สวนชาดอยตุง แม่ฟ้าหลวง รวมกลุ่มวิสาหกิจ ทำชาอินทรีย์

“ชา” เป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งในอันดับต้นๆ ของจังหวัดเชียงราย

สวนชาดอยตุง เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผลิตชาได้อย่างมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในอันดับต้นๆ ของจังหวัดเช่นกัน เพราะสวนชาดอยตุง มี คุณสุนันต์ทา แซ่บู้ ชายผู้ซึ่งเริ่มต้นปลูกชาจากความไม่รู้ แต่สั่งสมประสบการณ์ด้วยตนเอง จนสามารถรวมกลุ่มก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนชาดอยตุง สหกรณ์สวนชาดอยตุง เพื่อรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวงไว้ด้วยกัน ทั้งยังสามารถควบคุมการผลิตให้ชาที่ผลิตออกมาจำหน่าย เป็นชาปลอดสารพิษ ตั้งเป้าหลักของการปลูกชาให้เป็นชาอินทรีย์

สวนชาดอยตุง มีแหล่งกำเนิดที่หมู่บ้านปางพระราชทานในเขตโครงการพัฒนาดอยตุง เป็นพื้นที่ป่าเปิดใหม่ จึงสามารถดำเนินการปลูกชาในระบบอินทรีย์ได้

การรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ปลูกชาในพื้นที่ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นในปี 2545 มีเพียงไม่กี่ราย จากกลุ่มอิสระ ที่มีผู้นำหมู่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้รวบรวมผลผลิตชาของสมาชิก ช่วงนั้นกลุ่มมีสมาชิกเพียงไม่กี่ราย โดยกลุ่มได้ดำเนินการเพาะปลูกชาบนพื้นที่เขตป่าสงวนฯ ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ปลูกชาในเขตพื้นที่ดังกล่าวภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุง

การชั่งน้ำหนักชา
การตากชา หลังชั่งแล้วเสร็จ

เริ่มจากราษฎรตำบลแม่ฟ้าหลวง เข้าจับจองพื้นที่ได้รายละ 2 ไร่

ระยะแรก กลุ่มจึงมีพื้นที่ปลูกชา ประมาณ 500 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียงกว่า 300 ไร่ เนื่องจากสมาชิกบางรายปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกชาไปเป็นสวนยางพารา

ถึงวันนี้สมาชิกที่สนใจจริงและปลูกชามีมากกว่า 200 ราย ชาที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ ชาอูหลง เบอร์ 12 จำนวน 409 ไร่ อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ปลูกอีก 178 ราย รายละ 1 ไร่ รวมเป็น 587 ไร่ และน่าจะมีเกษตรกรปลูกเพิ่มเองอีกหลายร้อยไร่ในอนาคตข้างหน้า ส่วนชาอูหลงก้านอ่อน ปัจจุบันมี 100 ไร่ ชาอัสสัม ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งชาอัสสัม เป็นชาที่อยู่ระหว่างการส่งเสริมพื้นที่ปลูกเพิ่ม

การปลูกชา คุณสุนันต์ทา บอกว่า แม้ต้นชาจะเป็นไม้ใบ ไม่ใช่ไม้ผล ที่ต้องดูแลอย่างละเอียดลออ แต่ทุกขั้นตอนของการปลูกชาก็ใช่จะเป็นเรื่องง่ายไปทั้งหมด โดยเฉพาะการเพาะกล้าชา ก่อนนำไปลงแปลงปลูก เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของการปลูกชา ไม่นับรวมถึงขั้นตอนการบ่มใบชาให้ได้คุณภาพ

ระหว่างตากชา ต้องมีการพลิกใบชา

“กล้าที่ดี ต้องปล่อยให้ต้นออกใบยาว ตัดส่วนยอดชำไว้ ขึ้นแปลงกล้า เตรียมน้ำยาเร่งราก เมื่อนำไปเพาะให้ชุบน้ำยาที่กล้าชำ เจาะรูดินแล้วปักลงไป รดน้ำ นำผ้ายางคลุมไว้ ป้องกันไม่ให้อากาศเข้า ไม่อย่างนั้นต้นกล้าชาจะตาย และนำซาแรน 50 เปอร์เซ็นต์ มาคลุมไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน ต้นกล้าชาจะเริ่มมีรากออกมา”

ดินที่ใช้ควรเป็นดินแดง จะช่วยให้รากชาเจริญเติบโตได้เร็ว

ทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่รดน้ำ 6-8 เดือน

นำดินใส่ถุงดำ ย้ายต้นกล้าชาลงถุงดำ รดน้ำทุกวัน แต่ยังคงดูแลในโรงเพาะกล้า

ต้นกล้าอายุ 1 ปี จึงเหมาะแก่การนำไปลงแปลงปลูก

ขั้นตอนการนำชาเข้าห้องเย็นและใส่กระด้ง

การปลูกชา ควรขุดหลุมลึก 30 เซนติเมตร ความกว้างของหลุม 15 เซนติเมตร กลบให้เสมอกับหน้าดิน ระยะห่างระหว่างต้นและแถว คือ 4×4 นิ้ว พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกชาได้ 1,200 ต้น

การปลูกชาควรทำในช่วงเข้าฤดูฝน เพื่อให้น้ำฝนหล่อเลี้ยงต้นชาให้รอด หากร้อนมากเกินไป ต้นชาจะตาย เมื่อลงปลูกในแปลงแล้ว ไม่ต้องรดน้ำเลย จนกว่าต้นชาจะมีอายุ 7 เดือน จึงให้ปุ๋ย แล้วรดน้ำตาม ในช่วงฤดูฝน ไม่ต้องรดน้ำ แต่ถ้าฤดูร้อน ควรรดน้ำทุกๆ 7 วัน และควรรดน้ำในช่วงเวลากลางคืน เพราะหากรดน้ำในช่วงเวลากลางวัน อาจมีน้ำค้างตามใบชา เมื่อแสงแดดถูกน้ำบนใบชา จะทำให้น้ำร้อนและต้นชาอาจตายได้

ใบชาสด
ใบชาตากแห้งแล้ว

การให้ปุ๋ย เพราะกลุ่มมีนโยบายผลิตชาอินทรีย์ การให้ปุ๋ยจึงเป็นปุ๋ยหมัก ในการให้ปุ๋ยแต่ละครั้ง ต้องขุดรอบต้นชา ใส่ปุ๋ยรอบต้น ปริมาณ 1 กิโลกรัม ต่อชา 1 ต้น และให้ปุ๋ยราวปลายเดือนเมษายนของทุกปี

การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งสำคัญ หากพบให้กำจัดออก และงดใช้สารเคมี ตามนโยบายการปลูกชาอินทรีย์

การเก็บใบชา ในครั้งแรกจะเริ่มเก็บใบชาได้เมื่อต้นชามีอายุ 3 ปี เทคนิคการเก็บยอดชาให้ดี ต้องเลือกยอดสุดท้ายของต้น หลังเด็ดยอดมาแล้ว ชาจะแตกยอดใหม่จนเก็บได้อีก ในระยะ 45-47 วัน ใบชาจึงจะมีความสมบูรณ์ ทุกการเก็บยอดชา 2 ครั้ง ต้องตัดแต่งต้นชา 1 ไร่ ให้มีความสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ถือว่าความสูงเหมาะสม

คุณสุนันต์ทา บอกว่า ชา สามารถปลูกพื้นที่ราบได้ แต่การปลูกชาบนพื้นที่สูงจะทำให้ได้รสชาติชาที่ดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องของกลิ่นชาเมื่อชง ทั้งยังจะทำให้จำนวนครั้งของการชงชามากขึ้นอีกด้วย

สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุงได้แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ชาเขียว ชากึ่งหมัก และชาหมัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์ทั้งหมด และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนมาตรฐาน GMP โดยมีผลิตภัณฑ์สินค้าชาที่จำหน่ายหน้าร้านดังนี้

– ชาคาโมมายล์

– ชาตอยตุงอินทรีย์อูหลงก้านอ่อน เบอร์ 12

– ชาตอยตุงอินทรีย์อูหลงก้านอ่อน เบอร์ 17

– ชาตอยตุงต้งติ่งอูหลง

– ชาเขียวอูหลง

– ชาหอมหมื่นลี่

– ชาแดงอูหลง

– ชาเจี่ยวกู่หลาน

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากสวนชาดอยตุงได้มี คุณคมสันต์ สุยะใหญ่ ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มไฟแรงจบมาหมาดๆ และเป็นลูกชายของ คุณสุนันต์ทา แซ่บู๊ ให้ความสนใจในด้านการจัดการบริหารตั้งแต่กระบวนการผลิตชาถึงด้านการตลาดส่งออกชาที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีการเตรียมรองรับประชาคมอาเซียนและกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้งยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาคุณค่าชาต่างๆ ดังนี้

ชาอูหลง ชาเขียวหรือ “โอชะ” (Ocha) ในภาษาญี่ปุ่น มาจากพืชชนิดเดียวกับชาดำ หรือชาอูหลง ในตระกูลคาเมลเลียไซเนนซิส (GamelliaSinenisis) ต่างกันแค่ขบวนการผลิต กล่าวคือ ชาเขียวต้องนำใบชาอ่อนสองใบกับหนึ่งยอด ที่เรียกว่า “อิจอบังฉะ” มานึ่งเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ คลอโรฟิลล์จึงไม่ถูกทำลาย ใบคงงามเขียวสด เมื่อนำไปชงกับน้ำร้อนจึงได้น้ำชาสีเขียวถึงเหลืองอ่อน ส่วนชาดำหรือชาอูหลง นั้น เนื่องจากผ่านการหมักบ่มที่ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน ใบชาจึงมีสีเข้มข้น ชาดำออกรสเข้มจนถึงขม เพราะใบชาผ่านการหมักบ่มเต็มที่ ส่วนชาอูหลงหรือชาแดงออกรสเข้มกลางๆ ระหว่างชาดำและชาเขียว เพราะใบชาถูกหมักไม่นาน

ยอดชา

การที่ชาเขียวไม่ผ่านการหมักบ่ม ทำให้สารที่มีประโยชน์ต่างๆ ในใบชายังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนเหมือนใบชาสด โดยเฉพาะสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ จำพวกEpigallocatechin-3-Gallate เรียกสั้นๆ ว่า EGCG หรือแคททิคิน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในใบชาอื่นๆ ไม่มีสารดังกล่าว หากแต่เปรียบเทียบกันแล้วชาเขียวมีปริมาณสารแอนตี้ออกซิแดนซ์สูงสุด

สรรพคุณของแอนตี้ออกซิแดนซ์ ในใบชาเขียว ช่วยต้านพิษและสารปนเปื้อนต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยลดปริมาณคลอเรสเตอรอลและอัตราเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อีกทั้งช่วยชะลอความแก่และริ้วรอยก่อนวัย เพราะสารแคททิคินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอีถึง 20 เท่า

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุนันต์ทา แซ่บู๊ เป็นประธานกลุ่มสวนชาดอยตุง โทรศัพท์ (053) 763-349 หรือ (086) 911-2589 หรือติดต่อผ่าน คุณคมสันต์ สุยะใหญ่ โทร. (082) 628-8982 ได้ตลอดเวลา หากต้องการไปชมสวนชาดอยตุงเอง ควรเดินทางไปที่ร้านสวนชาดอยตุง เลขที่ 109 หมู่ที่ 17 ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย