“ส้มควาย” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สินค้าโอท็อปชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต

ผลส้มควาย

“ส้มควาย” ผลไม้รสเปรี้ยว ตระกูลเดียวกับ “ส้มแขก” นิยมใช้เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพร ส้มควาย พบได้แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวบ้านนิยมปลูกส้มควายเป็นไม้ผลประจำบ้าน ต้นส้มควายภูเก็ต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือขนาดผลใหญ่ เนื้อมาก ชาวบ้านนิยมนำส้มควายมาปรุงอาหารสารพัดเมนู ทั้ง แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา

ภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยโบราณ นิยมนำส้มควายมาตากแห้ง และบดเป็นผงก่อนนำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ลดอาการปวดเมื่อย อาการเท้าบวม และช่วยระงับกลิ่นเท้าได้เป็นอย่างดี ในยุคปัจจุบัน ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า “ส้มควาย” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยในการระบาย และมีกรดผลไม้ประเภทสาร AHA ช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส คุณประโยชน์ที่ดีของส้มควาย ทำให้พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง เพราะส้มควายเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย

คุณณัฐณิชา บุญยวรรณ เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของพืชสมุนไพรชนิดนี้ จึงได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นจาก ผงส้มควาย สำหรับแช่เท้า มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในลักษณะ “สเปรย์ดับกลิ่นเท้าส้มควาย” ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย และสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ภายใต้ชื่อ “Jeni Herb Phuket”

คุณณัฐณิชา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนของจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมการประกวดสุดยอด   เยาวชนโอท็อปไทย ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ คุณณัฐณิชา ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น   แชมพูส้มควาย สครับส้มควายขัดผิว สบู่ส้มความผสมน้ำผึ้ง น้ำสมุนไพรส้มควายผสมน้ำผึ้งเข้มข้น ฯลฯ  ช่วยสร้างเงิน สร้างงาน และรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

รู้จัก “ต้นส้มควาย” 

ต้นส้มควาย เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Clusiaceae กระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียจนถึงแหลมมลายู และประเทศไทย ส้มควาย มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคใต้ทั่วไป เรียกว่า มะขามแขก หรือ ส้มแขก ชาวปัตตานี เรียกพืชชนิดนี้ว่า ส้มพะงุน ส่วนชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรัง พังงา ระนอง และกระบี่ นิยมเรียก “ส้มควาย” ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมนำส้มควายไปปรุงเพิ่มรสเปรี้ยวให้อาหาร

ต้นส้มควาย

ส้มควาย เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง หากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ มียางสีเหลือง ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบใหญ่มีผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร

ส้มควาย จะออกดอกตามปลายยอด ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียวมีเกสรเพศผู้ เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่า ดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก จะออกผลเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ เปลือกผลเป็นร่องตรมแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ   4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด

ผลส้มควาย

ผลส้มควาย มีสารสำคัญ ชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้นๆ ว่า “HCA” ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ ยังมีกรด    อินทรีย์อื่นๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นกรดซิตริก (Citric Acid) กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid) กรด  ออคตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid) เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มควาย มีปริมาณ HCA ที่สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร และ บุคคลทั่วไปไม่ควรรับประทานส้มควายในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

การปลูกส้มควาย ในจังหวัดภูเก็ต

ส้มควาย เป็นพืชพื้นเมืองของภูเก็ต พบมากตามป่าธรรมชาติทั่วไป และปลูกในบ้านเรือนประชาชนโดยปลูกร่วมกับไม้ผลอื่นๆ เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้พื้นที่เมืองขยายสู่พื้นที่ภาคการเกษตร ทำให้มีการโค่นต้นส้มควายเป็นจำนวนมาก พื้นที่ปลูกส้มควายของจังหวัดภูเก็ตเข้าสู่ภาวะวิกฤต ช่วงปี 2558 คุณนิสิต จันทร์สมวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในขณะนั้น จึงมีนโยบายอนุรักษ์ส้มควายให้อยู่คู่ป่าตามธรรมชาติ และหนุนต่อยอดภูมิปัญญา “ส้มควาย” พืชพื้นเมืองเป็นสินค้า OTOP เด่นของจังหวัดภูเก็ต

เนื้อส้มควายถูกหั่นตากแห้งก่อนนำไปแปรรูป
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มควาย

ทางจังหวัดภูเก็ต ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการปลูกเพิ่มส้มควายในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นบ้านและเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเวชสำอาง รวมทั้งสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP (Knowlege Based OTOP : KBO) เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกส้มควายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ในชุมชน พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ ปัจจุบีนชุมชนบ้านสาคู หมู่ที่ 3 ตำบลสาคู อำเภอถลาง และบ้านบางหวาน หมู่ที่ 1 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้  นับเป็นแหล่งปลูกส้มควายที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560