ผักเชียงดา ราชินีผักล้านนา

“ผักเชียงดา” เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยในภาคเหนือตอนบน แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน นิยมรับประทาน เพราะมีสรรพคุณทางยา เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยละลายลิ่มเลือด ลดความอ้วน บรรเทาอาการหวัด ฯลฯ ทำให้ผักเชียงดาเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญาวดี ศรีตนทิพย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภา ขันสุภา นายพิทักษ์ พุทธวรชัย และ ดร. ภัทราภรณ์ ศรีสมรรถการ ได้เริ่มศึกษาวิจัย เรื่อง “ผักเชียงดา ราชินีผักล้านนา” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบประมาณการวิจัย เรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักเชียงดาที่เหมาะสมในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผักพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ สู่ภาคประชาชน สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม

ทีมนักวิจัยได้สำรวจผักเชียงดาในภาคเหนือ คัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและสารจิมเนมิคสูง จากเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน จำนวน 101 สายต้น

ระยะที่ 1 (2551-2556) สามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่มีปริมาณต้านอนุมูลอิสระสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 2 สายต้น คือ สายต้น เบอร์ LP004 มีลักษณะใบกลม หนา และยอดอวบสั้น และสายต้น เบอร์ LP006 มีลักษณะใบยาวรีและยอดยาว มีปริมาณกรดจิมเนมิคในผักเชียงดาอบแห้ง ร้อยละ 1.51-1.53

ระยะที่ 2 ปี 2557-2562 รวบรวมต้นผักเชียงดาใน 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 443 สายต้น ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม สัณฐานวิทยา และคุณภาพทางเคมี พบสายต้นผักเชียงดาที่ให้ผลผลิตสูงและมีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง ได้แก่ CM025 CM058 และ PR042

สายต้นผักเชียงดา 5 ชนิด ที่ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง

การเตรียมต้นกล้า

ทีมนักวิจัยขยายพันธุ์ผักเชียงดาโดยใช้กิ่งคู่ใบที่ 4-5 ขึ้นไป ยาวประมาณ  2-4 นิ้ว ใช้ 1-2 ข้อ ต่อ 1 ต้น นำมาแช่ในน้ำยาเพิ่มรากและยากันรา 5 นาที ผึ่งทิ้งไว้ให้หมาดๆ แล้วปักลงในกระถาง ที่ใช้วัสดุชำประเภทถ่านแกลบผสมทรายหรือถ่านแกลบอย่างเดียว ปักชำทิ้งไว้ 45 วัน เมื่อต้นกล้ามีรากขึ้น ย้ายลงถุงชำที่ใส่ดิน ขนาด 3×7 นิ้ว นำไปไว้ในเรือนเพาะชำอีก 45 วัน จึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใหญ่ต่อไป

กรณีต้องการปักชำผักเชียงดาในช่วงฤดูร้อน หลังจากปักชำในแกลบดำแล้วให้นำกระถางใส่ในถุงพลาสติกใสขนาด 30X40 เซนติเมตร นำเชือกมามัดแล้วนำไปโยงไว้ในที่ร่ม แต่ไม่ต้องปิดปากถุงให้สนิท เหลือรูระบายอากาศด้านบน ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หากปิดปากถุงสนิทเหมือนพืชชนิดอื่น จะทำให้ผักเชียงดาเกิดเชื้อราและเน่าตาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญาวดี ศรีตนทิพย์ กับผลงานที่ภาคภูมิใจ

การเตรียมดิน

การเตรียมดิน เป็นการช่วยกำจัดวัชพืช ถือเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกผักเชียงดาให้ได้ผลผลิตสูง การเตรียมดินที่ดีควรไถดะ ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน ไถแปร 1-2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้แตกละเอียด ไม่เป็นก้อนใหญ่ ก่อนทำร่องหรือแถวปลูกควรหว่านปุ๋ยคอก 1 ตัน ต่อไร่ ก่อนไถแปรปรับปรุงโครงสร้างดินให้อุ้มน้ำได้นานขึ้น และเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน หากดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ และไถพรวนกลบ

การปลูกดูแลรักษา

แปลงปลูกกว้าง 1-1.5 เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่ ระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น เฉลี่ยไร่ประมาณ 4,200 ต้น ปลูกเป็นแถวคู่ ให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและความขึ้นในดิน รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ประมาณครึ่งกระป๋องนมข้น คลุกดินก่อนปลูก

ก่อนย้ายปลูกควรงดให้น้ำต้นกล้า 2 วัน ในวันย้ายปลูกควรรดน้ำให้ชุ่ม เพื่อลดการฉีกขาดของรากจากการถอนย้าย ควรปลูกให้แนวคอดินลึกกว่าระดับดินของแปลง 1 เซนติเมตร เพื่อให้ส่วนของลำต้นที่ติดดินแตกรากออกมาใหม่ เจริญเติบโตสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรย้ายปลูกในช่วงบ่ายตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศไม่สูงมากเกินไป ทำให้ต้นกล้าสามารถฟื้นตัวและรอดตายสูง

หลังจากย้ายปลูกควรให้น้ำทันที ใช้ฟางข้าว เปลือกถั่ว แกลบดิบ เป็นวัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และรักษาความชื้นหน้าดิน ป้องกันวัชพืช วัสดุประเภทนี้จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดินอีกด้วย ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผักเชียงดาเป็นพืชทนแล้ง ไม่ชอบน้ำขัง หากน้ำขัง ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นภายใน 1 สัปดาห์

ดูให้ชัดๆ ลักษณะต้นพันธุ์ผักเชียงดา เบอร์ 4 และ เบอร์ 6

การตัดแต่งต้น

การปลูกโดยไม่ทำค้าง ควรตัดแต่งทรงพุ่ม ให้มีกิ่งหลัก ประมาณ 4 กิ่ง เพื่อรักษาสมดุลของทรงพุ่ม และได้ผลผลิตสม่ำเสมอ มีจำนวนต้นต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น สามารถเก็บยอดได้เพิ่มขึ้นแล้ว ต้นเชียงดายังเปิดรับแสงแดดได้เต็มที่ ง่ายต่อการดูแลตัดแต่งต้น ประหยัดค่าทำค้าง ข้อเสียคือ การกำจัดวัชพืชจะยากกว่าการทำค้างแบบร้าน เมื่อต้นผักเชียงดามีอายุ 5 ปีขึ้นไป ควรใช้ไม้หลักสูง 1.20-1.50 เมตร ช่วยพยุงลำต้น

การใส่ปุ๋ย

หากใส่ปุ๋ยเคมี ประเภทปุ๋ยไนโตรเจน 8 กิโลกรัม ต่อไร่ ทุกๆ 3 เดือน ผักเชียงดาจะให้ผลผลิตและแตกช่อยอดต่อเนื่อง ใบเขียวสดมีปริมาณคลอโรฟิลล์สม่ำเสมอทั้งปี หากปลูกแบบอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยคอกประเภทมูลวัว มูลหมู มูลไก่ หรือมูลไส้เดือน ในอัตรา 0.5-2 ตัน ต่อไร่ ทุกๆ 2 เดือน สำหรับปุ๋ยขี้วัวจะปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย ควรใส่ในอัตรา 1.5 ตัน ต่อไร่ ปุ๋ยขี้ไก่ ใส่ในอัตรา 2 ตัน ต่อไร่ ทุกๆ 2 เดือน โรยรอบโคนต้น พร้อมพรวนดินรอบๆ โคนต้น เพื่อกำจัดวัชพืชและคลุกเคล้าปุ๋ยไปพร้อมๆ กัน

การเก็บเกี่ยว

หลังย้ายปลูกประมาณ 1-2 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ควรตัดใบอ่อนในช่วงเช้า เพราะได้ความสดและให้น้ำหนักดี เก็บใบ ประมาณ 3 คู่ใบ นับจากปลายยอด ขายกิโลกรัมละ 50 บาท สามารถนำผักเชียงดาไปประกอบอาหารได้แต่ควรผ่านความร้อนไม่เกิน 30 วินาที เพื่อให้ผักมีคุณภาพอาหารเท่ากับรับประทานสด หากต้องการกระตุ้นระบบขับถ่ายในร่างกายให้ดีขึ้น ควรรับประทานผักเชียงดาใบแก่ (ตั้งแต่ใบที่ 4-7 จากยอด)

แปลงปลูกผักเชียงดาเชิงการค้า

ชุมชนต้นแบบปลูกผักเชียงดา

กลุ่มผู้ปลูกผักเชียงดาหมู่บ้านหนองวัวแดง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพ โดยผักที่ปลูกมี 2 ชนิด คือ ผักเชียงดา และผักมะไห่ ชาวบ้านนิยมปลูกผักเชียงดาตามริมรั้ว ในสวนครัว เพื่อเป็นอาชีพเสริม ผักเชียงดาเป็นพืซที่อายุยืน ทนแล้งได้ดี แตกแขนงได้มาก แตกยอดได้ตลอดปี หากแล้งจัดจะทิ้งใบและแตกยอดใหม่ในฤดูฝน ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ได้ประมาณ 4-5 ต้น ต่อถุง พอออกรากความสูง 20 เซนติเมตร นำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ ทุกวันนี้ผลผลิตยังไม่พอกับความต้องการของตลาด และมีข้อจำกัดคือ คุณภาพและผลผลิตไม่สม่ำเสมอ

กลุ่มผู้ปลูกผักพื้นบ้านบ้านหนองวัวแดง มีการปลูกต่อๆ กันมาจากรุ่นพ่อแม่จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลามากกว่า 20 ปี มีเป้าหมายพัฒนาเป็นอาชีพหลัก เน้นผลิตแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดปัญหาการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ประชาสัมพันธ์ผักเชียงดาเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ผักพื้นบ้านเป็นตัวอย่างได้อย่างดี ทีมนักวิจัยจึงได้นำนวัตกรรมความรู้เรื่องการผลิตในพื้นที่ขนาดเล็ก และส่งเสริมการปลูกผักเชียงดาที่มีกรดจิมเนมิคสูง ส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกผักเชียงดาในชุมชน เพื่อวางแผนการผลิต สร้างอำนาจต่อรองกับตลาด สร้างผักเชียงดาเป็นเอกลักษณ์ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ผักเชียงดาคุณภาพดีที่ผ่านการคัดเลือกจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“กลุ่มฮักน้ำจาง” บ้านนากว้าวกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ดำเนินชีวิตในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นฐานเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ในบ้านและในแปลงส่วนรวม เรื่องตลาดสีเขียว ที่ผ่านมา ชาวบ้านปลูกผักเชียงดาตามแนวรั้ว เพียงหลังละ 1-2 ต้น จนกระทั่ง ปี 2558 ทีมนักวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องการปลูกขยายพันธุ์และการแปรรูปผักเชียงดา และสายพันธุ์ที่มีกรดจิมเนมิคสูง เพื่อผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากผักเชียงดา

ปี 2563 เกิดโครงการหมู่บ้านผักเชียงดาอินทรีย์ วิถีฮักน้ำจาง ทำให้ชาวบ้านเพิ่มการปลูกผักเชียงดาในพื้นที่มากขึ้น วางแผนการผลิตและแปรรูปสินค้าในระยะสั้นและระยะยาว สาเหตุที่ชาวบ้านเลือกปลูกผักเชียงดา ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านล้านนาเพราะมีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม ได้รับการรับรองมาตรฐานแปลงปลูกผักเชียงดาอินทรีย์ (Organic Thailand) และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักเชียงดา (อย.) สำหรับผลิตผักเชียงดาอบแห้ง

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มฯ ยังสร้างโมเดลในการนำคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดในนาม กลุ่มฮักกรีน ซึ่งอาสาสมัครกลุ่มนี้ช่วยพัฒนาต่อยอดให้กับเกษตรกรที่อยู่ในชุมชน เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรฮักน้ำจางยังได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซในพื้นที่จังหวัดลำปาง ประจำปี 2563