ขิงแกลง ใบเผ็ดอร่อยแง่งเหง้า เป็นยาต้นตำรับไทย

สำนวนไทยว่า “ขิงก็รา ข่าก็แรง” มีความหมายถึงพฤติกรรมความขัดแย้งแข่งขัน ของคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ไม่ค่อยลงรอยกัน ที่ต่างก็มีอารมณ์ร้อนพอๆ กัน ไม่ยอมลดละกัน จัดจ้านพอกัน เรียกว่าร้อนแรงยกกำลังสอง บ้านเรือนหรือสังคมจะลุกเป็นไฟหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าความแรงของอารมณ์เวลานั้นเป็นระดับไหน เช่นเดียวกับ ขิงแก่ ข่าแก่ ยิ่งแก่ยิ่งแรง ขิงอ่อน ข่าอ่อน ก็นุ่มนวลชวนลองลิ้ม สักคำ!!

พืชผักไทยชนิดหนึ่ง “ขิงแกลง” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก และเคยลิ้มรส ใบที่หอมเผ็ดร้อนกำลังเหมาะ เป็นพืชผักสวนครัว เป็นพืชสมุนไพรในตระกูลขิง ข่า ขมิ้น ทั่วไป นิยมปลูกไว้กินใบ จัดอยู่ในประเภทขิงเล็ก ขิงป่า ที่มีเหง้าแง่งไม่ใหญ่ แบบว่าแคระแกร็นก็ไม่ผิดเกินไปนัก แต่เป็นขิงเล็กที่เผ็ดร้อนมากกว่าขิงทั่วไป เป็นพืชในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ชนิด Zingiber officinal Roscoe มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคกลาง เรียก ขิงบ้าน ขิงป่า ขิงแครง ขิงเขา ขิงดอกเดียว แถวจันทบุรี เรียก ขิงแกลง ขิงแดง เชียงใหม่ เรียก ขิงเผือก คนเหนือ เรียก ขิงแก็ง หรือขิงแกลง ในตำราหมวดจตุทิพยคันธา ว่า ขิงแครง เป็น 1 ใน 4 อย่างขององค์ประกอบต้นตำรับยาไทย อันได้แก่ ดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะเขือกล่ำเครือ และรากขิงแครง

ขิงแกลง เป็นพืชล้มลุกลำต้นใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ขนาดเล็ก ออกแง่งเล็กๆ ไม่มากนัก ผิวเปลือกแห้ง สีเหลืองอ่อน เนื้อสีเหลืองอมเขียว แง่งขิงอ่อนมีสีขาว ออกยางเมือก มีกลิ่นหอม รสเผ็ด ลำต้นบนดิน ออกเป็นกอ แตกกอออกมาจากเหง้า สูงประมาณ 50-90 เซนติเมตร เป็นก้านกลมๆ เกิดจากกาบใบหุ้มอัดซ้อนกันแน่น ส่วนปลายของกาบใบ จะออกเป็นใบคล้ายใบไผ่ ปลายใบเรียวแหลม แต่อ่อนนุ่มกว่าใบไผ่ ออกเรียงสลับ 2 ข้าง ส่วนดอกและผล ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็น เป็นช่อดอกสีขาว แทงออกมาจากเหง้า ก้านดอกไม่มีใบ ออกเป็นพุ่มปลายแหลม มีกาบเป็นเกล็ดอยู่รอบๆ และมีดอกออกแซมตามเกล็ด ส่วนผล จะกลมแข็ง มีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ในผล

ขิงแกลง 100 กรัม ให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 80% เถ้า 1% คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม โปรตีน 0.4 กรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม แคลเซียม 18 มิลลิกรัม เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม   วิตามีนบี 3 หรือไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม วิตามีนบี 1 หรือไทอามีน 0.02 มิลลิกรัม วิตามีนบี 2 หรือไรโบฟลาวีน 0.02 มิลลิกรัม วิตามีนซี 4.6 มิลลิกรัม สารเบต้า-แคโรทีน 12 ไมโครกรัม คุณค่าทางอาหารต่างๆ ทำให้ ขิงแกลงสามารถใช้เป็นอาหาร เป็นเครื่องดื่ม เพราะเป็นผักสมุนไพรที่ออกฤทธิ์บำรุง บำบัดรักษาได้มากมาย หลากหลายสารพัดโรคภัย เป็นเครื่องเทศที่ใช้ปรุงแต่ง เสริมรสชาติอาหาร เครื่องดื่มได้อย่างดีเยี่ยม

นิยมนำเอาใบขิงแกลง มาเป็นผักสด กินแกล้มกับอาหารพวก ลาบ พล่า ส้า ยำ หั่นฝอยแต่งรสซุบหน่อไม้ ยำหน่อไม้ใส่น้ำปู๋ แง่งขิงแกลงแก่ โขลกปรุงแต่งรสตำน้ำพริกไข่แมงมัน ใส่ยำไข่มดแดง ใส่ต้มผักกาดดอง ใส่น้ำจิ้มข้าวมันไก่ ใส่น้ำจิ้มปลานึ่ง ใส่ต้มอ่อมเนื้อ ต้มยำไก่ เอามาหั่นซอยผัดขิงไก่ ผัดขิงเครื่องใน ผัดพริกขิง โรยปลานึ่งแป๊ะซะ และที่อินเทรนด์ฮ็อตฮิต คือ น้ำขิง ไม่ว่าขิงผงพร้อมชงดื่ม หรือน้ำขิงต้มดื่มแทนน้ำชา และ ขิงดองกิมจิแบบเกาหลี ขิงดองกินกับซาซิมิแบบญี่ปุ่น ล้วนแต่สุดยอดแห่งความอร่อย แต่อาหารไทยมีได้มากกว่านั้น “ขิงแกลง” เป็นขิงอีกประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในทางเลือกของคนไทย และคนเอเชีย มีความโดดเด่นที่คนไทยเราค้นพบ คือสิ่งที่ได้จากองค์ประกอบทุกส่วนของขิงแกลง ซึ่งขิงทั่วไปให้ได้แต่เหง้าแง่ง และที่เด็ดมากกว่าคือ ฤทธิ์ยาสมุนไพรที่เข้มข้นกว่านั่นเอง

สรรพคุณทางยาที่หาได้จากขิงแกลง เหง้าแง่งขิงแกลง ทุบต้มน้ำเดือด ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ท้องผูก จุกเสียด ท้องเสีย ท้องร่วง ขับน้ำดีย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ลดความดันโลหิต แก้ปวดประจำเดือน ต้มน้ำอาบขับเหงื่อ ลดไข้ ขิงสด พอกทารักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก คั่วกับน้ำสารส้มแห้งบดเป็นผง ใช้พอกแก้ปวดฟัน ใบขิงแกลง รักษาโรคเลือดกำเดาไหล ขับผายลม ขับลมในลำไส้ ป้องกันนิ่ว แก้ขัดเบา แก้ปากและคอเปื่อย ช่วยระบบย่อยอาหาร แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้ฟกช้ำ ฆ่าพยาธิ ดอกขิงแกลง ต้มกินทำให้ร่างกายชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย แก้นิ่ว ฆ่าพยาธิ บำรุงไฟธาตุ แก้ขัดเบา แก้บิด ผลเมล็ดขิงแกลง เป็นยาแก้ไข้ รากขิงแกลง มีรสหวานปนเผ็ดร้อน และอมขมนิดๆ ช่วยให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ

แต่การใช้พืชสมุนไพร ทุกอย่างย่อมมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ควรระมัดระวัง ขิงแกรงเป็นของร้อนแรง ไม่ควรกินควบคู่กับสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนป่วยที่ร่างกายอุณหภูมิสูง สตรีมีครรภ์ คนที่เป็นร้อนใน คนที่เป็นอาการเลือดไหลออกผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยง และปริมาณการใช้ ถ้าหากใช้ หรือกินในปริมาณที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้ลำไส้หยุดการบีบตัว ทำให้ระบบย่อยดูดซึมสารอาหารบกพร่องได้ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ขิงแกลง แนะนำให้ปลูกลงกระถาง ถ้ากระถางขนาด 8-10 นิ้ว จะได้กอขิงแกลงที่สวยงามมาก เคลื่อนย้ายสะดวก ใช้เป็นไม้ประดับก็ได้ ใช้เป็นผักสมุนไพรก็ได้ ธรรมชาติของขิงแกลง จะไม่ชอบน้ำมากนัก ควรปลูกในวัสดุที่โปร่ง ระบายน้ำดี กลางแจ้ง ไม่ค่อยมีศัตรูรบกวน จึงไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ใช้การดูแลบำรุงรักษาแบบเกษตรธรรมชาติ เป็นพืชที่มีประโยชน์ เป็นไม้กระถางที่ตลาดต้องการสูง ยิ่งถ้ามีผู้รู้สรรพคุณ และคุณค่าของขิงแกลงมากขึ้นเท่าใด ความต้องการยิ่งมากขึ้นตามตัว วันนี้ที่บ้านท่านมีขิงแกลงไว้สักกระถางหรือยัง?

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก