อาหารไม่ย่อย ทำอย่างไรดี สมุนไพรช่วยได้หรือไม่

จากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ทำให้หลายท่านต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดการแพร่กระจายของเชื้อ จึงเป็นโอกาสที่ท่านผู้อ่านจะได้ใช้เวลาทำงานอดิเรกที่ชอบ ทำอาหาร ทำขนมรับประทานเอง ในบางครั้งก็อร่อยจนหยุดรับประทานไม่ได้

ส่งผลทำให้เกิดอาการแน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อยมีรายงานว่า มีคนประสบปัญหาอาการนี้ถึงหลักล้านคนทั่วโลก สาเหตุอาจเกิดได้จากแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบยาสามัญประจำบ้านที่คุ้นเคยกันส่วนใหญ่ ได้แก่ ยาน้ำขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง ที่มีส่วนผสมของ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) มีคุณสมบัติลดภาวะการเป็นกรดในกระเพาะอาหาร กลไกของยาน้ำชนิดนี้ปรับค่า pH ให้เป็นกลาง

ข้อดีคือ ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาการท้องเสียจะเจอได้บ่อยกว่าท้องผูก เป็นต้น รวมทั้งมีข้อควรระวังเรื่องการใช้ยาลดกรดร่วมกับยาตัวอื่นหลายชนิด เพราะอาจส่งผลให้ยาดีกันหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคประจำตัวอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาชนิดนี้

ขมิ้นชัน เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย แน่นจุกเสียดได้ จากกลไกที่เพิ่มการหลั่งสารที่ช่วยปรับสภาพลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร เพิ่มการหลั่งเอนไซม์ที่มีผลต่อการย่อย นอกจากนี้ ยังพบว่าขมิ้นชันสามารถช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อ H.pyroli ได้เช่นกัน โดยข้อดีของขมิ้นชันนั้นคือ ความปลอดภัยในการใช้ยา ราคายาไม่สูง หาซื้อได้ง่าย ขนาดการรับประทานตามบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ควรรับประทานยาขมิ้นชันแคปซูล 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

แม้ว่าจะไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างยาน้ำลดกรดกับขมิ้นชันแคปซูล แต่มีงานวิจัยเปรียบเทียบผลในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารแบบเฉียบพลันระหว่างขมิ้นชันกับยาลดกรดแผนปัจจุบันแบบเม็ด โดยพบว่า ขมิ้นชันมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาแผนปัจจุบัน จากกลไกการสร้างเส้นเลือดในเนื้อเยื่อบริเวณรอยแผล ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ด้วยสาเหตุนี้ ก็ควรเลือกใช้ขมิ้นชันในการรักษาจะเหมาะสมกว่า

แม้ว่าขมิ้นชันจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ใช้ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจากข้อมูลแสดงถึงการรับประทานนานถึง 3 เดือนก็ยังปลอดภัย แต่มีรายงานการรู้สึกไม่สบายท้องเล็กน้อยและมีข้อควรระวังสำหรับการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ผู้ป่วยที่การแข็งตัวของเลือดมีปัญหา ส่วนหากท่านผู้อ่านมีโรคประจำตัวและมีข้อสงสัยในการรับประทานขมิ้นชัน สามารถสอบถามมาได้ที่ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลอภัยภูเบศร

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร