สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ กลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด อุดรธานี

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ กลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี พร้อมผลักดันเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้นำไปต่อยอดพัฒนาสร้างอาชีพและรายได้ สืบสานอาชีพของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป

รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา

รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในทุกด้าน โดยเน้นการนำผลงานวิชาการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำผลงานวิจัยไปปฏิบัติจริง สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผู้วิจัยและผู้ประกอบการ ในการร่วมมือต่อยอดและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย รวมทั้งการสร้างสรรค์งานวิจัยใหม่ที่มุ่งเป้าการนำไปใช้ประโยชน์จริง โดยมีการร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปช่วยภาคการผลิต แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการและการพัฒนาองค์ความรู้สู่การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำบนฐานการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่การอยู่ดีมีสุขตามนโยบายสานพลังประชารัฐบนฐานศาสตร์พระราชา

คุณยุพิน แก่นนาคำ ประธานกลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด

คุณยุพิน แก่นนาคำ ประธานกลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด เล่าว่า งานจักสานเป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่ทำนาของคนในชุมชน ที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เดิมทีการจักสานกระติบข้าวจะทำไว้เพื่อใช้ในครอบครัว ต่อมามีผู้คนพบเห็นและสนใจมากขึ้น จึงบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ทำให้การจักสานเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก่อนก็ทำกันแบบดั้งเดิมสานเป็นตะกร้า กระติบข้าว กระเป๋า ลวดลายก็พื้นฐานไม่มีเทคนิคอะไรมากมาย แต่พออาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเข้ามาสอน ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่เมื่อก่อนคิดว่าทำไม่ได้หรือไม่เคยคิดจะทำก็กลายเป็นทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างลวดลายใหม่ๆ วิธีการสานรูปแบบต่างๆ การดูแลรักษาผลิตภัณฑ์หวายให้คงสภาพใช้ได้ระยะยาว หรือแม้กระทั่งรีไซเคิลขยะเหลือใช้จากเศษต้นคล้าที่เหลือจากการใช้จักสานผลิตภัณ์ต่างๆ มาแปรรูปเป็นกระดาษ และขึ้นรูปเป็นภาชนะใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยให้คำแนะนำการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบหน้าร้าน และคำแนะนำเรื่องอื่นๆ ตลอดกระบวนการ จากกลุ่มแม่บ้านที่ไม่ค่อยมีความรู้ให้สามารถอัพเกรดตัวเองจนเป็นที่รู้จักและมีกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

 

คล้า เป็นพืชล้มลุกประเภทเดียวกับหญ้า แต่มีคุณสมบัติโดดเด่นคือ มีความเหนียวและมีลำต้นสูงยาว ส่วนเปลือกมีความเหนียวทนทาน และมีสีคล้ายกับหวาย สามารถพบได้ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย คล้าเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่มีความทนทานต่อสภาพความแห้งแล้ง สามารถขึ้นได้ทุกสภาพดิน เดิมชาวบ้านนำคล้ามาใช้ประโยชน์ในการสานสื่อปูนั่ง สานเป็นกระติบข้าว แต่ด้วยสีสันและมีความทนทานใกล้เคียงกับหวาย

ในทุกขั้นตอนต้องทำอย่างประณีตพิถีพิถัน เริ่มตั้งแต่ คัดเลือกต้นคล้าที่สมบูรณ์ตัดให้ได้ขนาด จักเป็นเส้นคล้ายตอกให้ได้ขนาดเหมาะสมตามที่ต้องการใช้สำหรับสานผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดซึ่งจะมีขนาดและความยาวที่ต่างกัน จากนั้นนำไปตากแดดสานลาดลายตามที่ต้องการ ในบางผลิตภัณฑ์หากไม่ใช้สีธรรมชาติก็ต้องนำไปผ่านกระบวนการย้อมสีก่อนจึงสานให้เป็นผืนแล้วตัดขนาดตามต้องการแล้วรีดด้วยผ้ากาวเพื่อให้เส้นตอกคล้าไม่หลุดออกจากกันจึงค่อยตัดตามแบบที่ออกแบบไว้ก่อนนำไปเย็บขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เก็บรายละเอียดด้วยการตัดขอบผ้ากาวตามขอบชิ้นงาน เก็บรอยต่อด้วยผ้าฝ้ายสีน้ำตาลเข้ม และใส่ซิปด้ายบนด้วยการเย็บมือในขั้นตอนสุดท้าย

 

ล่าสุด ทางสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้ามาช่วยต่อยอดการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากคล้า ในการแนะนำเสริมเรื่ององค์ความรู้แทรกในแต่ละขั้นตอน โดยเฉพาะการพัฒนาให้มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัยเหมาะแก่การใช้งานที่มีความหลากหลายเพิ่มความน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับสินค้าเป็นการเพิ่มมูลค่าในทางการตลาด

 

นอกจากนี้ ในส่วนของเศษต้นคล้าที่เหลือจากการใช้จักสานผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ทางกลุ่มยังได้นำมาแปรรูปเป็นกระดาษและขึ้นรูปเป็นภาชนะใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทางสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้มีการสนับสนุนเครื่องขึ้นรูปภาชนะดังกล่าวอีกด้วย

 

สำหรับศูนย์เรียนรู้กลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด มีความโดดเด่นในสินค้าหัตถกรรมงานจักสานจากต้นคล้า ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เช่น ตะกร้า กระเป๋า กระติบข้าว เครื่องใช้ในครัวเรือน ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ จะได้รับองค์ความรู้ครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกต้นคล้า การนำวัสดุจากต้นคล้ามาใช้ในงานจักสาน การแปรรูปต้นคล้าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ และการผลิตกระดาษจากต้นคล้า สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง

 

 

สำหรับผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคล้า สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรงเพื่อนำไปประยุกต์สร้างสรรค์ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของท่านได้ที่ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มอาชีพจักสานต้นคล้าบ้านโนนสะอาด ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี