วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตำนานที่ยังคงอยู่ สู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์

จากอดีตสู่ปัจจุบัน เสียงตีดังกึกก้องสะท้อนถึงเรื่องราว กลิ่นอายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ตำบลควนปริงมีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,375 ไร่ มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน โดยบ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม

มีดพร้านาป้อ ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ
คุณประเวช ชิตจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ

บ้านนาป้อ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงมาช้านานในการผลิตมีดพร้าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตีมีดพร้า มีดพร้าเป็นมีดที่ใช้ในการเกษตรและชีวิตประจำวันของเกษตรกร จากคำบอกเล่าของชาวบ้านการตีมีดพร้ามีมาตั้งแต่ตั้งชุมชนบ้านนาป้อก็นับร้อยๆ ปี มาแล้ว ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2548 เป็นต้นมา เพื่อให้มีการส่งเสริมและพัฒนากิจการของวิสาหกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คุณประเวช ชิตจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ได้เห็นถึงความสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน จึงได้ดำเนินการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อนขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็เพื่อสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ และเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและชุมชน ซึ่งที่ทำการวิสาหกิจชุมชนตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน

การตัดเหล็กเพื่อให้ได้ขนาดตามต้องการ

คุณประเวช กล่าวว่า เอกลักษณ์ที่ทำให้มีดพร้านาป้อ มีความแตกต่างจากที่อื่น คือเหล็กและวิธีการตีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม

“โดยมีดทุกชนิดที่ถูกตีขึ้น ทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เก่า ความเหนียวและทนทานของเหล็กแหนบ หลังจากที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆ จนกลายเป็นมีด จะมีความแข็งแรง ไม่บิ่นง่าย และมีอายุการใช้งานที่นานมากกว่าเหล็กทั่วไป”

การตีเหล็ก

คุณประเวช เล่าถึงการทำงานว่า แต่ละคนทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง เช่น คนที่ตัดเหล็กแหนบก็ทำหน้าตัดเพียงอย่างเดียว ก่อนส่งให้คนที่ทำหน้าที่ตี และส่งต่อในขั้นตอนอื่นเป็นทอดๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้มากกว่า สำหรับยอดผลิตและยอดขายของวิสาหกิจชุมชนผลิตในเชิงพาณิชย์ได้วันละ 200 ชิ้น สมาชิกร่วม 20 คน เหล็กที่ใช้ตีมีดจะเป็นเหล็กแหนบรถบรรทุก 6 ล้อ เพราะมีความพอดีกับชิ้นงานตีมีดออกมาจะคม ทนทาน โดยสมาชิกจะตีมีดเฉพาะช่วงเช้า 08.00-11.00 น. งานก็เสร็จแล้วหลังจากนั้นทุกคนก็ออกไปทำงานอื่นๆ ซึ่งในการตีมีดจะมีส่วนประกอบหลักๆ ด้วยกัน 2 องค์ประกอบด้วยกัน คือ วัสดุและอุปกรณ์ในการตีมีดและขั้นตอนการตีมีด

วัสดุและอุปกรณ์ในการตีมีดพร้านาป้อ ประกอบด้วย

  1.  เหล็กแหนบรถยนต์เก่า หาซื้อจากร้านขายเศษเหล็ก เหล็กแหนบรถยนต์ราคาจะขึ้นอยู่ระดับความหนา เหล็กแหนบจะใช้ทำตัวมีด
  2.  เหล็กเส้นหรือเหล็กวิทยาศาสตร์ ใช้ทำบ้องหรือด้าม ซื้อได้จากร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป
  3. ถ่านไม้เคี่ยม ถ่านไม้เคี่ยมมีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงทำให้เหล็กสุกเร็ว จะสุกเมื่อใช้ลมเป่า เป็นขี้เถ้าลามหรือปะทุเหมือนถ่านหุงข้าวที่ทำมาจากไม้อื่น เช่น ไม้โกงกาง
  4.  สูบลม เดิมเป็นกระบิกสูบทำจามลำต้น (ลำตรง) ของไม้เนื้อแข็งที่แกนในผุ ช่างจะเจาะกลางลำต้นให้กลวง ต่อมาได้เปลี่ยนใช้ไม้แผ่นมาประกบเป็นกระบอกสูบสี่เหลี่ยม ชักสูบด้วยมือ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมอเตอร์หอยโข่ง
  5.  ทั่ง เป็นเหล็กตันที่ใช้รองเวลาตีเหล็ก ทำมาจากหูเรือยนต์
  6.  คีม ใช้คีบเหล็กในกระบวนการตีเหล็ก
  7.  ค้อน เป็นเครื่องมือของช่างใช้ในการตี
  8.  เตาเผา เดิมก่อด้วยดินผสมแกลบยกสูงขึ้นจากพื้น ในระดับที่พอเหมาะ ปัจจุบันก่อด้วยอิฐ

ขั้นตอนการตีมีดพร้านาป้อ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญๆ 6 ขั้นตอนด้วยกัน

เตาเผายกสูง และถ่านไม้เคี่ยม ให้ความร้อนสูงทำให้เหล็กสุกเร็ว

ขั้นตอนการตีมีดพร้านาป้อ

  1.  ขั้นการตัดเหล็ก เพื่อให้ได้แผ่นเหล็กตามขนาดที่ต้องการ
  2.  ขั้นการขึ้นรูปหรือการแปรรูป เพื่อตกแต่งโครงร่างให้เป็นรูปโค้งตามลักษณะของมีดพร้า
  3.  ขั้นการแต่งรูป ทำให้ได้มีดพร้าที่มีรูปร่าง รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์และสวยงาม
  4.  ขั้นการตีตรา เป็นการประทับตราหรือยี่ห้อลงบนมีดพร้า
  5. ขั้นการแต่งผลิตภัณฑ์ เป็นขั้นสำคัญ คือทำให้มีดพร้ามีความคมและเรียบสวยงาม

และสุดท้ายคือ 6. ขั้นการชุบ เป็นขั้นตอนที่ทำให้มีดมีความคม ความแกร่ง และความทนทานง

ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

สำหรับกระบวนการเผาเหล็กให้แดงสำหรับตี คุณประเวชเปิดเผยขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตมีดพร้านาป้อ คือการใช้ไม้เคี่ยมจากต้นเคี่ยมที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาเผาทำเป็นเชื้อเพลิง สาเหตุที่เลือกไม้เคี่ยมมาใช้ในการเผา เพราะมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว ร้อนสม่ำเสมอ แต่มีความแตกต่างจากถ่านไม้ชนิดอื่นๆ ตรงที่มอดเร็ว และต้องอาศัยพัดลมเป่าเพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ประหยัดถ่านไม้ ไม่ต้องปล่อยให้มอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยในการเผาเหล็กให้แดงจนสามารถตีได้นั้นจะใช้ความร้อนมากกว่า 100 องศา และต้องตีเหล็กประมาณ 100-300 ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของมีดและขั้นตอนการเผาก่อนหน้า ถ้าเหล็กแดงจัดจะสามารถตียืดได้มากกว่า

จากนั้นนำเข้าเครื่องรีดเหล็ก เพื่อตกแต่งเก็บรายละเอียดมีด ต่อด้วยการนำไปทำคมด้วยเครื่องเจียเหล็ก ก่อนจะนำไปชุบด้วยน้ำเปล่าให้เหล็กเย็น สำหรับการชุบนั้นจะต้องมีขั้นการชุบมีด หากชุบไม่ดีเหล็กจะเปราะหรืออาจแตกได้ ซึ่งไม่ใช่ช่างทุกคนที่สามารถชุบมีดได้ จะต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เหมาะกับการใช้งานทั้งในครัวเรือนและภาคการเกษตร ซึ่งกำลังการผลิตของวิสาหกิจชุมชนเฉลี่ยต่อวันประมาณ 200 ชิ้น รายได้ของสมาชิกประมาณ 400-500 บาทต่อวัน

ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ

ผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ เหล็กแทงปาล์มมีดกรีดยาง มีดหวดสองคมมีดหวดหญ้า มีดแล่เนื้อ จอบ ขวาน เสียมกรรไกรคีบหมาก มีดอีโต้ มีดอีโต้แก้วหน้าม้า เป็นต้น

ตลาดของมีดพร้านาป้อ

การตลาดของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ คุณประเวช เดิมใช้วิธีการจำหน่ายโดยตรง ด้วยการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่จัดโดยภาครัฐและและภาคเอกชน และส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย เมียนมา และลาว โดยมีชื่อทางการค้า  ตรา 55 ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเริ่มมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้ น อาทิ การสร้างเพจเฟซบุ๊ก สำหรับประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้า ที่ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตรา 55 OTOP จ.ตรัง” ที่จะมีการอัพเดตรูปภาพ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนสามารถติดต่อซื้อขายกับลูกค้ารายย่อยได้โดยตรงและเป็นหนึ่งช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกัน

การขับเคลื่อนของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ มีการอบรมถ่ายทอดความรู้กรรมวิธี กระบวนการในการผลิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา กลุ่มอาชีพองค์กรต่างๆ และบุคคลที่สนใจทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อรักษาภูมิปัญญาของการตีมีดพร้านาป้อให้คงอยู่และสืบสานด้วยคนในชุมชน

หากท่านใดสนใจดูงาน สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ หรือทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 083-507-6452 คุณประเวช ชิตจันทร์ เพื่อขอคำแนะนำหรือศึกษาดูงาน Page Facebook : วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตรา 55 OTOP จ.ตรัง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทรศัพท์ 075-218-681