วช.โชว์นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ขยายโอกาสทางการตลาด-สร้างรายได้สู่เกษตรกรไทย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพ ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ กระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและส่วนที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ได้รับความสนใจจาก นิสิต นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก

ต้นแบบการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเชิงพาณิชย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศมาพร แสงยศ

ในปีนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้นำเสนอผลงานวิจัย 2 หัวข้อคือ     1. โรงงานต้นแบบการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเชิงพาณิชย์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศมาพร แสงยศ คณะผลิตกรรมการเกษตร ซึ่งโรงงานต้นแบบแห่งนี้ เน้นผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีประกอบด้วยต้นแบบโครงสร้างพื้นฐาน กระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตัวแบบการวิเคราะห์ต้นทุนและการตลาด รวมทั้งระบบการประเมินผลการดำเนินกิจการของโรงงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีความพร้อมสำหรับการปรับใช้ของกลุ่มเกษตรกรที่เน้นการปลูกพืชอินทรีย์ สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีอบแห้งแบบผสมผสานอัจฉริยะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญ คงกระพันธ์

2.ระบบอบแห้งแบบผสมผสานอัจฉริยะ ผลงาน ผศ.ดร.ปริญ คงกระพันธ์  สำหรับระบบอบแห้งนี้ได้ผสมผสานแหล่งความร้อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีประหยัดพลังงานอีกทั้งได้ติดตั้งระบบเฝ้าตรวจวัดและควบคุมอัจฉริยะสำหรับรายงานข้อมูลที่สำคัญของกระบวนการอบแห้งและควบคุมการทำงานของระบบได้แบบ Real Time ผ่านเทคโนโลยี IOT โดยใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนได้จากทุกที่ทั่วโลก ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอด/ขยายผล เพื่อใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 053 875 5993

เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล

ด้านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้แก่

1.เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่กึ่งเปิด ช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

2. นวัตกรรมการประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ชนิดฝังในจากน้ำยางพาราไทย ซึ่งเป็นการยกระดับนวัตกรรมวัสดุทางการแพทย์จากวัตถุดิบทางการเกษตร เพิ่มมูลค่ายางพาราไทย ลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ

3.พุกข้าวกระดูก เป็นวัตถุดิบที่ผลิตจากข้าวเจ้าผสมกับกระดูกวัวและสารตัวเติมปรับปรุงคุณสมบัติจนได้วัสดุที่มีความเหนียวเหมาะสำหรับใช้ร่วมกับตะปูเกลียวยึดตรึงกระดูก เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน

ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดเชียงราย ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกขมิ้นชันปลอดโรคและสาระสำคัญด้วยระบบ substrate culture  ภายใต้โรงเรือน ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญของขมิ้นชัน

ขมิ้นชันสายพันธุ์ ตรัง 84-2

ผลการศึกษาพบว่าขมิ้นชันสายพันธุ์ ตรัง 84-2 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ และนำมาปลูกในวัสดุทดแทนดินคือ กาบมะพร้าวสับและจัดการธาตุอาหารให้เหมาะสม ทำให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่ปลอดโรคปราศจากโรคพืช (โรครากเน่า) และให้ปริมาณสาระสำคัญที่สูง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกดังกล่าวรวมถึงการประยุกต์ใช้ AI Platform ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถปลูกและควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกขมิ้นชันคุณภาพสูง ตามความต้องการของตลาดได้

นอกจาก นี้ยังมีการพัฒนากระบวนการสกัดสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) ซึ่งเป็นสารสำคัญในขมิ้นชันให้มีความเข้มข้นสูง ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การสกัดด้วยวิธีการไมโครเวฟ (Microwave extraction) การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซน์(Super critical fluid extraction, SFE เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณสารเคอร์คูมินอยด์ในขมิ้นชันด้วยวิธีการโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง(HPLC เพื่อค้นหากระบวนการสกัดที่ให้ปริมาณและความเข้มข้นสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องปลาช่อนวิเศษ บ้านห้วยคันแหลน เนื่องจากปี 2560 ทางกลุ่มสหกรณ์ประมงและการแปรรูปอ่างทอง ตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ประสบกับปัญหาราคาปลาตกต่ำจนไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อปลาช่อนของเกษตรกรจนส่งผลทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน เพราะพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อปลาช่อนที่นำเข้าจากเขมรที่มีราคาถูกกว่าประมาณ 3 เท่าตัว

รศ.ดร. เจษฎา อิสเหาะ

 

รศ.ดร. เจษฎา อิสเหาะ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้ศึกษาวิจัยแผนพัฒนากระบวนการผลิตปลาช่อน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการเลี้ยงและราคาปลาที่ตกต่ำให้กับชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการคือ 1. เพื่อลดต้นทุนการผลิต 2. เพิ่มมูลค่าของผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม