พลิกทฤษฎีใหม่ ปลูกป่าเชิงรุก “ป่าครอบครัว” คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้

กลางปี 2559 กระแสของคนรักป่า รักสิ่งแวดล้อม รักสีเขียว ออกตัวแรง สืบเนื่องมาจากภาพภูหัวโล้นของป่าน่าน ที่กินพื้นที่กว้างถึง 1.8 ล้านไร่

หลายคนระดมทุน พร้อมกับเทกระเป๋าตัวเอง กำเงินแทบจะบึ่งรถขึ้นไปปลูกป่า ณ วันนั้นเดี๋ยวนั้น
บ้างว่า แค่ไม่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มเติม ปล่อยพื้นที่ไว้ไม่กี่ปี ธรรมชาติจะเยียวยาของมันเอง
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการปลูกป่าทดแทนไม่น้อย แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน กลับไม่ค่อยเห็นที่เป็นรูปธรรมสักเท่าไหร่

ป่าน่านไม่ใช่พื้นที่เดียว ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ถูกบุกรุกครั้งแล้วครั้งเล่า
ทำอย่างไรจึงจะหยุดการรุกป่า ทำอย่างไรจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้?
หัวใจสีเขียวสร้างได้ GenY ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่แค่ป่าที่ถูกบุกรุกตัดถางทำลาย สรรพสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นท้องทะเลหรืออากาศที่เราหายใจเข้าปอดอยู่ทุกวัน ล้วนถูกกัดกร่อนด้วยมลภาวะ

ในงาน “Good Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นการประสานมือร่วมแรงร่วมใจกันของกว่า 100 องค์กรจาก “ภาคสังคม ธุรกิจ ตลาดทุน” รวมพลังสร้าง “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม”

สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเอ็นไลฟร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้, มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำเสนอสาระสำคัญ “คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้” มุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากทุกการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การรับประทานอาหาร และการท่องเที่ยว ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายใกล้ตัว

มุมหนึ่งจึงเปิดรับอาสาสมัคร เพื่อสร้างประสบการณ์งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภาคสนามหลังงาน อาทิ โครงการอนุรักษ์พันธุ์หอยชักตีน โครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล (การสร้างแนวปะการังเทียม) และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน “เทศกาลกีฬาทางน้ำจังหวัดกระบี่” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 15-18 พฤศจิกายน 2560 นี้ที่จังหวัดกระบี่

“พาวิลเลียนสิ่งแวดล้อมในงานเทศกาลทำดีหวังผล ได้รับการตอบรับดีอย่างมากจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,500 คน และมีผู้ที่สนใจลงทะเบียนร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกิจกรรมต่อยอดขององค์กรต่างๆ กว่า 500 คน แสดงให้เห็นว่าประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีความสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์ และคงอยู่ตลอดไป” จะรวย จันทร์ทอง กรรมการมูลนิธิเอ็นไลฟบอก

ป่าครอบครัวที่แพนด้าแคมป์ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“ป่าครอบครัว” ความพยายามครั้งใหม่

คำว่า“ป่า” บางคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ใครจะเป็นเจ้าของได้ มันต้องเป็นสาธารณะ แล้วใช่ป่าชุมชนหรือเปล่า ฯลฯ

สารพัดคำถามที่เกิดขึ้น บุญญานนท์ ศรีโท เจ้าหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ “เบโด้” ซึ่งดูแลโครงการ “ป่าครอบครัว” อธิบายว่า เราอยากให้เลิกความคิดเหล่านี้ ซึ่งมีคนทำได้แล้ว สามารถมีป่าอยู่ในบ้านตัวเอง มีแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ออกไปหลังบ้านก็มีพืชนู่นนี่เอามากินได้ เรียกว่าเป็น“ตู้เย็นหลังบ้าน”

แนวคิดของ “ป่าครอบครัว” อธิบายได้ง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรให้เกิดป่ารอบบ้าน ไม่ใช่แค่มีสวนผัก แต่เป็นความพยายามเลียนแบบป่าธรรมชาติ โดยมีคนให้ความรู้ มีคนพาไปศึกษาดูงาน

“ป่าครอบครัว หัวใจสำคัญคือ 1.การให้ความรู้ 2.สร้างแรงบันดาลใจ แล้วขยายเครือข่ายออกไป”
บุญญานนท์บอกว่า การให้แรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าบอกว่าให้พยายามสร้างป่าจะมองไม่เห็นภาพ และถ้าไม่เห็นจริงก็จะไม่มีความรู้สึกร่วม จึงมีการพาลงพื้นที่ให้ไปเห็นสถานที่จริง โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือวิสาหกิจชุมชนที่เบโด้เข้าไปพัฒนา

บุญญานนท์ ศรีโท
นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ป่าครอบครัว

หลักการของ “ป่าครอบครัว” คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเมืองไทยติดหนึ่งในสิบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เราพยายามให้ปลูกพืชหลากหลายขึ้น

คำว่า“ป่า” ใหญ่เกินไป พอมีคำว่า “ครอบครัว” จะรู้สึกเล็กลงมา และเข้าถึงได้
หลักการคือ ปลูกสิ่งที่กิน-ที่อยากใช้-ที่ครอบครัวชอบ นั่นคือไม่ใช่แค่พืชกินอย่างเดียว แต่ปลูกไม้เศรษฐกิจในอนาคตด้วย ปลูกแซมไปด้วยกัน เป็นการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเลย และอิงกับหลักของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องรอเก็บทีเดียว รายได้มาครั้งเดียว แต่ป่าครอบครัว เราปลูกอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่หลากหลาย พื้นที่ริมขอบนี้ปลูกถั่ว 1 เดือนได้เก็บผล ขอบนี้ปลูกกล้วย 3 เดือนได้เก็บ ขอบนี้ปลูกมะม่วง 6 เดือน

“บอกได้เลยว่าป่าครอบครัวจะทำให้ป่าอนุรักษ์อยู่ได้ ปกติคนที่อยู่รอบป่าชุมชนหรือป่าอนุรักษ์จะเข้าไปเก็บของป่า แต่ถ้ามีป่าอยู่รอบบ้านแล้วก็ไม่ต้องเข้าป่า ฉะนั้น ป่าอนุรักษ์ก็อยู่ได้ อยากได้ของป่าอะไรก็เอามาปลูกสิ” บุญญานนท์บอกและเล่าถึงความคืบหน้าของโครงการว่า

ป่าครอบครัวดำเนินการมา 4 ปีแล้ว ปัจจุบันมี 15 เครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ น่าน ปราจีนบุรี สกลนคร กาฬสินธุ์ ภาคกลางมีที่คุ้มบางกะเจ้า ส่วนที่ภาคใต้มีระนอง พังงา กระบี่ ซึ่งแต่ละภาคก็มีไม้แตกต่างกัน ใครมีอะไรก็มาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และเกิดความรักในสิ่งเดียวกัน

มะนาวเลมอน

สร้างรายได้ตั้งแต่ต้น
10 ปี เป็น Passive Income

ถามว่า “ป่าครอบครัว” ใช้เวลานานแค่ไหน?
10 ปี คือคำตอบ ดูเหมือนยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่ในความจริงการปลูกป่าครอบครัวสร้างรายได้ตั้งแต่ต้น ศิริพงษ์ โทหนองตอ ศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้สมุนไพร แพนด้าแคมป์ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เจ้าของโมเดล “ป่าครอบครัว” บอกและเล่าถึงที่มาว่า

เรามองว่าครอบครัวคือหน่วยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง อะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว ถ้าครอบครัวเข้าใจ รู้และปลูก มันจะรอด เพราะมีคนดูแล มีคนรับผิดชอบ จึงเริ่มต้นจากครอบครัว เราเรียก “ป่าครอบครัว”

ศิริพงษ์บอกและอธิบายในรายละเอียดว่า ธรรมชาติของการฟื้นฟู มันคือกระบวนการ ซึ่งจะต้องมี “ไม้เบิกนำ” ไม้พี่เลี้ยง มันจะค่อยๆ เกิดขึ้น

“ถ้าดินไม่ดี เราก็บำรุงดินก่อน เอาปอเทือง ถั่วเขียว ถั่วเหลืองมาปลูก วัตถุประสงค์คือบำรุงดิน แต่เราก็สามารถเก็บเมล็ดขายได้ด้วย เมื่อดินดีขึ้นมา เราปลูก ‘กล้วย’ เพราะกล้วยนำความชื้นมา และใบของกล้วยจะบดบังแสง ทำให้หญ้าไม่ขึ้น เราก็ไม่ต้องตัดหญ้า

“ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 400 กอ (เครือ) ถ้าปลูกดีๆ ปีหนึ่งได้เงินถึง 4 หมื่นบาท”

ศิริพงษ์อธิบายอีกว่า ใต้ร่มเงาของกล้วยมีความชื้น ทำให้ไม่ต้องดูแลมาก ผักที่ชอบความชื้น อยู่ริมน้ำ และคนชอบกิน “ผักกูด” ยำก็อร่อย ผัดน้ำมันหอยก็อร่อย เราก็ไปถอนมาปลูกใต้ดงกล้วย อาจจะทำสปริงเกลอร์ให้ กล้วยก็ได้น้ำด้วย และยังเก็บยอดผักกูดมาขายได้อีกและปลอดสารด้วย เพราะผักกูดเป็นผักที่ชี้วัดสภาวะแวดล้อม ถ้ามีสารพิษผักกูดจะตาย ขณะเดียวกันผักกูดก็ยังมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ลดความเสี่ยงการเป็นนิ่ว

“แต่เราไม่ได้ปลูกผักกูดขาย เรากำลังสร้างป่า…“โครงสร้างของป่า พืชจะอยู่กันเป็นชั้นๆ เราจึงใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ เริ่มจากการเลือกพืชที่ปลูกเป็นเรือนยอดสูงๆ ก่อน เช่น ‘สตอ’ ดีมั้ย ราคาก็ดี ฝักละ 20 บาท ไม้รองลงมา ‘กระท้อน’ รองลงมาเป็น ‘ลองกอง’ ซึ่งสามารถอยู่ใต้ร่มเงาได้ ‘ทุเรียน’ ก็เป็นไม้ที่ชอบชื้นชอบร่มเงา ค่อยๆ ปลูกลดหลั่นลงมา”

ขณะที่ไม้เหล่านี้ยังไม่โต ยังอาศัยร่มเงาจากกล้วย เราก็มีรายได้จากการขายกล้วย จนถึงปีที่ 4 เมื่อไม้โครงสร้างสูงกว่ากล้วย กล้วยเริ่มเหี่ยว พอดีกับที่ไม้ผลเริ่มให้ผลในปีที่ 4-6 รายได้เปลี่ยนจากกล้วยเป็นไม้ผลอื่นๆ

ขณะเดียวกัน เมื่อมีไม้ที่เป็นโครงสร้างแล้วก็สามารถหาไม้เลื้อยมาเกาะ เช่น “พริกไทย”,”ดีปลี” หรือถ้าชอบกล้วยไม้ ก็เอากล้วยไม้ไปเกาะ
ในที่สุด 10 ปีผ่านไป ป่าของเราจะอยู่ในจุดสูงสุดของความอุดมสมบูรณ์ เราเหนื่อยชั่วคราว แต่เราจะสบายไปตลอด

ศิริพงษ์ โทหนองตอ

พลังของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากครอบครัว

ศิริพงษ์ย้อนเล่าถึงเมื่อครั้งเริ่มทดลองทฤษฎีป่าครอบครัวว่า เริ่มจากในพื้นที่ 4 ไร่ของตนเองก่อน เมื่อเห็นผลว่าดีจึงซื้อที่ดินจากชาวบ้าน 10 ไร่ ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี ภายใต้ชื่อ “ป่าครอบครัว แพนด้าแคมป์”

แพนด้า (PANDA) ย่อมาจาก People And Nature Development Area คือพื้นที่ที่ใช้พัฒนาคนและธรรมชาติ ส่วนแคมป์ (CAMP) มาจาก Community Accompany Medicine Plants เป็นที่เก็บและรวบรวมพืชสมุนไพรของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเริ่มทำตั้งแต่ปี 2543

ปี 2546 ในงานสมัชชาการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดโดยเบโด้ ศิริพงษ์ก็นำแนวคิดป่าครอบครัวขึ้นเสนอในเวทีการประชุม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี กระทั่งปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายไปใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ

“ป่าครอบครัว” คือยุทธวิธีอนุรักษ์เชิงรุก เข้าไปในพื้นที่ชาวบ้าน เป็นการใช้ครอบครัวเป็นฐาน เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวเป็นหน่วยของการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังที่สุด

ความสำเร็จของชุมชน ไม่ได้หมายความว่าชุมชนสำเร็จ แต่เมื่อครอบครัวสำเร็จ หลายๆ ครอบครัวมารวมกัน มันคือความสำเร็จของชุมชน เช่นเดียวกับร่างกายคนเรา ถ้าเซลล์แต่ละเซลล์แข็งแรง ร่างกายก็แข็งแรง

“ป่าครอบครัว” จึงเป็นการปลูกป่าบนฐานความเชื่อที่ว่า “พลังของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากครอบครัว”

ที่มา : ประชาชื่น มติชนรายวัน

ผู้เขียน : พนิดา สงวนเสรีวานิช