เจ้าอาวาสวัดดังในเชียงคำ อนุรักษ์เกวียนเก่า ไว้ใช้งานบุญและให้เยาวชนได้ศึกษาความเป็นมา

เกวียน เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่มีล้อเลื่อน อายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน มี 2 ล้อ เคลื่อนที่ไปโดยใช้วัวหรือควายเทียมลากไป โดยปกติใช้ 2 ตัว ตามตำนานกล่าวว่า มนุษย์รู้จักใช้ล้อมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ส่วนเกวียนที่เทียมสัตว์และรถศึกมีปรากฏแน่ชัดในสมัยกรีกและโรมัน

ในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นยุคต้นของไทย มีวรรณคดี พงศาวดารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเกวียน เช่น ในเรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำ คนไทยได้ใช้เกวียนบรรทุกส่วยไปบรรณาการขอมผู้มีอำนาจ ในสมัยหลังๆ สมุหเทศาภิบาลใช้ “เกวียนด่าน” เดินทางจากอุบลราชธานีมายังกรุงเทพฯ โดยนั่งเกวียนคันหนึ่งมาแล้วเปลี่ยนนั่งคันใหม่ต่อกันเป็นทอดๆ

เกวียนหรือล้อในภาษาเหนือ ที่เก็บไว้บริเวณวัดร้องเก่า

ในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ใช้ในการไปตรวจราชการท้องที่ของข้าราชการ ได้ใช้ส่วนกลางของเกวียน เป็นที่นอน ใช้ส่วนหน้าเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ใช้ใต้ถุนเกวียนเป็นที่หุงหาอาหาร

เกวียนแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เกวียนเทียมวัวและเทียมควาย เกวียนเทียมวัวจะเตี้ยกว่า ทางภาคใต้จะนิยมใช้ควายเทียมเกวียน ส่วนภาคเหนือนิยมใช้วัวเทียม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตรากฎข้อบังคับเพื่อใช้ควบคุมการใช้เกวียนนี้ขึ้น จึงนับว่าเป็นกฎหมายฉบับ แรกว่าด้วยการใช้เกวียน แต่มีผลบังคับเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้ทรงดำริว่าขนาดของล้อเกวียนกว้างเท่ากันทั่วราชอาณาจักร

พ.ศ. 2460 กำหนดให้ล้อเลื่อนทุกชนิดในเขตพระนครต้องจดทะเบียนรับใบอนุญาตขับขี่ทุกๆ ปี ครั้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีประกาศพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. 2478 กำหนดให้เก็บค่าจดทะเบียนเกวียน เล่มละ 1 บาท นับตั้งแต่เริ่มใช้จนชั่วอายุเกวียน และผ่อนผันให้ผู้ขับขี่เกวียนไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และนับตั้งแต่นั้นมาก็มิได้มีพระราชบัญญัติ

มีคุณค่า

ที่วัดร้องเก่า หมู่ที่ 1 ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พบว่ามีการสะสม “เกวียน” หรือภาษาเหนือเรียกอีกอย่างว่า “ล้อ” พาหนะโบราณสมัยก่อนไว้กว่า 12 เล่ม โดย พระครูปิยชัยสิทธิ์ หรือ ครูบาอู๋ เจ้าอาวาสวัดร้องเก่า ได้พาชมความงามของเกวียนบริเวณโรงเก็บข้างกุฏิสงฆ์ภายในวัดแห่งนี้

Advertisement

พระครูปิยชัยสิทธิ์ ได้เล่าให้ฟังว่า เกวียน หรือ ล้อ นี้ ในสมัยก่อนชาวบ้านในพื้นที่ของอำเภอเชียงคำ ได้ใช้กันเพื่อบรรทุกข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วไปเก็บในยุ้งฉาง บรรทุกคนป่วยไปโรงพยาบาล บรรทุกพระสงฆ์องค์เณรไปรับกิจนิมนต์ต่างพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการบรรทุกสิ่งของต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับพบว่าเกวียนได้ถูกซุกเอาไว้ในบ้าน เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันนี้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างใช้รถยนต์กันทั้งนั้น ทั้งนี้ พระอาจารย์เห็นว่าน่าจะเอามาอนุรักษ์ไว้ภายในวัด อีกทั้งยังมีคุณค่าที่สามารถใช้งานได้อีกด้วย เพราะในช่วงงานบุญของวัดนั้นทางวัดจะให้ญาติโยมนำเกวียนนี้ออกมาบรรทุกของทำบุญเข้าวัด ซึ่งทำให้ชาวบ้านหวนระลึกถึงความเป็นอยู่ในครั้งอดีตมากขึ้น

นอกจากนี้ การนำเกวียนมาใช้ประโยชน์นี้จะสามารถสื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า คุณประโยชน์ของเกวียนก็ยังมีให้ใช้ ดีกว่าที่จะเอาไปแยกแล้วซุกตามบ้านโดยไม่เห็นคุณค่าของมัน ทุกวันนี้ก็ยังมีญาติโยมนำเกวียนมาถวายให้วัดร้องเก่า เพราะเห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นที่อนุรักษ์ของโบราณที่ล้ำค่าด้วย ซึ่งเกวียนแต่ละหลังจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เกวียนเล่มไหนที่มีญาติโยมนำมาถวายนั้น หากสภาพทรุดโทรมก็จะให้ช่างผู้เฒ่าผู้แก่แถวบ้านช่วยกันซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้อีกครั้ง และหลังจากนี้ ทางวัดจะใช้เกวียนเหล่านี้เป็นแหล่งศึกษาของเยาวชนในยุคปัจจุบันนี้ที่ไม่เคยเห็นและไม่รู้จักเกวียนให้ได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับของเก่าแก่ด้วย

Advertisement
ล้อของเกวียนที่กำลังซ่อมแซม

ทางด้าน ลุงแล้ อินต๊ะสิน อายุ 69 ปี พ่อเฒ่ามือซ่อมเกวียนของบ้านร้องเก่า หมู่ที่ 1 ตำบลร่มเย็น ได้กล่าวเสริมว่า เมื่อก่อนตนเองมีอาชีพรับสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ แต่พักหลังๆ ด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมก็ได้หยุดทำงานสร้างบ้านไป แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระครูปิยชัยสิทธิ์ หรือครูบาอู๋ เจ้าอาวาสวัดร้องเก่าก็ได้นำเกวียนมาให้ตนเองซ่อมแซม ซึ่งครั้งแรกที่ตนเองรับงานซ่อมแซมนั้น ไม่ได้มีความรู้เรื่องเกวียนเลย แต่เพราะสมัยก่อนตนเองเคยใช้เกวียนออกทำงานบรรทุกข้าวของบ่อยครั้ง จึงจำได้และเริ่มซ่อมแซมเกวียนที่ชำรุดนี้ขึ้นมา โดยตนเองทำอาชีพซ่อมแซมเกวียนนี้มาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่สิ่งที่เจ้าอาวาสวัดร้องเก่าได้นำเกวียนมาให้ตนเองซ่อมแซมนั้น เห็นได้ว่าตัวของครูบาอู๋นั้นชอบในเรื่องของโบราณที่กำลังจะสาบสูญไปกับกาลเวลา แต่ยังคงจะนำเกวียนเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น และศึกษาถึงการใช้งานของคนสมัยก่อนหรือความเป็นอยู่สมัยโบราณ ทั้งนี้ ตนเองยังคงจะซ่อมแซมเกวียนต่อไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหวในที่สุด

ลุงแล้ ช่างซ่อมเกวียนให้วัดร้องเก่า