กศน.จับมืออภัยภูเบศร จัดอบรมความรู้ “เมนูกัญ-ครัวตำรับยิ้ม” สู่เส้นทางสายอาชีพ

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกส่วนใบ ราก ลำต้น ของกัญชาออกจากรายการยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยมีเจตนารมย์ให้ประชาชนใช้เพื่อการดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชนนั้นๆ ทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เริ่มพัฒนารูปแบบธุรกิจอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก ในคุณค่าด้านวัฒนธรรมและสุขภาพ

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ศึกษาค้นคว้าความรู้ดั้งเดิม และการวิจัยสมัยใหม่ของการใช้กัญชา ทำให้พบว่า บรรพบุรุษไทยมีความเฉลียวฉลาดในการเลือกใช้พืชพรรณเพื่อดูแลสุขภาพ เพราะความรู้ของบรรพบุรุษช่างสอดคล้องกับการวิจัยสมัยใหม่ จึงนำมาสู่โครงการ “มาชิมกัญ” ทำให้เกิดกระแสบริโภคกัญชาฟีเวอร์ เป็นที่สนใจของคนไทยทั่วประเทศและต่างชาติจำนวนมาก

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ดำเนินการติดตามความปลอดภัยในการรับประทานอาหารที่ปรุงจากกัญชาด้วยเพื่อให้มีข้อมูลอย่างรอบด้าน สนับสนุนให้เกิดรูปแบบธุรกิจอย่างยั่งยืน ทำให้ตำรับเมนูกัญชามีความปลอดภัยดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ กับผู้เข้าร่วมการอบรม

นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดชุดความรู้และประสบการณ์ที่ได้ศึกษาค้นคว้าในระหว่างดำเนินโครงการมาชิมกัญ ให้แก่ภาครัฐและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้แก่คนไทยและประเทศไทยในระยะยาว

กศน.อบรมความรู้ สร้างอาชีพ

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อนำความรู้ “กัญชาและกัญชง” ไปใช้จัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนดำเนินการพัฒนาคุณภาพวิชาการ การวิจัย การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน “กัญชาและกัญชง” และสร้างบทเรียนออนไลน์ เรื่องการเรียนรู้กัญชา-กัญชงอย่างชาญฉลาด หรือ ONIE Learn ให้กับนักศึกษา กศน.และประชาชน

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ร่วมกิจกรรมสาธิตอาหารกัญชา

เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ได้จัดกิจกรรมอบรมวิทยากรหลักสูตรโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ณ ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการเปิดมิติแห่งการเรียนรู้และการพัฒนารองรับตำรับครัวยิ้ม ที่จะมีการขยายฐานความรู้ไปยังวิสาหกิจและผู้สนใจต่อไป ผู้เข้าอบรมเป็นวิทยากร ได้นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประชาชนในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อสร้างสรรค์เมนูกัญชาให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทุกช่วงวัย

เมนู “ต้มยำผู้ใหญ่ลีมี กัญ”

ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมดังกล่าว ได้เรียนรู้พื้นฐานเบื้องต้น กัญชา และกัญชง โดยผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา และกัญชง ทั้งรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ และได้ลงมือทดลองทำผลิตภัณฑ์กัญชาและเมนูกัญ ตำรับครัวยิ้มด้วยตัวเอง

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารเมนูกัญ ซึ่งทุกเมนูมีการคำนวณปริมาณการใส่ใบกัญชา ตามหลักโภชนาการ เช่น “หมึกผัดสะท้านโลกันต์” ที่ชูความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ และเสริมรสสัมผัสด้วยใบกัญชา ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ตามด้วยเมนู “ต้มยำผู้ใหญ่ลีมี กัญ” ที่วัตถุดิบหลักคือ ไก่บ้าน ชูรสด้วยพริก ขิง ข่า ตะไคร้ ตบท้ายด้วยใบกัญชา ที่มีรสชาติอร่อยแซ่บเว่อร์ ตบท้ายล้างปากกันด้วยเครื่องดื่มน้ำแตงโมปั่นกับน้ำกัญชาที่ให้รสชาติหวานหอมสดชื่นใจ สร้างความสุขตลอดช่วงเวลาการเรียน

เครื่องดื่มน้ำแตงโมปั่นกับน้ำกัญชา

ครัวตำรับยิ้ม

เอกสาร “ครัวตำรับยิ้ม” ของสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การนำใบกัญชามาใช้พัฒนาอาหารนั้น ใบกัญชาที่นำมาใช้ ต้องปลูกในประเทศไทยเท่านั้น และมาจากแหล่งผลิตที่ผู้ปลูกกัญชาได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้วเท่านั้น ส่วนช่อดอกและเมล็ดกัญชา อยู่ในกลุ่มสารเสพติด ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนใบ เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน ราก น้ำมัน และสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด

กัญชา ให้ความสุขในรสชาติอาหารได้อย่างดี ใบอ่อนกัญชานำมาใช้ในเมนูแกงส้ม แกงกะทิ แกงมัสมั่น เมนูผัด ในใบกัญชามีสารเมาน้อย (THC) สารชนิดนี้ละลายน้ำได้น้อย การนำใบกัญชามาใส่แกงในปริมาณจำกัด เช่น 1-2 ใบ สารเมามีปริมาณน้อยมากๆ ทั้งนี้ สารเมาในกัญชาสามารถละลายในน้ำมันได้ดี การนำไปชุบแป้งทอด สารเมาจะถูกสกัดออกไปกับน้ำมันที่ใช้ทอด ผลงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า เมื่อผ่านความร้อนแล้ว ใบอ่อนของกัญชามีสาร THC และ CBD สูงกว่าใบแก่

สารเมาในอาหารกัญชาขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย

ภูมิปัญญาไทย กับการใช้ใบสด ยอดอ่อนกัญชา กินสดๆ เป็นเครื่องเคียงจิ้มกับน้ำพริก น้ำบูดู หั่นใส่ในข้าวยำ กินได้ไม่เมา สารในใบสดกัญชา เป็น THCA ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ดังนั้น ใบกัญชากินสดได้ปลอดภัย THCA ถ้าถูกความร้อนจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท อย่างไรก็ตาม พบว่า สาร THCA ในใบสด มีสรรพคุณทางยาเช่นกัน แต่ยังเป็นการศึกษาในระดับเริ่มต้นทั้งสิ้น ยังต้องรองานวิจัยสนับสนุนอีกมาก ในเบื้องต้นพบว่า ฤทธิ์ลดอักเสบ ปกป้องสมอง ต้านการชัก ต้านอาเจียน ในต่างประเทศมีการใช้น้ำคั้นใบกัญชาสดเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

สำหรับองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยระบุว่า กัญชามีรสร้อนและเบื่อเมา ช่วยปรับให้ลมมีการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ ใบกัญชามักใส่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่มีเครื่องเทศ ต้มยำ ตำแกง เพื่อช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี แต่ไม่บริโภคในปริมาณมากๆ เพราะมีรสเบื่อเมา ข้อแนะนำเมื่อรับประทานเมนูกัญชา คือ ควรบริโภคใบกัญชาไม่เกินวันละ 5-8 ใบ หลีกเลี่ยงการใช้กัญชา หากมีอายุต่ำกว่า 25 ปี

ใบกัญชากินไม่เกินวันละ 5-8 ใบ

ผู้มีอาการตับและไตบกพร่อง หรือผู้ที่ใช้ยาสลายลิ่มเลือกวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ไม่แนะนำให้บริโภคอาหารกัญชา นอกจากนี้ ผู้บริโภคกัญชา อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น วิงเวียน ง่วงซึม คอแห้ง ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรง ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นอยู่กับปริมาณกัญชาที่รับประทาน และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

อภัยภูเบศร แนะนำเลือกเมนูอาหารกัญชาให้เหมาะกับการบริโภค

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)