“น้ำตาลจาก” จากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญา 100 ปี ที่นี่ กันตัง

ต้นจาก พืชตระกูลปาล์มที่เก่าแก่ ชอบขึ้นอยู่บริเวณริมแม่น้ำที่มีสภาพน้ำกร่อย เช่นเดียวกับริมฝั่งแม่น้ำตรัง เริ่มตั้งแต่ ตำบลย่านซื่อ ตำบลบางหมาก ตำบลคลองลุ ตำบลบางเป้า ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลกันตังใต้ และตำบลวังวน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นจาก มีพื้นที่นับหมื่นไร่ เป็นพืชอเนกประสงค์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน นำมาประกอบอาหาร-เครื่องดื่ม สิ่งประดิษฐ์ เครื่องหัตถกรรม ภาชนะใช้สอย รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ผลิตภัณฑ์จากใบจาก

เดิมทีเกษตรกรปลูกจากเพื่อนำใบอ่อนจากมาผลิตใบจากแห้งสำหรับมวนบุหรี่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะทางภาคใต้ และจากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นได้นำเศษส่วนที่เหลือมาทำเสวียนหม้อ (เครื่องจักสาน) ติหมาใบจาก (ใช้ตักน้ำ) เพื่อใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใบจาก จึงมีความน่าสนใจ ทำให้เกิดแนวคิดในการขับเคลื่อนงานแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบการส่งเสริมเกษตรตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นจาก ซึ่งแต่เดิมที่ใช้เพื่อมวนบุหรี่มาเป็นภาชนะทดแทนพลาสติกและพัฒนาการผลิตน้ำตาลจากในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสืบสานภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าร้อยปี

โดย คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ได้สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยกล่าวว่า “ต้นจาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ยอดจาก นำไปแปรรูปเป็นใบจากแห้ง ติหมาใบจาก เรือใบจาก จานใบจาก ใบจากที่คลี่แล้ว นำมาห่อขนมจาก ใบจากแก่ นำมาเย็บเป็นตับจาก ใช้มุงหลังคา ก้านจาก นำมาทำงานหัตถกรรมจักสานเป็นภาชนะต่างๆ งวงจากอ่อน นำมาฝานตากแห้งทำเป็นชา เรียกว่า ชาดอกจาก ผลจาก ผลอ่อนสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เมื่อผลจากมีอายุ ประมาณ 3-4 เดือน นำมาผ่าจะเห็นลูกจากมีเมล็ดเป็นรูปยาวรีสีขาวขุ่น นำมาทำลูกจากลอยแก้ว ก็แสนอร่อยหอมหวานเช่นกัน”

ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย

วิธีการปลูกจาก การเตรียมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำหรือในบ่อกุ้งร้าง นำเมล็ดจากที่งอกแล้วมาปลูกโดยการเหยียบเมล็ดให้จมลงไปในโคลนป้องกันการลอยไปตามน้ำ ระยะปลูก 4×4 เมตร หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้ต้นจากเจริญเติบโตโดยจะมีการแตกกอจากต้นเดิมเป็นต้นใหม่ จาก 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 6 ไปเรื่อยๆ ตามลำดับ หลังจากปีที่ 3 ให้มีการตัดแต่งทางใบ ปีละ 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุ 5 ปีเป็นต้นไป ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดไป”

ลุงสมบูรณ์
ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก

น้ำหวานจาก ได้จากการตัดนกจากหรือทะลายจาก นำมาใช้ประกอบอาหารแทนน้ำตาลทราย มีรสชาติดี นอกจากนี้ ยังสามารถแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ

ลุงสมบูรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งเกิดมาพร้อมป่าจากมามากกว่า 70 ปี เล่าว่า “ลุงอายุ 73 ปีแล้วเกิดมาก็เห็นต้นจาก พ่อแม่มีอาชีพทำน้ำตาลจาก ลุงก็ได้สืบทอดอาชีพนี้มาจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ทุกวัน เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท” เมื่อเห็นรายได้แล้วก็ตามไปดูวิธีการแปรรูปน้ำตาลจากกันเลย

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง
คุณสรวง พรมบุญทอง เกษตรอำเภอกันตัง
การเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก

การเตรียมงวงจาก

  1. เดินสำรวจเพื่อคัดเลือกงวงจากที่มีความสมบูรณ์ ได้แก่ งวงที่มีผลจากตั้งแต่ 30 ผลขึ้นไป
  2. ลอกกาบบนงวงจากออกให้หมด ให้เหลือเฉพาะทะลายจากและงวงจาก
  3. การน้าว การนวด การตีงวงจาก โดยการใช้มือทั้งสองข้างจับที่ทะลายจากแล้วดึงโน้มเข้าหาตัวแล้วโยก หรือใช้เท้าเหยียบที่ทะลาย เหยียบลงให้ถึงพื้น โยกไปมาประมาณงวงละ 7 ครั้งต่อต้นต่อวัน ซึ่งการนวดงวงจากนี้จะทำการนวดทั้งหมด 3 รอบ รอบละ 3 วัน ระยะห่างระหว่างรอบห่างกัน 15 วัน
  4. การตัดปลายงวงที่มีทะลายจากออก เมื่อนวดครบ 3 รอบแล้วให้ตัดทะลายจากออก โดยตัดที่ตำแหน่งปลายที่ติดกับลูกจาก
  5. การตัดงวงจาก โดยการเฉือนจากด้านล่างขึ้นบนทำมุม 45 องศา ให้บางที่สุด ทำซ้ำจำนวน 3 วัน
  6. วันที่ 4 เวลา 16.00 น. เริ่มตัดงวงจากแล้วสามารถเก็บเกี่ยวน้ำหวานได้ โดยหลังจากที่ใช้มีดตัดงวงจาก ทำลิ้นสำหรับเป็นทางไหลของน้ำหวาน แล้วให้เอากระบอกไม้ไผ่หรือขวดพลาสติกที่เตรียมไว้สอดเข้าไปในช่องที่เจาะไว้เพื่อรองรับน้ำหวานที่หยดลงมา ทิ้งไว้ 1 คืน
  7. เวลา 06.00 น. เก็บกระบอกรองรับน้ำหวานแต่ละต้นนำมาเทรวมกันโดยผ่านผ้าขาวบางเพื่อกรองสิ่งเจือปนในน้ำหวาน

นอกจากการประกอบอาชีพทำสวนจาก ทำน้ำตาลจากแล้ว ลุงสมบูรณ์ ยังเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ต้นจากตำบลบางหมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง และหน่วยงานภาคี เป็นแหล่งศึกษาดูงานที่มีวัตถุประสงค์การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำสวนจากและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ผลจาก

สนใจผลิตภัณฑ์หรือไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนป่าจากบ้านโต๊ะเมือง ติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จากอำเภอกันตัง คุณนุชรีย์ จิโรจน์กุล (ลูกสาวลุงสมบูรณ์) เลขที่ 141/1 หมู่ที่ 4 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โทร. 083-088-4978 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง โทร. 075-251-742