาน

ส่วนคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการจ่ายยาที่เป็นยาหยอดใต้ลิ้น 3 สูตร สั่งจ่ายตามโรคที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขณะนี้จ่ายยา 2 ตำรับ คือ ยาศุขไสยาศน์ (ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร) ยาทำลายพระสุเมรุ (บรรเทาอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง และอาการชาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต)

คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วางแผนพัฒนาเพื่อให้มียากัญชาครบทั้ง 16 ตำรับ รวมทั้งพัฒนายาตัวใหม่เป็นตำรับยาของหมอพื้นบ้าน ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคเรื้อนกวาง ซึ่งมีผลวิจัยรองรับว่ากัญชาจะช่วยรักษากลุ่มโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะต้องมีการกำหนดปริมาณการใช้ให้ปลอดภัย มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยที่สุด

เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากกัญชา

ประเทศไทยมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเปิดให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง หรือเสพได้ กฎหมายได้ให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

ในต่างประเทศ กัญชาและกัญชงได้ถูกพัฒนาเป็นยารักษาสัตว์ ใช้ในสุนัขและแมวที่ป่วยเป็นมะเร็ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบและเพิ่มการอยากอาหาร นอกจากนี้ ในอดีตประเทศไทยยังเคยมีการใช้กัญชาผสมในอาหารสำหรับไก่ และลูกหมูเพื่อให้กินอาหารได้มาก นอนได้ดี เรียกว่า “ยาหมูพี”

เมนูอาหารจากกัญชา

อาหารจากกัญชา

เมนูอาหารจากกัญชาตามภูมิปัญญาเดิมของไทย แนะนำให้กินกัญชาไม่เกินวันละ 5-8 ใบ สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินกัญชามาก่อน ควรกินในปริมาณน้อย เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นแรง หากมีอาการดังกล่าว สามารถถอนพิษเบื้องต้นจากการเมากัญซาและกัญชงได้ 3 วิธี คือ

วิธีที่ 1. ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทราย

วิธีที่ 2 ดื่มสมุนไพรรางจืด วันละ 3 เวลา เวลาเช้า กลางวัน และเย็น

และวิธีที่ 3 รับประทานกล้วยน้ำว้าสุก วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ผู้ป่วยที่มีอาการเมา ศีรษะโคลงเคลง จะค่อยๆ มีอาการดีขึ้นในที่สุด