ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ตราด กับ งานเซรามิก สร้างอาชีพให้เด็กด้อยโอกาส

“น้องคง” นายชาญชัย ทองจันทร์ (ขวาสุด)

ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด ตั้งอยู่เลขที่ 90/5 ถนนสุขุมวิท ตำบลท่าพริก อำภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีนักเรียน 215 คน ครู พนักงาน 15 คน และพี่เลี้ยงอีก 25 คน ดูจะเป็นงานหนักไม่น้อยที่ต้องรับผิดชอบเด็กพิการ ด้อยโอกาส ทุกอำเภอทั้งจังหวัด (ยกเว้น อำเภอเกาะกูด 1 อำเภอ ที่ไม่มีเด็กพิการ)

นายธวัช ขุริมนต์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด เล่าถึงที่มาของศูนย์ว่า รับเด็กพิการตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 19 ปี รวมกันทั้ง 9 ประเภท หากจะไปเข้าเรียนเฉพาะทาง เช่น ด้านสติปัญญาต้องไปเรียนที่จังหวัดระยอง ซึ่งต้องไปพักอยู่ประจำ พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงจึงต้องการนำเด็กพิการมาฝากไว้ที่ใกล้บ้าน และไป-กลับ มากกว่า ดังนั้น ศูนย์จึงพยายามที่จะให้เด็กพิการเหล่านี้เติบโตประกอบอาชีพอยู่ในสังคมได้

“เมื่อ ปี 2557 นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้สนับสนุนงบประมาณของจังหวัดตราด ให้ 1 ล้านบาท เพื่อซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อสอนเด็กพิการในช่วงวัยเรียนและวัยทำงานได้ฝึกทำผลิตภัณฑ์เซรามิกเป็นแนวทางการประกอบอาชีพ เนื่องจากศูนย์มีความพร้อมด้านบุคลากรคือ ครูนาวิน วิภาตะนาวิน ที่จบมาจากสาขาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา จากนั้นได้ทำโรงฝึกงาน ติดตั้งเตาเผา สอนให้นักเรียนพิการได้ทำและเริ่มมีผลิตภัณฑ์เซรามิกออกจำหน่ายได้ 2-3 ปี มาแล้ว” ผอ. ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด กล่าว

 

ครูแจ๊ค ใช้ศิลปะสร้างเด็กให้มีคุณค่า

“ครูแจ๊ค” หรือ ครูนาวิน วิภาตะนาวิน อายุ 43 ปี จบปริญญาตรี คณะศิลปกรรม สาขาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา มหาวิทยาลัยรังสิต ปี 2537 เป็นชาวจังหวัดตราด เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด ตั้งแต่ ปี 2543 เป็นผู้มีศิลปะในหัวใจ พยายามจะสร้างโอกาสให้เด็กพิการได้มีความรู้สึกมีคุณค่าในสังคมและสามารถประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเอง จึงนำผลงานเซรามิกมาสร้างสรรค์และปั้นให้เด็กพิการได้มีพลังใจและเห็นคุณค่าในชีวิตตัวเอง

“ครูแจ๊ค” ครูนาวิน วิภาตะนาวิน

เด็กพิการ ที่นี่มี 215 คน ไม่แยกประเภทความพิการ เรียนรวมกันทั้งหมด แต่จะแยกทำกิจกรรมที่ถนัด กิจกรรมทำผลิตภัณฑ์เซรามิก สามารถทำได้ทั้งคนพิการทางสติปัญญา ร่างกาย ทางการได้ยิน รวมทั้งออทิสติก เขาจะยิ้มได้เมื่อครูหรือคนอื่นๆ ชื่นชมผลงาน เขาทำได้ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้แบ่งแยกเป็นอายุ คนที่มาอยู่ก่อนจะเรียนรู้จนชำนาญเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนเพิ่งมา ด้วยสภาพที่พบเห็นคนที่พิการทางการได้ยินเกือบ 100% มีความสามารถด้านศิลปะ และร่างกายเขาจะสมบูรณ์ สามารถรับรู้ในการสื่อสาร กล้ามเนื้อมือแข็งแรง จึงทำงานศิลปะได้

“น้องคง” นายชาญชัย ทองจันทร์ (ขวาสุด)

ระยะแรกมีเด็กๆ ที่พิการทางร่างกาย สติปัญญา และออทิสติกที่เรียนจนกระทั่งทำงานได้มี 7 คน แต่บางครั้งการเดินทางต้องรับ-ส่ง ไม่สะดวก ตอนนี้เหลือที่เชี่ยวชาญจ้างไว้เป็นพี่เลี้ยง 3 คน มี “น้องคง” นายชาญชัย ทองจันทร์ อายุ 18 ปี ช่วยเป็นพี่เลี้ยงตัวหลัก อยู่มาตั้งแต่อายุ 10 ปี จริงๆ อายุ 19 ปี เขาต้องไปทำงานหรืออยู่บ้าน แต่ศูนย์น่าจะได้จ้างต่อ

“พี่เกด” นางสาวศิริวรรณ กิตติทองวิรักษ์

อีกรายเป็นการจ้างงานผู้พิการ “พี่เกด” นางสาวศิริวรรณ กิตติทองวิรักษ์ อายุ 42 ปี ชอบทำงานที่ศูนย์ จึงจ้างให้เขียนสี ลวดลาย มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ วันละ 250 บาท จริงๆ รายได้จากการขายเซรามิกไม่เพียงพอค่าจ้าง แต่เรามีต้นทุนจากเงินโครงการศูนย์ได้รับการสนับสนุนช่วย มีอาหารเลี้ยงฟรี แต่ค่าจ้างไม่มีงบประมาณ ศูนย์ต้องหาเงินพิเศษให้

“ความรู้สึกของเด็กๆ ระหว่างทำงานปั้นดิน เขียนสีชิ้นงานเซรามิก หน้าตามีรอยยิ้ม อารมณ์ดี ตาเขามีความสุข มีความกระตือรือร้นอยากที่จะทำงาน หากมีการนำผลงานไปจัดแสดงและขายในงานเทศกาลต่างๆ เมื่อมีคนมาชื่นชมและซื้อผลงานเขา เขาจะดีใจมาก ทุกวันนี้ศูนย์จะพาออกบู๊ธงานของจังหวัดตราดเสมอ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักศูนย์ และสนับสนุนชิ้นงานของเด็กพิการ เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างรายได้ให้เด็กพิการเหล่านี้ จริงๆ มีคนพิการอายุเกิน 19 ปี ที่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีงานทำ ถ้าศูนย์มีรายได้เพียงพอจะจ้างเหมางานให้ทำ” ครูแจ๊ค ระบายความรู้สึก

การทำเซรามิก พิถีพิถัน ลงทุนสูง ผลิตภัณฑ์มีคุณค่า

“ครูแจ๊ค” เล่าว่า การจบมาจากสาขาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผาโดยตรง ด้วยใจรักและมีทักษะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มองว่าเป็นงานเซรามิกสบายๆ ง่ายๆ ไม่ต้องเครียด และที่สำคัญมีเตาเผาที่เป็นเครื่องมือช่วยให้การทำงานสะดวกและง่ายขึ้น และมองเห็นกระบวนการที่เด็กๆ มีความพิการสามารถทำได้ ขั้นตอนโดยสรุปแบ่งเป็น 4-5ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนแรก การหล่อแบบ นำดินมาละลายน้ำ ปั้นตามแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ ต่อไปขึ้นรูปจะปั้นด้วยมือ งานของศูนย์จึงมีความพิเศษที่มีชิ้นเดียวไม่เหมือนใคร (ทั่วไปจะใช้หล่องาน จะออกมาบล็อกเดียวกันหลายๆ ชิ้น ปั้นดินน้ำมันเป็นแบบ) จากนั้นนำมาแต่งเก็บขอบผิวดินริมๆ ให้เรียบร้อย สวยงาม เช็ดเนื้อดินโดยรอบให้เนียนสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ถ้าเป็นฤดูฝนต้องเป็นวันๆ

เตาอบ

ขั้นที่ 2 การเผา ครั้งที่ 1 นำรูปปั้นที่แห้งสนิทเข้าเตาเผา ในอุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส นาน 8 ชั่วโมง เป็นการเผาเพื่อนำภาชนะไปเคลือบรอลงสี เสร็จแล้วค่อยๆ ลดอุณหภูมิลงเรื่อยๆ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง จึงสามารถเปิดเตาได้

ขั้นที่ 3 การเคลือบ มี 2 วิธี คือ เคลือบนอก เขียนลายก่อนแล้วชุบน้ำยาเคลือบสี จะเป็นสีด้านๆ ไม่เป็นเงาวาว อีกวิธีหนึ่งเคลือบใน ชุบน้ำยาเคลือบให้เป็นเงาก่อนแล้วลงลาย ลงสี ขั้นตอนนี้เด็กๆ จะเรียนรู้ ครูแจ๊ค ร่างให้เด็กๆ ลงสีตามลวดลายภาพด้วยสีสันต่างๆ จากนั้นครูแจ๊คจะลงเส้นอีกครั้ง เพราะตรงนี้ทำยาก เสร็จแล้วเอาไปจุ่มสี

ขั้นที่ 4 การเผา ครั้งที่ 2 เป็นการเผาให้เนื้อเซรามิกที่เคลือบสุก จะใช้อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาการเปิดเตาต้องค่อยๆ เปิดฝาเตาทีละน้อย ให้อากาศร้อนระบายออก เพราะความต่างของอุณหภูมิภายนอก-ภายใน เตาต่างกันมาก ถ้าเปิดให้อากาศมาปะทะกัน ภาชนะจะมีลายแตกเสียหายใช้ไม่ได้ (สมัยโบราณต้องปิดทิ้งรอให้เย็น 2-3 วัน ทีเดียว)

ขั้นที่ 5 การตกแต่งขอบและพ่นสี ขั้นสุดท้ายคือ การเก็บรายละเอียดให้สวยงาม ดูให้ผิวขอบเรียบ แหลมคมทุกชิ้นจึงจะนำออกจำหน่ายได้

รอเขียนลาย
เครื่องมือตกแต่งชิ้นงาน
โมบาย
ที่ทับกระดาษ 129 บาท

ตลาดตอบรับดี

ของชำร่วย ของที่ระลึก แพ็กเกจสินค้าโอท็อป

ครูแจ๊ค กล่าวถึงปัญหาของผลิตภัณฑ์เซรามิกว่า น่าจะมี 2 ข้อ คือ

  1. 1. คนทั่วไปคิดว่าราคาแพง ไม่เข้าใจ “ผลิตภัณฑ์เซรามิกของแท้” ที่ผ่านกระบวนการทำค่อนข้างพิถีพิถันและใช้เวลานาน ที่สำคัญเป็นแฮนด์เมด ไม่เหมือนใคร มีชิ้นเดียว เมื่อเห็นราคาถ้วยกาแฟ ราคาถ้วยละ 200-250 บาท กระถางต้นไม้ 229 บาท จะคิดว่าราคาสูงไป
  2. 2. ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ จังหวัดตราด ยังเป็นที่รู้จักไม่กว้างขวาง คนทั่วไปไม่ทราบว่าทำผลิตภัณฑ์เซรามิกเองได้และเป็นฝีมือของเด็กพิการ ส่วนใหญ่คนมาที่ศูนย์จะมาเลี้ยงอาหาร บริจาคสิ่งของในโอกาสวันเกิด วันเด็ก หรือวันสำคัญต่างๆ
Little9 Fineday
สวยงาม

“ผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่มีหลายรูปแบบ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 100 แบบ จะเพิ่มแบบไปเรื่อยๆ มีทั้งใช้ประโยชน์ เป็นของประดับ ของชำร่วย ที่ขายดีจะทำซ้ำ เช่น ถ้วยกาแฟ กระถางต้นไม้ ที่ใส่นามบัตร ที่ทับกระดาษ แต่ลวดลายจะไม่ซ้ำกัน เพราะภาพใช้เสขียนกับมือตามจินตนาการ มีลูกค้าบางรายมาให้ออกแบบให้บ้าง เช่น โถใส่กะปิสินค้าโอท็อป กะปิของชุมชนบ้านตาหนึก อำเภอคลองใหญ่ จะทำเป็นลวดลายตามคำขวัญจังหวัดตราดเป็นชุดๆ ของชำร่วยงานแต่งงานเป็นช้อนคนกาแฟ สวนใหญ่จะไม่ค่อยทำซ้ำยกเว้นที่ขายดี จะออกใหม่มาเรื่อยๆ ตอนนี้เพิ่ม 10-12 ชิ้น อนาคตจะเปิดตลาดถ้วยกาแฟที่มีการเพ้นท์ภาพเหมือนจริง เพื่อให้เป็นที่ระลึกคนสำคัญ ชิ้นงานเซรามิกมีจำหน่ายที่ ร้าน Little9 Fineday ในศูนย์ และฝากขายร้านกาแฟและเบเกอรี่ 2-3 แห่ง ในตัวเมือง และวางแผนจะทำประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย ทางเพจ เฟซบุ๊ก ให้คนเข้ามาชมและเลือกซื้อได้สะดวกมากขึ้น” ครูแจ๊ค เล่า

ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด เป็นอีกหน่วยงานที่ยืนยันให้เห็นว่า “สังคมตราดไม่ทอดทิ้งกัน” ตามสโลแกนของจังหวัดตราด…สนใจเยี่ยมชม สอบถามรายละเอียด ครูแจ๊ค-ครูนาวิน วิภาตะนาวิน โทร. (087) 970-3829