บุหงาบูดะ ขนมพื้นเมือง ของฝากจากสตูล

บุหงาบูดะ หรือ ขนมดอกลำเจียก เป็นขนมพื้นเมืองของจังหวัดสตูล มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยพระยาสมันตรัฐ โดยคนในสายสกุลกรมเมือง ที่เข้าไปรับใช้อยู่ในวังเก่าเจ้าเมืองสะโตย หรือจังหวัดสตูลในปัจจุบัน

ขนมบุหงาบูดะ มีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายหมอน ทำด้วยมะพร้าวทึนทึก และแป้งข้าวเหนียวผสมด้วยน้ำตาล เกลือ น้ำ และกะทิ เป็นขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมที่นิยมทำเป็นขนมใช้ในงานเทศกาลงานพิธีที่สำคัญๆ ทางศาสนาอิสลาม อาทิ งานเทศกาลฮารีลายอ ตรุษของคนอิสลาม เทศกาลถือศีลอด งานแต่งงาน และเทศกาลงานอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นขนมต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน

7. ขึ้นรูปขนม BUR.17

อดีตขนมบุหงาบูดะจะทำกันเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ไม่มีขายตามท้องตลาด จะต้องรอจนถึงช่วงเวลาเทศกาลถึงจะได้รับประทาน แต่ปัจจุบันขนมบุหงาบูดะได้มีการทำออกจำหน่ายเป็นของฝากติดไม้ติดมือนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจตลอดทั้งปี โดยมีกลุ่มเยาวชนและกลุ่มแม่บ้านที่ได้สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษรวมกลุ่มทำขนมพื้นบ้านชนิดนี้ จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสตูล

สำหรับแหล่งผลิตที่สำคัญและมีชื่อเสียง มีอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มได้พัฒนารูปร่างหน้าตา รสชาติ สีสัน และรูปแบบบรรจุภัณฑ์แตกต่างกัน แต่แหล่งผลิตที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักกัน ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากปิง ตำบลกำแพง อำเภอละงู

สมาชิกกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว ขนมบุหงาบูดะ ผลิตกันหลายเจ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะรู้จักและนิยมมาซื้อที่นี่ เพราะกลุ่มเราทำมานาน และผลิตกันทุกช่วงเทศกาล มีขนมออกจำหน่ายสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กลุ่มยังมีขนมพื้นบ้านอื่นๆ อีกหลายชนิด อาทิ ทองม้วน ทองพับ คุกกี้สิงคโปร์ ขนมไข่เต่า เป็นต้น แต่ขนมบุหงาบูดะจะเป็นสินค้าเด่นที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มมากที่สุด

เริ่มทำช่วงแรกๆ จะขายในชุมชน และตามอำเภอใกล้เคียง หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมีลักษณะเด่นที่รูปทรง สีสันที่สะดุดตา ต่อมาก็ทำขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนติดตลาดเป็นที่รู้จัก จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดสตูล

ขั้นตอนการทำขนม สมาชิกบอกว่า เราทำกันทุกวัน โดยจะมีสมาชิกมาสลับหมุนเวียนกันทำ กว่า 30 คน ซึ่งแต่ละคนนั้นจะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ใครถนัดทำตัวขนมก็ทำตัวขนม ถนัดทำไส้ก็ทำ ถนัดขายก็ขาย แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน แต่ทุกคนจะมีความสำคัญเท่ากันหมด

เจ้าหน้าที่และกลุ่มแม่บ้าน

ขนมบุหงาบูดะ ณ วันนี้ กลุ่มสมาชิกได้พัฒนารูปทรงจากเดิมที่เป็นสี่เหลี่ยมแบนๆ ธรรมดา ก็พัฒนาให้รูปทรงสูงขึ้นคลายหมอนและเพิ่มสีสันให้กับขนมด้วยการนำสีจากธรรมชาติ อย่าง สีเขียวจากใบเตย สีแดงจากน้ำหวาน สีม่วงจากดอกอัญชัน มาผสมให้ขนมดูน่ารับประทาน นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ บรรจุง่าย ขนส่งแล้วขนมไม่แตกคงรูปเดิม

สำหรับส่วนผสม ขั้นตอน วิธีการทำ กลุ่มสมาชิกได้เปิดเผยสูตรและขั้นตอนการทำให้ฟัง โดยเริ่มจากไส้ขนมที่ทำจากมะพร้าวขูดขาวสะอาด จากนั้นนำเนื้อมะพร้าวมาผสมกับน้ำตาลทรายขาว และตามด้วยสีผสมอาหารหรือสีที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความโดดเด่นของสี เติมเกลือลงไปเล็กน้อย จากนั้นนำใบเตยหอมไปต้มและเอาน้ำมาผสม กวนจนเนื้อมะพร้าวและส่วนผสมแห้งสนิทก็นำไปใช้ได้

ร่อนแป้งทำตัวขนม

ส่วนแป้งขนม เริ่มจากนำแป้งข้าวเหนียว น้ำเปล่า ผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้าจนแป้งได้ที่ จากนั้นนำกระทะตั้งไฟให้ร้อน นำแป้งที่ผสมไปร่อนในกระทะ พอแป้งเป็นแผ่นแล้วก็นำไส้ที่เตรียมไว้ไปใส่แล้วพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายหมอน ปล่อยทิ้งไว้สักครู่ก็นำไปบรรจุใส่กล่องส่งจำหน่าย

สำหรับ ขนมบุหงาบูดะ สามารถเก็บไว้ได้ 15 วัน ในอุณหภูมิห้อง แต่ถ้าใส่ไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานถึง 30 วัน ซื้อเป็นของฝากได้ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากปิง เลขที่ 120 หมู่ที่ 10 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล โทรศัพท์ 089-974-6923