มีดห้วยแม่แดง อำเภอปง พะเยา ผลิตภัณฑ์ดี ที่อยู่มานาน

คำว่า “ปง” ตรงกับภาษาท้องถิ่นว่า “ป๋ง” และตรงกับภาษาไทยว่า “ปลง” หมายถึง การปล่อยหรือเปลื้องให้หมด ตามตำนานพระธาตุดอยหยวก กล่าวไว้ว่า การสมาโทษของพญานาค ซึ่งได้ป๋งลงอุโมงค์รูถ้ำลึก (หลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์) เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จพระธาตุดอยหยวก โดยพระองค์ก็ได้ให้อภัยโทษ และถือเอานิมิตที่พญานาคป๋งอุโมงค์ ใช้เป็นนามเมืองที่สร้างขึ้นมาว่า “เมืองป๋ง”   

ตามประวัติการปกครอง อำเภอปง มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. 2449 ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย ต่อมา พ.ศ. 2456 ได้รับประกาศยกฐานะเป็นอำเภอ แต่โอนไปอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดน่าน ปี พ.ศ. 2463 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอปง เป็นอำเภอบ้านม่วง ต่อมา พ.ศ. 2486 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อำเภอปง จึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอบ้านม่วงมาเป็นอำเภอปงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ตรงกับตำบลอันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ

อีก 10 ปีต่อมา กระทรวงมหาดไทย ได้โอนพื้นที่เขตการปกครองของอำเภอปงจากจังหวัดน่าน กลับขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย และในที่สุด ปี พ.ศ. 2520 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของชุมชนเทศบาลตำบลปง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบล อันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ มีความเป็นมาจากประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2499 ยกฐานะท้องถิ่นบางส่วนในตำบลปงและตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา พื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,625 ไร่ ขึ้นเป็นสุขาภิบาลปง ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 99 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 และต่อมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด รวมทั้งเทศบาลตำบลปง

ปง เป็นอำเภอที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง เป็นอำเภอขึ้นชื่อในเรื่องการทำไม้และยาสูบ มีที่มา 2 ทรรศนะ คือ มาจากตำนานพระธาตุดอยหยวก ที่พญานาคราชขออดโทษ หรือ ขมา ภาษาพื้นเมืองว่า ป๋งโตษ ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาในคราวครั้งนั้น และต่อมามีการสร้างพระธาตุดอยหยวก อีกทรรศนะหนึ่งมาจากตำนานปรัมปราเล่าว่า ปู่ฟ้าโง้ม ซึ่งโดยปกติจะมีรูปร่างที่ใหญ่โตมโหฬาร เวลาเดินไปไหนมาไหนต้องก้มหัวลงเพื่อไม่ให้ถูกฟ้า (โง้ม คืออาการที่คนก้มหัวหลบ) ได้หนึ้งข้าว คือนึ่งข้าวเหนียว แล้วปง หรือปลดลง ณ บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า เมืองปง

คำขวัญประจำอำเภอคือ พระธาตุดอยหยวกคู่เมือง นามลือเลื่องภูลังกา รักษ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ถ้ำผาตั้งตระการตาตาดซาววางามล้ำเลิศ แหล่งกำเนิดแม่น้ำยม

ประธานและสมาชิกกลุ่ม (ที่ 4 จากขวา)

คนอำเภอปงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักในการทำการเกษตร ทั้งข้าว พืชไร่ และไม้ผล ในส่วนของอาชีพมีการตีเหล็กเพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น การตีมีด ของกลุ่มตีมีด (ตีเหล็ก) บ้านห้วยแม่แดง หมู่ที่ 6 ตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ณ ที่บ้านเลขที่ 19 พิกัดนำทาง GPS ที่ N 19.20562 E 100.26907 ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คุณสมเกียรติ โตประเสริฐ ร่วมกับสมาชิก จำนวน 24 คน ได้ใช้ที่บ้านของประธานฯ ดำเนินการตีเหล็กแบบดั้งเดิม (ใช้มือ) ที่นับวันจะหาดูได้ยากในปัจจุบันนี้

มีดที่ตีเสร็จ พร้อมจำหน่าย

กลุ่มได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้รับการส่งเสริมตามโครงการหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ของจังหวัดพะเยาในปี พ.ศ. 2552 โดยกลุ่มได้ดำเนินการมาอย่างมั่นคง สืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ มีด จอบ เสียม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเยี่ยม เพราะใช้เหล็กแหนบรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนเป็นพิเศษ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์นอกจากจะผลิตตามความต้องการของลูกค้าแล้ว กลุ่มยังสามารถคิดริเริ่มออกแบบตามแนวความคิดของตนเองด้วย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้มีรูปแบบหลากหลาย เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

ตั้งขายหน้าที่ทำการกลุ่มฯ ริมถนนสายจุน-ปง

ด้านการตลาด ทางกลุ่มได้เปิดร้านหน้าที่ทำการกลุ่มฯ ตีมีด ซึ่งอยู่ติดกับถนนสาน อำเภอปง-อำเภอจุน เป็นทางผ่านที่จะมุ่งเข้าสู่ตัวอำเภอปงนั่นเอง ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ บางครั้งกลุ่มก็จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ตามงานเทศกาล มหกรรมต่างๆ ที่อำเภอปง และจังหวัดพะเยาจัดขึ้น ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์มีดห้วยแม่แดง ได้ติดตลาด เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดพะเยาและต่างจังหวัดแล้ว

คุณสมเกียรติ โตประเสริฐ ยังได้รับคัดเลือกเป็นปราชญ์สัมมาอาชีพของชุมชนนี้ด้วย เพราะสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาตีเหล็กนี้ให้กับชาวบ้านที่สนใจวิชาชีพนี้ สนใจติดต่อเรียนรู้ หรือเยี่ยมเยียนกลุ่มนี้ได้ที่ คุณสมเกียรติ โตประเสริฐ โทร. (082) 889-5366