ร.ร.วัดธรรมเผด็จ ชวนน้องๆ เก็บข้าว ทิ่มเม่า

หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความสำคัญต่อประเทศชาติ และพสกนิกรชาวไทยทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน เยาวชน นักเรียน ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

อีกทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความตระหนัก และฝังรากลึกภายในตนเอง และผู้อื่น อย่างยั่งยืน

น.ส.สุพัตรา จินดาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดธรรมเผด็จ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) นครศรีธรรมราช เขต 2 จึงได้จัดกิจกรรม “ชวนน้องเก็บข้าว ทิ่มเม่ากับชาวหนองเสม็ด” ณ บ้านหนองเสม็ด หมู่ 13 ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยนำนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 100 คน ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ชีวิตการทำนา การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าว ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ การทำนาของหมู่ 13 นำโดย *นางประทีป พรหมดนตรี* ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ในเนื้อที่ 9 ไร่

นายจรูญ มากคงแก้ว ชาวบ้านหนองเสม็ด วิทยากร ได้อธิบายถึงวิถีชีวิตของชาวนาว่า “การทำนา ต้องเตรียมดิน เตรียมพันธุ์ข้าว การปลูก การเก็บเกี่ยว และนำข้าวที่เกี่ยวไปตาก นำไปนวด หรือสี แล้วคัดเลือกกากออก นำมาบรรจุเป็นถุง ขายในชุมชน หรือละแวกใกล้เคียง นำข้าวมาแปรรูปเป็นอาหารได้อีกด้วย เช่นวันนี้ สาธิตการทำข้าวเม่า ซึ่งเป็นของหวานไว้ทานเล่น หากเหลือจากทาน สามารถนำไปจำหน่ายต่อในชุมชน และตลาดได้อีกด้วย”

ด.ญ.สุชานาถ จันทรปรุง นักเรียนชั้น ป.6 กล่าวว่า “จากการศึกษาแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้มีความรู้ในเรื่องวิธีปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวเม่า และรู้ว่ากว่ามาเป็นข้าวที่เราทานได้ ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ผ่านการเตรียมดิน ปลูก เก็บเกี่ยว ตาก แล้วนำมานวด นำมาขวัด แล้วนำไปทิ่ม หรือสี แล้วนำมาเลือกกากออก จึงเป็นข้าวสาร ส่วนการแปรรูปเป็นข้าวเม่านั้น ต้องนำข้าวเหนียวที่ผ่านกระบวนการเลือกกากเสร็จแล้ว เอาไปแช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วคั่วประมาณ 10 นาที นำไปทิ่มจนเปลือกออก นำมาขวัด คัดเลือกกาก หลังจากนั้นนำมาผสมน้ำตาล เกลือ และมะพร้าว จึงจะรับประทานได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างมากกว่าจะได้มา ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของข้าวทุกเมล็ด ความยากลำบากของชาวนา ได้เรียนรู้ถึงชีวิตของชาวนา และพวกหนูทุกคนจะน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปค่ะ”

นายวีระวัฒน์ โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 กล่าวว่า การให้เด็กได้ศึกษาแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว เป็นไปตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนจะได้สืบสาน และหวงแหนวัฒนธรรมการเกษตร พร้อมนำหลักการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการ การเรียนการสอนในสถานศึกษา

ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สามารถถ่ายทอดความรู้สู่น้องได้ต่อไป